วันพระ [2] (บาลีวันละคำ 3,985)
วันพระ [2]
วันทำความดีเป็นพิเศษ
คำว่า “วันพระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“วันพระ : (คำนาม) วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ คํ่า ขึ้น ๑๕ คํ่า แรม ๘ คํ่า และแรม ๑๕ คํ่า ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ คํ่า.”
มีบทอาราธนาธรรมวันอุโบสถบทหนึ่งว่า –
…………..
จาตุทฺทสี ปณฺณรสี
ยา จ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี
กาลา พุทฺเธน ปญฺญตฺตา
สทฺธมฺมสฺสวนสฺสิเม.
แปลว่า –
วันเหล่านี้คือ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ
และแปดค่ำแห่งปักษ์
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
เพื่อการฟังพระสัทธรรม
…………..
วันที่ระบุในบทอาราธนาธรรมนี้มีเดือนละ 4 วัน คือ (1-2) วันขึ้นและแรม 8 ค่ำ (3) วันเดือนเพ็ญ คือขึ้น 15 ค่ำ และ (4) วันเดือนดับ คือแรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ
วันเหล่านี้ก็คือที่เราเรียกรู้กันเป็นสามัญว่า “วันพระ”
ในบทอาราธนาธรรมนี้มีคำบาลีที่เป็นชื่อ “วันพระ” 3 คำ คือ “จาตุทฺทสี” “ปณฺณรสี” “อฏฺฐมี”
(๑) “จาตุทฺทสี”
อ่านว่า จา-ตุด-ทะ-สี รากศัพท์มาจาก จตุทฺทส + อี ปัจจัย
(ก) “จตุทฺทส” อ่านว่า จะ-จุด-ทะ-สะ รูปคำเดิมมาจาก จตุ + ทส
“จตุ” อ่านว่า จะ-ตุ เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำเรียกจำนวนนับ แปลว่า สี่ (จำนวน 4)
“ทส” อ่านว่า ทะ-สะ เป็นศัพท์สังขยาเช่นเดียวกัน แปลว่า สิบ (จำนวน 10)
จตุ + ทส ซ้อน ทฺ ระหว่างศัพท์ (จตุ + ทฺ + ทส) = จตุทฺทส (จะ-ตุด-ทะ-สะ) แปลว่า สิบสี่ (จำนวน 14)
(ข) จตุทฺทส + อี ปัจจัยในปูรณตัทธิต
อธิบายแทรก :
“ตัทธิต” อ่านว่า ตัด-ทิด เป็นวิธีสร้างคำชนิดหนึ่งในภาษาบาลี ด้วยการลงปัจจัยที่มีความหมายแทนศัพท์
“ปูรณตัทธิต” เป็นตัทธิตประเภทหนึ่ง ลงปัจจัยมีความหมายแทนศัพท์ว่า “ปูรณ” (ปู-ระ-นะ) ซึ่งแปลว่า “เต็ม”
(ข) จตุทฺทส + อี ปัจจัย “ทีฆะต้นศัพท์” คือ อะ ที่ จ-(ตุทฺทส) เป็น อา
: จตุทฺทส + อี = จตุทฺทสี > จาตุทฺทสี แปลว่า “สิบสี่เต็ม” หรือ “เต็มสิบสี่” หมายถึง “ลำดับที่สิบสี่” = สิบสี่ค่ำ
(๒) “ปณฺณรสี”
อ่านว่า ปัน-นะ-ระ-สี รากศัพท์มาจาก ปณฺณรส + อี ปัจจัย
(ก) “ปณฺณรส” อ่านว่า ปัน-นะ-ระ-สะ รูปคำเดิมมาจาก ปญฺจ + ทส
“ปญฺจ” อ่านว่า ปัน-จะ เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำเรียกจำนวนนับ แปลว่า ห้า (จำนวน 5)
“ทส” อ่านว่า ทะ-สะ เป็นศัพท์สังขยาเช่นเดียวกัน แปลว่า สิบ (จำนวน 10)
ปญฺจ + ทส = ปญฺจทส (ปัน-จะ-ทะ-สะ) แปลว่า สิบห้า (จำนวน 15)
“ปญฺจทส” แปลงรูปเป็น “ปณฺณรส” อ่านว่า ปัน-นะ-ระ-สะ เพื่อความสละสลวยหรือความคล่องปากในเวลาเปล่งเสียง อาจกล่าวได้ว่า “ปญฺจทส” นั่นเองเมื่อพูดคล่องปากเข้า เสียงเพี้ยนไปเป็น ปัน-นะ-ระ-สะ แล้วเลยสะกดเป็น “ปณฺณรส”
