บาลีวันละคำ

สรีรสังขาร กับ ศพ (บาลีวันละคำ 4,020)

สรีรสังขาร กับ ศพ

มีผู้ปรารภมาว่า –

…………..

… ร่างของพระที่มรณภาพแล้ว เดี๋ยวนี้สายวัดป่าโดยมากจะใช้คำว่า “สรีรสังขาร” แทนคำว่า “ศพ” หากใช้คำว่า “ศพ” จะถูกมองว่าไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพครูบาอาจารย์ ต้องใช้คำว่า “สรีรสังขาร” จึงจะเป็นการให้เกียรติ 

ขอทราบว่า ควรใช้คำไหนจึงจะเหมาะสม

…………..

ศึกษาความหมายของคำ :

สรีรสังขาร” แยกศัพท์เป็น สรีร + สังขาร 

(๑) “สรีร” 

บาลีอ่านว่า สะ-รี-ระ รากศัพท์มาจาก  สรฺ (ธาตุ = เป็นไป, เบียดเบียน) + อีร ปัจจัย

: สรฺ + อีร = สรีร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ร่างที่เป็นไปตามปกติ” คือเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แตกสลายไปตามธรรมดา

(2) “ร่างที่เบียดเบียนลม” คือทำให้ลมผ่านไม่สะดวกเนื่องจากมาปะทะกับร่าง

สรีร” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ร่างกาย, โครงร่างของสิ่งใดๆ ที่เป็นวัตถุ (the body, the physical body)

(2) ร่างกายคนตาย, ซากศพ (a dead body, a corpse)

(3) กระดูก (the bones)

(4) ส่วนของร่างกายของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว (relics)

บาลี “สรีร” สันสกฤตเป็น “ศรีร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศรีร : (คำนาม) กาย, ร่าง, ตัว; the body.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรีร-, สรีระ : (คำนาม) ร่างกาย. (ป.; ส. ศรีร).”

(๒) “สังขาร

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺขาร” อ่านว่า สัง-ขา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง กรฺ เป็น ขรฺ, ทีฆะ อะ ที่ -(ร) เป็น อา

: สํ > สงฺ + กรฺ = สงฺกร + = สงฺกรณ > สงฺกร > สงฺขร > สงฺขาร แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะอันปัจจัยปรุงแต่ง

สงฺขาร มีความหมาย 2 อย่าง คือ – 

(1) สิ่งที่ถูกปรุงผสมขึ้นให้เห็นว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง แต่เมื่อแยกส่วนประกอบออกจากกันแล้ว “อะไรอย่างหนึ่ง” นั้นก็ไม่มี (compounded things; component things; conditioned things)

ความหมายนี้รวมไปถึง “ร่างกาย ตัวตน” (the physical body) ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ

(2) อาการที่จิตคิดปรุงแต่งไปต่างๆ หรือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ ให้เป็นไปต่างๆ (mental formations; volitional activities)

ความหมายนี้ก็คือ 1 ในองค์ประกอบ 5 อย่าง ที่รวมกันเข้าเป็นชีวิตคน ที่เรียกว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา “สังขาร” วิญญาณ

สงฺขาร ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังขาร” (สัง-ขาน) และมักเข้าใจกันในความหมายว่า ร่างกาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังขาร : (คำนาม) ร่างกาย, ตัวตน, สิ่งที่ประกอบและปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน, เช่น สังขารร่วงโรย สังขารไม่เที่ยง; ความคิด เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (ป.; ส. สํสฺการ). (คำกริยา) ตาย เช่น ถึงซึ่งสังขาร, ในบทกลอนใช้ว่า สังขาร์ ก็มี.”

