บาลีวันละคำ

ปทัจเฉท – แยกศัพท์ (บาลีวันละคำ 3,865)

ปทัจเฉท – แยกศัพท์

ปทัจเฉท – แยกศัพท์

แยกผิด ความวิปริตก็ตามมา

อ่านว่า ปะ-ทัด-เฉด

ประกอบด้วยคำว่า ปท (ปะ-ทะ) แปลทับศัพท์ว่า “บท” หมายถึงถ้อยคำ + เฉท (เฉ-ทะ) แปลว่า “การตัด” ซ้อน จฺ ระหว่างศัพท์

: ปท + จฺ + เฉท = ปทจฺเฉท (ปะ-ทัด-เฉ-ทะ) แปลว่า “การตัดบท” หมายถึง การแยกคำ

ปทจฺเฉท” บาลีอ่านว่า ปะ-ทัด-เฉ-ทะ 

เขียนแบบไทยเป็น “ปทัจเฉท” อ่านว่า ปะ-ทัด-เฉด

ดูเพิ่มเติม: “ปทัจเฉท – ตัดบท” บาลีวันละคำ (3,504)

…………..

แทรกหลักวิชา:

ในการศึกษาบาลีไวยากรณ์ ท่านกำหนดว่า –

บท” หมายถึง คำที่ประกอบวิภัตติปัจจัยแล้ว

ศัพท์” หมายถึง คำที่ยังไม่ได้ประกอบวิภัตติปัจจัย รวมทั้งคำที่ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย

แต่ในการพูดทั่วๆ ไปในภาษาไทย “บท” กับ “ศัพท์” ไม่ได้แยกความหมายชัดเจน จึงอาจใช้รวมๆ กันไปทั้ง 2 คำ

…………..

คำที่ขอยกมาเป็นตัวอย่าง: กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี

กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี” มี 2 คำ คือ “กาเมสุมิจฺฉาจารา” คำหนึ่ง “เวรมณี” อีกคำหนึ่ง เขียนแยกกัน

กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี” เป็นศีลข้อที่ 3 ในศีล 5 คำสมาทานเต็มๆ ว่า “กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกขาปทํ สมาทิยามิ

เฉพาะคำว่า “กาเมสุมิจฺฉาจารา” ท่านเขียนติดกันเป็นศัพท์เดียวกัน ถ้าแยกศัพท์ตามที่เข้าใจกันมา ก็จะเป็น กาเมสุ + มิจฺฉาจารา 

(๑) “กาเมสุ” 

อ่านว่า กา-เม-สุ รูปคำเดิมคือ “กาม” อ่านว่า กา-มะ รากศัพท์มาจาก กมุ (ธาตุ = ปรารถนา) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(มุ) เป็น อา, ลบสระที่สุดธาตุ (-มุ >

: กมุ + = กมุณ > กมุ > กามุ > กาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” หมายถึง –

(1) ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม pleasantness, pleasure-giving, an object of sensual enjoyment;

(2) ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากการรู้สึก (enjoyment, pleasure on occasion of sense) ความใคร่ (sense-desire)

กาม” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “กาเมสุ” แปลว่า “ในกามทั้งหลาย

(๒) “มิจฺฉาจาร

บาลีอ่านว่า มิด-ฉา-จา-ระ (โปรดสังเกตว่า มีจุดใต้ จฺ ที่ –มิจ-) ประกอบด้วย มิจฺฉา (ผิด) + จาร (ความประพฤติ, การปฏิบัติ

: มิจฺฉา + จาร = มิจฺฉาจาร แปลว่า ความประพฤติผิด, การปฏิบัติผิด (wrong behaviour)

กาเมสุ + มิจฺฉาจาร = กาเมสุมิจฺฉาจาร เขียนแบบไทยเป็น “กาเมสุมิจฉาจาร” (ไม่มีจุดใต้ ที่ –มิจ-) แปลว่า “การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย” ความหมายที่เข้าใจกัน คือการล่วงละเมิดทางเพศกับบุคคลต้องห้าม

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

กาเมสุมิจฉาจาร (Kāmesumicchācāra) : sexual misconduct; sensual misconduct; unlawful sexual intercourse; adultery.”

อภิปรายขยายความ :

กาเมสุมิจฺฉาจาร” คำนี้เป็นบาลีไม่ลบวิภัตติ กล่าวคือ :

๑ ศัพท์เดิมเป็น “กาม” (กา-มะ) แจกวิภัตติเป็น “กาเมสุ” (กา-เม-สุ) แปลตามศัพท์ว่า “ในกามทั้งหลาย

๒ เมื่อมาสมาสกับคำว่า “มิจฺฉาจาร” เป็น กาเมสุ + มิจฺฉาจาร ตามกฎทั่วไป “กาเมสุ” ต้องคืนรูปเป็น “กาม” คือ : กาเมสุ + มิจฺฉาจาร = กามมิจฺฉาจาร