เพราะฉะนั้น จำนวน 15 ในภาษาบาลี พูดว่า “ปญฺจทส” ก็มี “ปณฺณรส” ก็มี ใช้ได้ทั้ง 2 คำ ในที่นี้ใช้เป็น “ปณฺณรส”
(ข) ปณฺณรส + อี ปัจจัยในปูรณตัทธิต
: ปณฺณรส + อี = ปณฺณรสี แปลว่า “สิบห้าเต็ม” หรือ “เต็มสิบห้า” หมายถึง “ลำดับที่สิบห้า” = สิบห้าค่ำ
(๓) “อฏฺฐมี”
อ่านว่า อัด-ถะ-มี รากศัพท์มาจาก อฏฺฐ (จำนวนแปด) + ม ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อฏฺฐ + ม = อฏฺฐม + อี = อฏฺฐมี แปลตามศัพท์ว่า “ดีถีที่แปด”
หลักภาษา :
ม ปัจจัย (บางแห่งเรียก “อม” อะ-มะ) เป็นปัจจัยที่ใช้ลงท้ายศัพท์สังขยา คือศัพท์บอกจำนวน ทำให้มีความหมายเป็น “ลำดับที่-” เช่น –
อฏฺฐ = จำนวนแปด ถ้าเป็นคนก็ 8 คน เป็นสัตว์ก็ 8 ตัว เป็นสิ่งของก็ 8 ชิ้น
อฏฺฐ + ม = อฏฺฐม = ลำดับที่แปด
เป็นคนก็เฉพาะคนที่ 8 คนเดียว ไม่ใช่ทั้ง 8 คน
เป็นสัตว์ก็เฉพาะตัวที่ 8 ตัวเดียว ไม่ใช่ทั้ง 8 ตัว
เป็นสิ่งของก็เฉพาะชิ้นที่ 8 ชิ้นเดียว ไม่ใช่ทั้ง 8 ชิ้น
ขยายความ :
“จาตุทฺทสี” “ปณฺณรสี” “อฏฺฐมี” เป็นคำขยายคำว่า “ติถี” ซึ่งหมายถึง วันตามจันทรคติ (a lunar day) คือ ขึ้น-แรม
เรียกเต็มๆ :
“จาตุทฺทสี” = จาตุทฺทสี ติถี แปลว่า สิบสี่ค่ำ
“ปณฺณรสี” = ปณฺณรสี ติถี แปลว่า สิบห้าค่ำ
“อฏฺฐมี” = อฏฺฐมี ติถี แปลว่า แปดค่ำ
การนับวันทางจันทรคติภายใน 1 เดือน เริ่มต้นนับที่ขึ้น 1 ค่ำ (ภาษาไทยคำเดิมพูดว่า “ค่ำ 1”) ไปถึงขึ้น 15 ค่ำ แล้วต่อด้วยแรม 1 ค่ำ ไปถึงแรม 15 ค่ำ รวมได้ 30 วัน เป็น 1 เดือน
ดังนั้น ภายใน 1 เดือน –
มี 8 ค่ำ 2 วัน คือ ขึ้น 8 ค่ำ และแรม 8 ค่ำ คำบาลีว่า “อฏฺฐมี ติถี”
มี 15 ค่ำ 2 วัน คือ ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ คำบาลีว่า “ปณฺณรสี ติถี”
แล้ว “จาตุทฺทสี ติถี” 14 ค่ำ คือวันไหน?
“จาตุทฺทสี ติถี” 14 ค่ำ จะมีในกรณีที่เป็นเดือนขาด
“เดือนขาด” หมายถึง เดือนทางจันทรคติที่มี 29 วัน คือ เดือนอ้าย เดือน 3 เดือน 5 เดือน 7 เดือน 9 เดือน 11 บางทีเรียก “เดือนคี่” คู่กับ “เดือนเต็ม” หรือ “เดือนคู่” คือ เดือนยี่ เดือน 4 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 10 เดือน 12
เดือนขาดทั้ง 6 เดือน สิ้นเดือนเพียงแรม 14 คํ่า ไม่มีแรม 15 ค่ำ
แรม 14 ค่ำนั่นแหละคือ “จาตุทฺทสี ติถี”
สรุปว่า “วันพระ” มีเดือนละ 4 วัน มีชื่อเรียก 3 ชื่อ –
(๑) ขึ้น 8 ค่ำ/แรม 8 ค่ำ เรียกว่า “อฏฺฐมี ติถี” เดือนละ 2 วัน (ทุกเดือน)
(๒) ขึ้น 15 ค่ำ/แรม 15 ค่ำ เรียกว่า “ปณฺณรสี ติถี” เดือนละ 2 วัน (เฉพาะเดือนเต็ม)
(๓) แรม 14 ค่ำ เรียกว่า “จาตุทฺทสี ติถี” เดือนละ 1 วัน (เฉพาะเดือนขาด)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความดีทำวันไหนก็ได้นะจ๊ะ
: แต่วันพระเป็นวันทำความดีเป็นพิเศษจ้ะ
#บาลีวันละคำ (3,985)
11-5-66
…………………………….
…………………………….