สรีร + สงฺขาร = สรีรสงฺขาร > สรีรสังขาร (สะ-รี-ระ-สัง-ขาน)

(๓) “ศพ” 

บาลีเป็น “ฉว” อ่านว่า ฉะ-วะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) ฉวฺ (ธาตุ = เน่า, เปื่อย; ตัด, ขาด) + (อะ) ปัจจัย

: ฉวฺ + = ฉว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เน่าเปื่อย” (2) “ร่างที่ตัดขาดจากอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และคุณความดีมีศรัทธาเป็นต้น” (3) “ร่างที่ตัดความปีติโสมนัสใจของคนที่เห็นหรือที่ได้สูดดม” 

(2) สวฺ (ธาตุ = แปรเปลี่ยน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ที่ -(วฺ) เป็น (สวฺ > ฉว)

: สวฺ + = สว > ฉว แปลตามศัพท์ว่า “ร่างที่แปรเปลี่ยนไป” 

ฉว” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม หมายถึง ศพ (a corpse) 

(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เลว, ต่ำ, น่าสมเพช, ชั่วช้า, เลวทราม (vile, low, miserable, wretched) 

บาลี “ฉว” สันสกฤตเป็น “ศว

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศว : (คำนาม) ‘ศพ,’ ผี, ร่างซึ่งสิ้นลมปราณแล้ว; a corpse, a dead body.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤต แต่แผลง เป็น ตามหลักนิยมของไทย จึงเป็น “ศพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ศพ : (คำนาม) ซากผี, ร่างคนที่ตายแล้ว. (ส. ศว; ป. ฉว).”

อภิปรายขยายความ :

๑ ในบาลี “สรีร” หมายถึง ร่างกาย ส่วน “สงฺขาร” หมายถึง “สภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้น” ทั้งวัตถุและนามธรรม ไม่ได้หมายถึง “ร่างกาย” โดยตรง แต่อาจตีความให้หมายถึงร่ายกายได้

๒ ในภาษาไทย “สังขาร” มักเข้าใจกันว่า “ร่างกาย” ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ “สรีระ

๓ ในบาลีมีคำว่า “สรีร” และมีคำว่า “สงฺขาร” แต่ยังไม่พบคำที่ใช้รวมกันเป็น “สรีรสงฺขาร

๔ ในภาษาไทย ถ้าหมายถึง “ร่างกาย” พูดว่า “สรีระ” หรือ “สังขาร” คำใดคำหนึ่งก็ได้ความสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้คำควบกันเป็น “สรีรสังขาร

๕ แม้ในภาษาไทยจะมีคำที่ใช้ซ้ำซ้อน เช่น ถนนหนทาง เสื่อสาดอาสนะ ข้าวปลาอาหาร ฯลฯ แต่ก็เป็นคำที่มักใช้ในแง่สำนวนภาษาหรือการเล่นคำสำนวน ไม่นิยมใช้ในการพูดหรือเขียนอย่างเป็นภาษาทางการเช่นในการรายงานข่าว

๖ ร่างคนตาย ในภาษาไทยเรียกเป็นคำกลางๆ ว่า “ศพ” ไม่ได้แบ่งแยกว่าศพพระหรือศพคนธรรมดา ศพหลวงปู่ ศพหลวงพ่อ ศพตามี ศพยายมา ใช้คำเดียวกัน ที่ใช้เป็นแบบแผนก็มี เช่นในคำว่า “กำหนดการฌาปนกิจศพ

๗ เวลานี้คำไทยเก่าๆ ดูเหมือนว่าถูกรังเกียจไปหมด เช่นคำว่า “ตาย” คำว่า “เผาศพ” มีผู้พยายามคิดคำแทนขึ้นมา เช่น “ละสังขาร” “คืนสู่ธรรมชาติ” แทนคำว่า “ตาย” “สลายร่าง” แทนคำว่า “เผาศพ” ดังนี้เป็นต้น

๘ ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า ใช้คำเก่าคำเดิมที่เคยใช้กันมาเป็นดีที่สุด ถ้าคำนั้นๆ ไม่ได้ผิดหลักภาษาหรือผิดความหมาย ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยนก็จะต้องเปลี่ยนกันเรื่อยไปไม่มีที่สุด 

๙ ถ้าอ้างว่าเป็นการพัฒนาภาษา เราช่วยกันคิดคำใหม่ๆ ที่ยังไม่มีคำไทยใช้ขึ้นมาใช้กันจะดีกว่า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รังเกียจคำ

: อย่ารังเกียจธรรม

#บาลีวันละคำ (4,020)

15-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *