บาลีวันละคำ

บุรณปฏิสังขรณ์ (บาลีวันละคำ 4,081)

บุรณปฏิสังขรณ์

สะกดตามพจนานุกรม

อ่านว่า บุ-ระ-นะ-ปะ-ติ-สัง-ขอน

ประกอบด้วยคำว่า บุรณ + ปฏิสังขรณ์

(๑) “บุรณ

บาลีเป็น “ปูรณ” อ่านว่า ปู-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม, ทำให้เต็ม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง อน เป็น อณ 

: ปูร + ยุ > อน = ปูรน > ปูรณ แปลตามศัพท์ว่า “ความเต็ม” “การทำให้เต็ม” หมายถึง ทำให้เต็ม (filling) 

หมายเหตุ : ธาตุตัวนี้เป็น “ปุรฺ” (ปุ– สระ อุ) ก็มี กรณีเป็น ปุรฺ ธาตุ ก็ทีฆะ อุ ป็น อู

อนึ่ง ในคัมภีร์ ศัพท์นี้เป็น “ปุรณ” (ปุ– สระ อุ) ก็มี แต่ส่วนมากเป็น “ปูรณ” (ปู– สระ อู)

ในภาษาไทย ใช้เป็น “บุรณ” ก็มี “บูรณ” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เก็บไว้ทั้ง 2 คำ

บุรณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุรณะ : (คำกริยา) บูรณะ, ซ่อมแซมทําให้กลับคืนดีเหมือนเดิม เช่น บุรณะวัด. (ส. ปูรณ).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ บอกไว้ว่า –

บุรณะ : (คำกริยา) บูรณะ, ซ่อมแซมทำให้กลับคืนดีเหมือนเดิม เช่น บุรณะวัด, มักใช้เข้าคู่กับ ปฏิสังขรณ์ เป็น บุรณปฏิสังขรณ์. (ส. ปูรณ; ป. ปุณฺณ).”

ส่วน “บูรณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) บูรณ-, บูรณ์ : (คำวิเศษณ์) เต็ม. (ป., ส. ปูรณ).

(2) บูรณะ : (คำกริยา) ซ่อมแซมทําให้กลับคืนดีเหมือนเดิม เช่น บูรณะวัด. 

(๒) “ปฏิสังขรณ์

เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิสงฺขรณ” อ่านว่า ปะ-ติ-สัง-ขะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ + สํ + กรฺ + ยุ

(ก) “ปฏิ” เป็นคำอุปสรรค ใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ 

ในที่นี้น้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “กลับ” หรือ “ทวน

(ข) “สํ” เป็นคำอุปสรรค ใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า พร้อมกัน, ร่วมกัน 

ในที่นี้แปลงนิคหิตเป็น งฺ : สํ = สงฺ

(ค) “กรฺ” เป็นธาตุ (รากศัพท์) มีความหมายว่า “ทำ” 

ในที่นี้แปลงเป็น “ขร

(ง) “ยุ” เป็นปัจจัย แปลว่า การ-, ความ- แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง ( หนู) เป็น ( เณร)

: ปฏิ + สํ = ปฏิสํ > ปฏิสงฺ + กร = ปฏิสงฺกร > ปฏิสงฺขร + ยุ > อน > อณ : ปฏิสงฺขร + = ปฏิสงฺขรณ แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้กลับคืนขึ้นมาพร้อมกัน” หมายถึง ปฏิสังขรณ์, ซ่อมแซม, บูรณะ (restoration, repair, mend)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิสังขรณ์ : (คำกริยา) ซ่อมแซมทําให้กลับคืนดีเหมือนเดิม (มักใช้เฉพาะวัดวาอาราม) เช่น ปฏิสังขรณ์วัด. (ป.).”

ในภาษาบาลี คำว่า “ปฏิสังขรณ์” มิได้จำกัดเฉพาะปฏิสังขรณ์วัด แม้การซ่อมแซมบ้านเมือง เช่น ป้อม กำแพง ค่ายคู ประตู หอรบ ก็ใช้คำว่า “ปฏิสังขรณ์” ด้วยเช่นกัน

อภิปรายขยายความ :

บุรณ + ปฏิสังขรณ์ = บุรณปฏิสังขรณ์  

โปรดสังเกตว่า ใช้เป็น “บุรณ-” ไม่ใช่ “บูรณ-”

ที่เราพูดและเขียนกันทั่วไป มักเป็น “บูรณปฏิสังขรณ์

และมักประวิสรรชนีย์ คือใส่สระ อะ ที่ – เป็น “บูรณะปฏิสังขรณ์

โปรดทราบว่า เป็นการสะกดผิดจากพจนานุกรมฯ

พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “บุรณปฏิสังขรณ์” ไว้เป็นคำตั้งก็จริง แต่มีคำนี้ในคำจำกัดความคำว่า “บุรณะ” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ดังที่ยกมาไว้ข้างต้น

ขอยกมาซ้ำในที่นี้อีกครั้งเพื่อเป็นการย้ำยืนยัน

บุรณะ : (คำกริยา) บูรณะ, ซ่อมแซมทำให้กลับคืนดีเหมือนเดิม เช่น บุรณะวัด, มักใช้เข้าคู่กับ ปฏิสังขรณ์ เป็น บุรณปฏิสังขรณ์. (ส. ปูรณ; ป. ปุณฺณ).”

พจนานุกรมฯ สะกดคำนี้เป็น “บุรณปฏิสังขรณ์” บุ- ไม่ใช่ บู- และไม่มีสระ อะ กลางคำ

ความแตกต่างระหว่าง “บุรณะ” (หรือ “บูรณะ”) กับ “ปฏิสังขรณ์” :

ในภาษาไทยมักพูดควบกันไปว่า บุรณปฏิสังขรณ์ โดยไม่ได้แยกความหมายให้ชัดเจนว่า อย่างไรคือบุรณะ อย่างไรคือปฏิสังขรณ์

ความแตกต่างที่พอกำหนดได้โดยยึดเอาภาษาเป็นหลักก็คือ

– ทำค้างไว้ยังไม่เสร็จ ทำต่อให้เสร็จ เรียกว่า “บุรณะ

– ทำเสร็จแล้ว ใช้ไปอยู่ไปจนทรุดโทรม หรือมีเหตุมาทำให้พังลงไป ซ่อมแซมทําให้กลับคืนดีเหมือนเดิม เรียกว่า “ปฏิสังขรณ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาไทยกำลังทรุดโทรม

: บอกบุญญาติโยมให้ช่วยกันบุรณปฏิสังขรณ์

#บาลีวันละคำ (4,081)

15-8-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *