บาลีวันละคำ

ปฐมพยาบาล (บาลีวันละคำ 3,866)

ปฐมพยาบาล

ถ้าทำอย่างชำนาญก็ช่วยให้รอดได้

อ่านว่า ปะ-ถม-พะ-ยา-บาน

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า ปฐม + พยาบาล

(๑) “ปฐม”

บาลี (ฐ ฐาน ไม่มีเชิง) อ่านว่า ปะ-ถะ-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปฐฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว; สวด) + อม (อะ-มะ) ปัจจัย

: ปฐฺ + อม = ปฐม แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดขึ้นในเบื้องต้น” (2) “บทอันเขาสวดโดยเป็นบทที่สูงสุด”

(2) ปถฺ (ธาตุ = นับ) + อม (อะ-มะ) ปัจจัย, แปลง ถฺ เป็น ฐฺ

: ปถฺ + อม = ปถม > ปฐม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขานับในเบื้องต้น”

“ปฐม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นปูรณสังขยา (เลขบอกลำดับที่): ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน (the first, foremost, former)

(2) เป็นคุณนาม: ชั้นต้น, เป็นครั้งแรก (at first, for the first time)

(3) เป็นส่วนแรกของสมาส: ครั้งแรก, เร็วๆ นี้, ใหม่ๆ, เพิ่ง (first, recently, newly, just)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ปฐม, ปฐม- : (คำวิเศษณ์) ประถม, ลำดับแรก, ลำดับเบื้องต้น; ชั้นที่ ๑, เรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ ๑ ในตระกูลจุลจอมเกล้าว่า ปฐมจุลจอมเกล้า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ. (ป.).”

(๒) “พยาบาล”

อ่านว่า พะ-ยา-บาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“พยาบาล : (คำกริยา) ดูแลคนไข้, ปรนนิบัติคนไข้; (คำโบราณ) เอื้อเฟื้อเลี้ยงดู. (คำนาม) ผู้ดูแลคนไข้.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “พยาบาล” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร

คำนี้รูปร่างหน้าตาเหมาะที่จะเป็นภาษาบาลี แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วปรากฏว่า ไม่มีคำบาลีรูปนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์บาลีฉบับใดๆ

เคยได้ยินผู้รู้ท่านสันนิษฐานว่า “พยาบาล” น่าจะมาจากคำว่า “พฺยาปาร”

บาลีมีคำว่า “พฺยาปาร” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า occupation, business, service, work (อาชีพ, ธุรกิจ, การบริการ, การงาน)

สันสกฤตมีคำว่า “วฺยาปาร” เหมือนบาลี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วฺยาปาร : (คำนาม) ‘พยาบาร’, การย์ ( = การงาน), กฤตยการย์ ( = กิจการ), ประโยค, การฝึกหัด occupation, business; practice, exercise.”

“พฺยาปาร” เขียนแบบไทยเป็น “พยาบาร” (ร เรือ สะกด) อ่านได้เสียงเท่ากับ “พยาบาล” แต่ความหมายไปกันคนละทาง

เป็นอันว่า “พยาบาล” กับ “พยาบาร” เป็นคนละคำและคนละความหมายโดยสิ้นเชิง และ “พยาบาล” ยังไม่พบในภาษาบาลี

ถ้าจะเกณฑ์ให้ “พยาบาล” เป็นคำบาลี ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสันนิษฐานแบบ “ลากเข้าวัด” ว่า มาจาก พฺยาธิต ( = คนไข้) + ปาล ( = ผู้ดูแล, ผู้รักษา) ลบ “-ธิต” ออก คงเหลือ “พฺยา-”

: พฺยาธิต + ปาล = พฺยาธิตปาล > พฺยาปาล แปลว่า “ผู้ดูแลรักษาคนไข้”

ขอย้ำว่า นี่เป็นการสันนิษฐานแบบลากเข้าวัด ไม่พึงนำไปอ้างอิงยืนยันอย่างเป็นทางการในที่ใดๆ

นักเรียนบาลีท่านใดพบที่มาของศัพท์ที่เป็นหลักฐานชัดเจน ขอความกรุณานำเสนอร่วมบูรณาการ เพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ปฐม + พยาบาล = ปฐมพยาบาล อ่านตามหลักภาษาว่า ปะ-ถม-มะ-พะ-ยา-บาน (มีคำว่า -มะ- ด้วย) แต่ไม่มีใครอ่าน พจนานุกรมฯ ก็บอกคำว่า ปะ-ถม-พะ-ยา-บาน (ไม่มี -มะ-)

…………..

นึกถึงคำว่า “บรมนาถบพิตร” อันเป็นสร้อยพระปรมาภิไธย คำนี้อ่านตามหลักภาษาว่า บอ-รม-มะ-นาด-ถะ-บอ-พิด (มีคำว่า -ถะ- ด้วย ระหว่าง นาถ + บพิตร)

ในประเทศไทยนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินผู้อ่านว่า บอ-รม-มะ-นาด-ถะ-บอ-พิด (มีคำว่า -ถะ-) เพียง 3 ท่าน คือ –

(1) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

(2) อาลักษณ์ สำนักพระราชวัง

(3) พลอากาศเอก หะริน หงสกุล อดีตประธานรัฐสภา

นอกนั้น (เท่าที่เคยได้ยิน) อ่านว่า บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด (ไม่มี -ถะ-) กันทั้งบ้านทั้งเมือง

…………..

“ปฐมพยาบาล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ปฐมพยาบาล : (คำนาม) การปฏิบัติขั้นต้นยามฉุกเฉินตามวิธีแพทย์ก่อนลงมือรักษาพยาบาล.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าจะรักษาพระศาสนาให้ยืนนาน

: รักษาขั้นปฐมพยาบาลไม่เพียงพอ

#บาลีวันละคำ (3,866)

12-01-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *