พุทธกาล (บาลีวันละคำ 3,818)
พุทธกาล
คือนานแค่ไหน
ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + กาล
(๑) “พุทธ”
เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –
One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พุทธ” ไว้ดังนี้ –
“พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”
(๒) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาล ๑, กาล- : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).”
พุทธ + กาล = พุทธกาล (พุด-ทะ-กาน) แปลตามศัพท์ว่า “เวลาของพระพุทธเจ้า”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พุทธกาล : (คำนาม) สมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่, พุทธสมัย ก็ใช้, (ปาก) ช่วงระยะเวลาที่เชื่อกันว่าหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนาจะดํารงอยู่ ๕,๐๐๐ ปี. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้สั้นๆ ว่า –
“พุทธกาล : ครั้งพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่.”
ขยายความ :
คำว่า “พุทธกาล” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้สั้นๆ แต่มีขยายความไว้ที่คำว่า “ปฐมโพธิกาล” “มัชฌิมโพธิกาล” และ “ปัจฉิมโพธิกาล” ดังนี้ –
…………..
(1) ปฐมโพธิกาล : เวลาแรกตรัสรู้, ระยะเวลาช่วงแรกหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตามอธิบายของอรรถกถาว่าคือ ๒๐ พรรษาแรกแห่งพุทธกิจ, ว่าตามหนังสือเรียนนักธรรม ได้แก่ระยะประดิษฐานพระพุทธศาสนา นับคร่าวๆ ตั้งแต่ตรัสรู้ ถึงได้พระอัครสาวก.
(2) มัชฌิมโพธิกาล : ระยะเวลาบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้าตอนกลางระหว่างปฐมโพธิกาลกับปัจฉิมโพธิกาล, ตามอธิบายของอรรถกถาว่าคือ ๑๕ ปีต่อจากปฐมโพธิกาล, ว่าตามหนังสือเรียนนักธรรม ได้แก่ระยะเวลานับคร่าวๆ ตั้งแต่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธไปแล้ว ถึงปลงพระชนมายุสังขาร.
(3) ปัจฉิมโพธิกาล : โพธิกาลช่วงหลัง, ระยะเวลาบำเพ็ญพุทธกิจตอนท้าย, ตามอธิบายของอรรถกถาว่า คือ ๑๕ หรือ ๑๐ ปีสุดท้ายแห่งพุทธกิจ, ว่าตามหนังสือเรียนนักธรรม ได้แก่ระยะเวลาช่วงใกล้ จนถึงปรินิพพาน กำหนดคร่าวๆ ตามมหาปรินิพพานสูตร ตั้งแต่ปลงพระชนมายุสังขารถึงปรินิพพาน.
…………..
สรุปความ :
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คำว่า “พุทธกาล” มีความหมาย 2 นัย คือ –
(1) “พุทธกาล” หมายถึง สมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่
(2) “พุทธกาล” หมายถึง ระยะเวลา 5,000 ปีที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ในโลก
เมื่อปีพุทธศักราช 2500 มีคำที่เรียกกันทั่วไปว่า “กึ่งพุทธกาล” หมายความว่า 2,500 ปี เป็นครึ่งหนึ่งของอายุพระพุทธศาสนา 5,000 ปี นี่ก็คือ “พุทธกาล” ตามความหมายนัยที่ 2 นั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เกิดไม่ทันพระพุทธเจ้าไม่ต้องเสียใจ
: เพราะถึงอย่างไรธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ยังอยู่
#บาลีวันละคำ (3,818)
25-11-65
…………………………….
……………………………