บาลีวันละคำ

อัตวินิบาต (บาลีวันละคำ 1,336)

อัตวินิบาต

หมายถึงอะไร

เวลาเอ่ยถึงการฆ่าตัวตาย ถ้าเรียกเป็นคำศัพท์ในภาษาไทย ก็ใช้กันว่า “อัตวินิบาตกรรม” (อัด-ตะ-วิ-นิ-บาด-ตะ-กำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อัต : (คำนาม) ตน, ตัวเอง. (ป. อตฺต; ส. อาตฺมนฺ).

(2) วินิบาต : (คำนาม) การทําลาย, การฆ่า, เช่น วินิบาตกรรม; ภพที่ต้องโทษ, ภพที่รับทุกข์, เช่น ทุคติวินิบาต. (ป., ส.).”

(3) อัตวินิบาตกรรม : (คำนาม) การฆ่าตัวตาย.

คำที่ควรเข้าใจคือ “อัตวินิบาต” ในภาษาบาลีมีความหมายอย่างไร

(๑) “อัต

บาลีเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) หรือ “อตฺตา” (อัด-ตา) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)

(2) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)

(3) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)

(4) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)

(5) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)

(6) “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)

อตฺตา” ตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul) หมายถึง ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

อตฺตา ในภาษาไทยเขียนเป็น “อัตตา” ในที่นี้ใช้เป็น “อัตต” และเพราะสมาสกับคำอื่นจึงตัด ออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในคำไทย จึงเป็น “อัต-”

(๒) “วินิบาต

บาลีป็น “วินิปาต” (วิ-นิ-ปา-ตะ) รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นิ (เข้า, ลง) + ปตฺ (ธาตุ = ตกไป) + ปัจจัย, ยืดเสียง อะ ที่ -(ตฺ) เป็น อา (ปตฺ > ปาต)

: วิ + นิ + ปตฺ = วินิปตฺ + = วินิปตณ > วินิปต > วินิปาต แปลตามศัพท์ว่า (1) “การตกไปโดยพิเศษ” (2) “ภพที่ผู้ทำกรรมชั่วตกไปไร้อำนาจ” (3) “ภพเป็นที่ตกไปพินาศมีอวัยวะน้อยใหญ่แหลกเหลว

วินิปาต” หมายถึง ความพินาศ, การทำลาย; สถานที่มีความทุกข์, สถานะแห่งการทำโทษ (ruin, destruction; a place of suffering, state of punishment)

วินิปาต ในภาษาไทยใช้เป็น “วินิบาต” (วิ-นิ-บาด)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

วินิบาต : “โลกหรือวิสัยเป็นที่ตกไปแห่งสัตว์อย่างไร้อำนาจ [คือช่วยตัวเองไม่ได้เลย]”, “แดนเป็นที่ตกลงไปพินาศย่อยยับ”, สภาพตกต่ำ, ภพคือภาวะแห่งชีวิตที่มีแต่ความตกต่ำเสื่อมถอยย่อยยับ.”

ปกติ “วินิบาต” หมายถึงทุคติภูมิชนิดหนึ่ง บางทีหมายถึงนรก บางทีหมายถึงกำเนิดอสูรกาย

ในที่นี้ “วินิบาต” หมายถึง “การทำให้-ตกไป

ในคัมภีร์ มีศัพท์ว่า “อตฺตวินิปาต” (อัด-ตะ-วิ-นิ-ปา-ตะ) ซึ่งเป็นการประสมคำตรงกับ “อัตวินิบาต” ในภาษาไทย คือ –

: อตฺต + วินิปาต = อตฺตวินิปาต > อัตวินิบาต แปลตามศัพท์ว่า “การยังตนให้ตกไปอย่างผิดปกติ” หมายความว่า ผู้ที่อยู่ในสถานะเช่นนั้นตามปกติไม่ควรจะทำตนให้ตกต่ำไปจากมาตรฐาน แต่เมื่อมาทำตนให้ตกต่ำจึงเรียกว่า-ยังตนให้ตกต่ำอย่างผิดปกติ

ท่านขยายความหมายของ “อัตวินิบาต” ไว้ว่า มีได้ 2 ทาง คือ –

(1) แสวงหาลาภยศและการครองชีพด้วยความมักมากอยากใหญ่ ความสุขสงบก็ตกหายไปจากชีวิต

(2) แม้จะได้ลาภยศมาโดยวิธีถูกธรรมถูกทาง แต่เมื่อได้มาแล้วกลับลืมตัวมัวเมา ไม่ครองตนอยู่ในคลองธรรม ชีวิตก็พลัดตกลงไปจากคุณธรรมความดีที่พึงประพฤติได้อีกเหมือนกัน

(ถอดความจากต้นฉบับ :-

“ยา  มหิจฺฉาวเสน  ลทฺธา  ยสลาภธนลาภวุตฺติ 

ฌานสุขโต  อตฺตวินิปาตสงฺขาเตน  วินิปาเตน 

อิโต  คนฺตฺวา  อิสฺสริยมทมตฺตสฺส  อธมฺมจรเณน  วา  โหติ 

ตํ  วุตฺตึ  ธิรตฺถุ.”

ที่มา:สัยหชาดก จตุกกนิบาต ชาตกัฏฐกถา ภาค ๔ หน้า ๓๒๔)

สรุปว่า “อตฺตวิปาต = อัตวินิบาต” ในบาลีไม่ได้หมายถึงการฆ่าตัวตายที่คำอังกฤษเรียก suicide

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล suicide เป็นบาลีว่า “อตฺตวินิปาต” แต่แปลไว้ว่า –

(1) attvadha อตฺตวธ (อัด-ตะ-วะ-ทะ) = การฆ่าตัวเอง

(2) attaghātī อตฺตฆาตี (อัด-ตะ-คา-ตี) = ผู้ฆ่าตัวเอง

: ถ้าใจไม่ตกไปจากคุณธรรม

: อัตวินิบาตกรรมก็ไม่มี

26-1-59

ต้นฉบับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *