บาลีวันละคำ

สุโข ไม่ใช่ สุขโข (บาลีวันละคำ 3,804)

สุโข ไม่ใช่ สุขโข

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

“สุโข” อ่านว่า สุ-โข รูปคำเดิมเป็น “สุข” อ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ม ที่สุดธาตุ

: สุ + ขมฺ = สุขมฺ + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”

(2) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ น ที่สุดธาตุ

: สุ + ขนฺ = สุขนฺ + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”

(3) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ท ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ

: สุ + ขาทฺ = สุขาทฺ + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”

(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ (อะ) ปัจจัย

: สุขฺ + อ = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”

(5) สุ (ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส)

: สุ + ข = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”

“สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” ไว้ดังนี้ –

(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)

(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)

(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สุข, สุข- : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”

“สุข” ในบาลี ถ้าใช้เป็นคำนาม เป็นนปุงสกลิงค์ ถ้าใช้เป็นขยายคำนามหรือคำวิเศษณ์ (บาลีเรียก “วิเสสนะ”) เปลี่ยนลิงค์ไปตามคำนามที่ตนขยาย

– เป็น “สุโข” เช่น สุโข ปุญญสฺส อุจฺจโย = การสั่งสมบุญนำสุขมาให้

– เป็น “สุขา” เช่น สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี = ความพร้อมเพรียงของหมู่ ให้เกิดสุข

– เป็น “สุขํ” เช่น อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก = ความไม่เบียดเบียนเป็นสุขในโลก

คำที่มาจาก “สุข” ที่คุ้นปากคนไทยคำหนึ่งคือ “สุโข” แต่เมื่อพูดเป็นไทยๆ มักมีผู้เขียนเป็น “สุขโข” โดยเข้าใจว่าเป็นคำว่า สุข + โข

คำว่า “โข” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“โข : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) มาก. (กร่อนมาจาก อักโข ซึ่งตัดมาจาก อักโขภิณี).”

ที่คำว่า “อักโข” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อักโข : (คำวิเศษณ์) มาก, หลาย. (ตัดมาจาก อักโขภิณี).”

“อักโขภิณี” เขียนแบบบาลีเป็น “อกฺโขภิณี” แปลตามศัพท์ว่า “กองทัพที่ไม่อาจให้หวั่นไหวได้”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อกฺโขภิณี” ว่า one of the highest numerals [1 followed by 42 ciphers] (เลขที่สูงสุดตัวหนึ่ง [1 ตามด้วยเลขศูนย์ 42 ตัว])

ในภาษาไทย ศัพท์นี้ใช้เป็น “อักโขภิณี” และ “อักโขเภณี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อักโขภิณี, อักโขเภณี : (คำนาม) จํานวนนับอย่างสูง คือ ๑ มีศูนย์ตาม ๔๒ ตัว; กองทัพอินเดียโบราณที่มีกระบวนรบพร้อมมูลตามกําหนด; ใช้ว่า อักเษาหิณี ก็มี. (ป.; ส. อกฺเษาหิณี).”

คำนี้ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปบาลีคือ “อักโขภิณี” และเมื่อใช้กันนานเข้าก็ตัดคำลงไปเหลือเพียง “อักโข”

เท่านั้นยังไม่พอ จาก “อักโข” กร่อนลงไปอีก เหลือเพียง “โข” พยางค์เดียวและกลายเป็นภาษาปากไปในที่สุด

สรุปว่า :

“โข” กร่อนมาจาก “อักโข”

“อักโข” ตัดมาจาก “อักโขภิณี”

“อักโขภิณี” บาลีเป็น “อกฺโขภิณี” หมายถึง ตัวเลขหรือจำนวนที่มากมายมหาศาล

เพราะฉะนั้น ถ้าเขียนเป็น “สุขโข” ก็อาจอธิบายได้ว่า มาจาก สุข + โข หมายความว่า มีความสุขมาก

แต่ข้อสำคัญอยู่ที่-ผู้เขียนควรรู้ว่าตนกำลังเขียนคำบาลี หรือกำลังเขียนคำที่เป็นภาษาปากแบบไทยๆ

อย่างไรก็ตาม “สุโข” (ข ไข่ ตัวเดียว) แบบบาลีก็มีความหมายไม่ต่างไปจาก “สุขโข” (ข ไข่ สองตัว) ที่เป็นภาษาปาก แต่ที่สำคัญก็คือเป็นคำที่ถูกต้อง ไม่ต้องอธิบายผิดให้เป็นถูก

…………..

ขยายความ :

“สุโข” ที่ใช้เป็นวิเสสนะในบาลี ที่นักธรรมและนักบาลีคุ้นกันดี เช่น “สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย”

“อุจฺจโย” เป็นคำนาม เป็นปุงลิงค์ รูปคำเดิมเป็น “อุจฺจย” (อุด-จะ-ยะ) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “อุจฺจโย” “สุข” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “สุโข” ตามคำนาม

ข้อความเต็มๆ ว่าดังนี้ –

…………..

ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา

กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ

ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ

สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย.

คนเราถ้าหากจะทำบุญ

ก็ควรทำบุญบ่อยๆ

ควรพอใจในการทำบุญนั้น

เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้

ที่มา: ปาปวรรค ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 19

…………..

“สุโข” อีกคำหนึ่งที่น่าจะได้ยินกันบ่อยๆ คือคำชักผ้าบังสุกุลที่ขึ้นต้นว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา” ข้อความเต็มๆ ว่าดังนี้ –

…………..

อนิจฺจา วต สงฺขารา

อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ

เตสํ วูปสโม สุโข.

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

มีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา

สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

การเข้าไประงับดับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นความสุข

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 147

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่รู้ แก้ไม่ยาก

: ไม่รับรู้ แก้ไม่ง่าย

#บาลีวันละคำ (3,804)

11-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *