มหัจฉริยะ (บาลีวันละคำ 3,863)
มหัจฉริยะ
มหัจฉริยะ
เช่นเด็กไทยอ่านออกเขียนได้เอง ไม่ต้องมีครูสอน!
อ่านว่า มะ-หัด-ฉะ-ริ-ยะ
แยกศัพท์เป็น มหา + อัจฉริยะ
(๑) “มหา”
อ่านว่า มะ-หา รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ อัจฉริยะ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๒) “อัจฉริยะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อจฺฉริย” อ่านว่า อัด-ฉะ-ริ-ยะ เช่นเดียวกับในภาษาไทย รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, รัสสะ อา เป็น อะ (อา > อ), แปลง จรฺ เป็น จฺฉริย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + กฺวิ = อาจรกฺวิ > อาจร > อจร > อจฺฉริย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงประพฤติให้ยิ่ง”
(2) อจฺฉร (นิ้วมือ) + อิย ปัจจัย
: อจฺฉร + อิย = อจฺฉริย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ควรดีดนิ้วให้”
“อจฺฉริย” หมายถึง อัศจรรย์, แปลก, ประหลาด, น่าพิศวง (wonderful, surprising, strange, marvelous)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นว่า “อจฺฉริย” ตามตัวหนังสือมีความหมายว่า that which happens without a moment’s notice, at the snap of a finger (สิ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าสักนิดเลย, ชั่วดีดนิ้วมือ)
บาลี “อจฺฉริย” สันสกฤตเป็น “อาศฺจรฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อาศฺจรฺยฺย, อาศฺจรฺย : (คำคุณศัพท์) อัศจรรย์, ปลาด; astonishing, wonderful; – (คำนาม) ความอัศจรรย์, ความปลาด; astonishment, surprise.”
“อจฺฉริย” ในภาษาไทย ใช้แบบบาลีเป็น “อัจฉริยะ” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “อัศจรรย์” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) อัจฉริย-, อัจฉริยะ : (คำวิเศษณ์) วิเศษน่าอัศจรรย์, มีความรู้ความสามารถเกินกว่าระดับปรกติมาก. (ป.; ส. อาศฺจรฺย).
(2) อัศจรรย์ : (คำวิเศษณ์) แปลก, ประหลาด. (คำนาม) ปรากฏการณ์อันเนื่องแต่บุญญาภินิหารของพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้า เช่นเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้แสดงปฐมเทศนา ปลงอายุสังขาร และปรินิพพาน จะมีความหวั่นไหวปั่นป่วนของโลกธาตุบังเกิดขึ้น. (ส. อาศฺจรฺย; ป. อจฺฉริย).
มหา + อจฺฉริย ลบสระหน้า คือ อา ที่ มหา (มหา > มห)
: มหา + อจฺฉริย = มหาจฺฉริย > มหจฺฉริย (มะ-หัด-ฉะ-ริ-ยะ) แปลว่า “แปลกประหลาดอย่างมาก”
“มหจฺฉริย” ในภาษาไทย ใช้แบบบาลีเป็น “มหัจฉริยะ” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “มหัศจรรย์” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) มหัจฉริย-, มหัจฉริยะ : (คำวิเศษณ์) น่าอัศจรรย์มาก. (ป.; ส. มหาศฺจรฺย).
(2) มหัศจรรย์ : (คำวิเศษณ์) แปลกประหลาดมาก, น่าพิศวงมาก, ผิดปรกติวิสัยของธรรมชาติ. (ส. มหาศฺจรฺย; ป. มหจฺฉริย).
อภิปราย :
เมื่อปี 2563 มีเยาวชนไทยออกมาชุมนุมเป็นข่าวปรากฏในสังคม เยาวชนที่มาชุมนุมเหล่านั้นประกาศจุดยืนว่า ครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ
มีผู้เขียนข้อความให้ผู้ชุมนุมชูขึ้นให้ผู้ผ่านไปมาพบเห็น และมีผู้ถ่ายภาพข้อความนั้นนำมาเผยแพร่ต่อ
ข้อความนั้นเขียนว่า –
…………..
มีวันนี้เพราะ
อ่านเอง
ไม่ใช่เพราะครูสอน!
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำแสดงความเห็นไปว่า –
…………..
ก็ต้องแปลว่า –
เกิดมาก็อ่านหนังสือได้เอง
เขียนหนังสือได้เอง
ไม่ต้องมีครูสอน
มหัจฉริยะจริงๆ!!!
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความรู้ สอนกันได้ไม่ยาก
: แต่ความรู้สำนึกถูกผิด ยากที่จะสอนกันได้
#บาลีวันละคำ (3,863)
9-1-66
…………………………….
……………………………