๓ แต่คำนี้คงรูป “กาเมสุ” ไว้ ดังนั้น : กาเมสุ + มิจฺฉาจาร = กาเมสุมิจฺฉาจาร

๔ “กาเมสุมิจฺฉาจาร” (กา-เม-สุ-มิด-ฉา-จา-ระ) แจกด้วยวิภัตตินามที่ห้า (ปัญจมีวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “กาเมสุมิจฺฉาจารา” (กา-เม-สุ-มิด-ฉา-จา-รา) แปลว่า “(เจตนางดเว้น) จากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย” 

แต่เมื่อจะพูดเฉพาะคำนี้คำเดียว ใช้ตามรูปคำเดิมว่า “กาเมสุมิจฺฉาจาร” ไม่ต้องเป็น “กาเมสุมิจฺฉาจารา

๕ องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “กาเมสุมิจฺฉาจาร” มี 4 ประการ คือ :

(1) อคมนียวตฺถุ บุคคลต้องห้าม คือเป็นผู้ที่มีเจ้าของหวงห้าม และตนไม่มีสิทธิ์ที่จะร่วมอภิรมย์

(2) ตสฺมึ  เสวนจิตฺตํ มีจิตเจตนาที่จะเสพสม

(3) เสวนปฺปโยโค ลงมือปฏิบัติการ

(4) มคฺเคน  มคฺคปฺปฏิปตฺติอธิวาสนํ อวัยวะถึงอวัยวะ

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบ จะเห็นได้ว่า ขอบเขตของศีลข้อนี้มุ่งเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศกับบุคคลต้องห้าม ไม่ครอบคลุมไปถึงการทำลายหรือทำอันตรายต่อของรักของชอบใจอื่นๆ ดังที่มีผู้พยายามตีความว่า “กาม” ต้องครอบคลุมไปถึงของรักของชอบใจทุกอย่างด้วยจึงจะถูกต้อง

หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาไม่ใช่มีแต่ศีล 5 เรื่องเดียว ยังมีคำสอนอื่นๆ อีกด้วย คำสอนไม่ให้ทำร้าย ทำลาย หรือทำอันตรายต่อของรักของชอบใจของผู้อื่น ก็มีสอนไว้ในหมวดธรรมข้ออื่นๆ ไม่ใช่ไม่มี 

แต่นักคิดบอกว่า คำสอนไม่ให้ทำร้าย ทำลาย หรือทำอันตรายต่อของรักของชอบใจของผู้อื่น ต้องรวมอยู่ในศีลข้อ 3 นี้ด้วยจึงจะถูกต้อง

และเพราะตีความเช่นนั้น คำว่า “กาเมสุมิจฺฉาจาร” จึงมีผู้แยกศัพท์เป็น กาเม + สุมิจฺฉาจารฺ

กาเม” แปลว่า “ในกาม

สุมิจฺฉาจาร” แปลว่า “การประพฤติถูกและการประพฤติผิด

ดูตามคำแปล ก็คือจะให้เข้าใจว่า –

การประพฤติถูก” แปลจากศัพท์ว่า “สุจาร

การประพฤติผิด” แปลจากศัพท์ว่า “มิจฺฉาจาร

สุมิจฺฉาจาร” ถ้าแปลเช่นนั้น ว่าตามหลักบาลีไวยากรณ์ก็สามารถเป็นไปได้ คือใช้กฎที่เรียกว่า “มัชเฌโลป” (มัด-เช-โลบ) แปลว่า “ลบกลางคำ” กล่าวคือ: 

สุจาร (การประพฤติถูก) + มิจฺฉาจาร (การประพฤติผิด) ลบ “จาร” ที่ สุ– (สุจาร > สุ)

: สุจาร + มิจฺฉาจาร = สุจารมิจฺฉาจาร > สุมิจฺฉาจาร แปลว่า “การประพฤติถูกและการประพฤติผิด

เมื่อแยกศัพท์อย่างนี้ คำว่า “กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี” ก็ต้องแปลว่า “เจตนางดเว้นจากการประพฤติถูกและการประพฤติผิดในกาม” 

และต้องมีความหมายว่า –

การประพฤติถูกในกาม ก็งดเว้น

การประพฤติผิดในกาม ก็งดเว้น

ตามหลักของศีล คืองดเว้นการประพฤติผิด แต่ศีลข้อนี้วิปริต นั่นคือ แม้การประพฤติถูกก็ต้องดเว้นด้วย

จะเห็นได้ว่า การตีความหรือแยกศัพท์ จะคิดเอาเอง หรือมองเฉพาะจุดเดียวหาได้ไม่ แต่จะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วยเสมอ

…………..

ดูก่อนภราดา!

พระพุทธศาสนา:-

: ไม่ได้ล่อให้เห็นตาม

: ไม่ได้ห้ามเห็นต่าง

: แต่ชี้ทางให้เห็นตรง

#บาลีวันละคำ (3,865)

11-1-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *