บาลีวันละคำ

มหาตมะ คานธี (บาลีวันละคำ 624)

มหาตมะ คานธี

ชื่อนี้มีความหมายอย่างไร

มหาตมะ” เขียนแบบบาลีเป็น “มหตฺตา” อ่านว่า มะ-หัด-ตา

ประกอบด้วย มหา + อตฺตา

มหา” ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, มาก, สำคัญ, เป็นที่นับถือ

เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส

อตฺตา” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ทำให้ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง” (2) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (3) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (4) “ผู้ถูกกิน” (ถูกชาติ ชรา มรณะเป็นต้นกิน) (5) “ผู้เป็นไปเพื่อความเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง” (6) “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวกู”

ความหมายที่เข้าใจกันคือ ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

ฝรั่งแปล “อตฺตา” ว่า (1) The soul (วิญญาณ, อาตมัน) (2) Oneself, himself, yourself (ตนเอง, เขาเอง, ท่านเอง)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล soul ว่า วิญญาณ, หัวใจ, คน

มหา + อตฺตา = มหตฺตา > มหาตมา > มหาตมะ

รพินทรนาถ ฐากูร มหากวีแห่งอินเดีย ผู้ขนานนามคานธีว่า “มหาตมะ” มีเจตนาจะให้คำนี้มีความหมายว่า “ผู้มีจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่” หมายถึงผู้มีจิตใจเสียสละเพื่อมหาชน

ส่วนคำว่า “คานธี” ตรงกับบาลีว่า “คนฺธี” คำนี้ถ้าเขียนด้วยอักษรโรมันจะเหมือนกัน คือ Gandhi ประกอบด้วย คนฺธ + อี ปัจจัย

คนฺธ” (คัน-ทะ) แปลว่า กลิ่น, กลิ่นหอม, ของหอม, เครื่องหอม, น้ำหอม

คนฺธ + อี = คนฺธี แปลว่า (1) มีความหอม, มีกลิ่นหอม (having perfume, fragrant, scentful) (2) ผู้ขายเครื่องหอม, ผู้ทำหรือขายน้ำหอม (dealing in perfume, a perfumer)

ประวัติ มหาตมะ คานธี บอกว่า ต้นตระกูลของท่านเป็นพ่อค้าเครื่องเทศ

พจน.42 บอกไว้ว่า –

เครื่องเทศ : ของหอมฉุนและเผ็ดร้อนที่ได้มาจากพืช โดยมากมาจากต่างประเทศสําหรับใช้ทํายาไทยและปรุงอาหาร เช่น ลูกผักชี ยี่หร่า”

ชื่อ “คานธี” ถ้าตระกูลไม่ใช่พ่อค้าเครื่องเทศ ก็ต้องเป็นพ่อค้าเครื่องสำอาง

—————-

วันนี้ – 30 มกราคม เมื่อ พ.ศ.2492 เป็นวันที่ มหาตมะ คานธี

 เสียชีวิต อายุ 78 ปี

ชื่อเต็มของ มหาตมะ คานธี คือ โมหันทาส กรัมจันท์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi)

: จิตใจเสียสละเพื่อมหาชน หอมคงทนไปชั่วนิรันดร์

30-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย