บาลีวันละคำ

กงฺคุ – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด (บาลีวันละคำ 3,840)

กงฺคุ – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด

…………..

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) บอกรายการธัญชาติ 7 ชนิดไว้ดังนี้ –

(1) สาลิ = ข้าวสาลี

(2) วีหิ = ข้าวเจ้า

(3) ยโว = ข้าวเหนียว

(4) โคธุโม = ข้าวละมาน

(5) กงฺคุ = ข้าวฟ่าง

(6) วรโก = ลูกเดือย

(7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้

…………..

“กงฺคุ” = ข้าวฟ่าง

อ่านว่า กัง-คุ รากศัพท์มาจาก –

(1) กํ (สิ่งที่น่ารักใคร่) + คมฺ (ธาตุ = ถึง) + อุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ กํ เป็น งฺ (กํ > กงฺ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: กํ + คมฺ = กํคมฺ + อุ = กํคมุ > กงฺคมุ > กงฺคุ แปลตามศัพท์ว่า “พืชหรือไม้ที่ถึงความเป็นสิ่งน่ารักใคร่”

(2) กมฺ (ธาตุ = ต้องการ) + คุ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น งฺ (กมฺ > กงฺ)

: กมฺ + คุ = กมคุ > กงฺคุ แปลตามศัพท์ว่า “พืชหรือไม้อันคนต้องการ”

(3) กํ (น้ำ) + คุ (ธาตุ = ส่งเสียง) + กฺวิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ กํ เป็น งฺ (กํ > กงฺ), ลบ กฺวิ

: กํ + คุ = กํคุ + กฺวิ = กํคุกฺวิ > กงฺคุกฺวิ > กงฺคุ แปลตามศัพท์ว่า “พืชหรือไม้ที่ส่งเสียงเพราะน้ำ”

คำแปล :

(๑) หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “กงฺคุ” (อิตถีลิงค์) ว่า ข้าวฟ่าง, ประยงค์

(๒) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กงฺคุ” ว่า the panic seed, Panicum Italicum; millet, used as food by the poor (ข้าวฟ่าง, ข้าวเดือย, ที่ใช้เป็นอาหารสำหรับพวกคนจน)

(๓) บาลี “กงฺคุ” สันสกฤตก็เป็น “กงฺคุ” และ “กงฺคุนี”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“กงฺคุ, กงฺคุนี : (คำนาม) ข้าวฟ่างชนิดหนึ่ง; a sort of Panic seed.”

(๔) พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) แปล “กงฺคุ” ว่า ข้าวฟ่าง

(๕) คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แปลโดยพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล (นิรัญรักษ์) และนายจำรูญ ธรรมดา พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559, หจก.ประยูรสาส์นไทยการพิมพ์ กรุงเทพฯ หน้า 182 (คาถา 450) แปล “กงฺคุ” ว่า ข้าวฟ่าง และมีวงเล็บว่า (ข้าวฟ่างอิตาเลียน)

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมทุกฉบับที่ยกมาแสดง แปล “กงฺคุ” ว่า ข้าวฟ่าง ตรงกัน มีพิเศษคือ คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แปลโดยพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโลฯ มีคำขยายความว่า “ข้าวฟ่างอิตาเลียน” ผู้สนใจพึงศึกษาต่อไปว่า ข้าวฟ่างอิตาเลียนหน้าตาเป็นอย่างไร

ที่แปลกกว่าฉบับอื่นคือ หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ฯ นอกจากแปลว่าข้างฟ่างแล้วยังแปลว่า “ประยงค์” อีกด้วย

คำว่า “ประยงค์”พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ประยงค์ : (คำนาม) ชื่อไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กชนิด Aglaia odorata Lour. ในวงศ์ Meliaceae ดอกกลมเล็ก ๆ สีเหลือง ออกเป็นช่อตามง่ามใบ กลิ่นหอม. (ส. ปฺริยงฺคุ; ป. ปิยงฺคุ).”

ถ้าถือตามหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ฯ ก็สรุปได้ว่า “กงฺคุ” เป็นทั้งธัญชาติและไม้พุ่มหรือไม้ต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางเรื่องเป็นสองอย่างในคนเดียวกัน ดี

: แต่บางเรื่องเป็นสองอย่างในคนเดียวกัน ไม่ดี

#บาลีวันละคำ (3,840)

18-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *