บาลีวันละคำ

อริยธน (บาลีวันละคำ 4,080)

อริยธน

ฝากไว้ชนกับ “อริยทรัพย์”

อ่านว่า อะ-ริ-ยะ-ทน

ประกอบด้วยคำว่า อริย + ธน

(๑) “อริย” 

อ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง ที่ และ เป็น อิย

: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม

: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส

(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง

(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ปัจจัย, ลบ  

: อริย + = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

สรุปว่า “อริย” แปลว่า –

(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) ผู้ไกลจากกิเลส

(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้

(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –

๑ ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)

๒ ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)

๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.”

(๒) “ธน” 

บาลีอ่านว่า ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + (อะ) ปัจจัย 

: ธนฺ + = ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนออกเสียงว่าเป็นของเรา” (คือแสดงความเป็นเจ้าของด้วยความชื่นชม)

(2) ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น  

: ชนฺ + = ชน > ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งยังภาวะคนจนให้เกิด” (คำแปลนี้ฟังเหมือนขัดแย้ง คือถ้ามี “ธน” ความจนก็จะไม่เกิด แต่มองในมุมกลับก็คือ “เพราะไม่มีสิ่งนี้ จึงทำให้มีคนจน”) 

ธน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทรัพย์สมบัติ, โดยปกติได้แก่ทรัพย์สินเงินทอง, ความร่ำรวย, สมบัติ (wealth, usually wealth of money, riches, treasures)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธน, ธน– : (คำนาม) ทรัพย์สิน. (ป., ส.).”

อริย + ธน = อริยธน บาลีอ่านว่า อะ-ริ-ยะ-ทะ-นะ แปลว่า“ทรัพย์ของพระอริยะ” หรือ “ทรัพย์อันประเสริฐ” 

อริยธน” เป็นรูปคำในบาลี แต่สามารถใช้เป็นรูปคำในภาษาไทยได้ด้วย ภาษาไทยอ่านว่า อะ-ริ-ยะ-ทน

ขอให้นึกถึงนามบรรดาศักดิ์ของ “เสฐียรโกเศศ” คือ “พระยาอนุมานราชธน” นามนี้อ่านว่า — อะ-นุ-มาน-ราด-ชะ-ทน

คำว่า “อริยธน” ก็อ่านโดยหลักเดียวกัน หรือใช้โวหารเชิงเหตุผลว่า 

ถ้า “ราชธน” อ่านว่า ราด-ชะ-ทน ได้ 

อริยธน” ก็อ่านว่า อะ-ริ-ยะ-ทน ได้เช่นกัน

ที่ว่ามานี้คือแก้ปัญหาเผื่อจะมีผู้ทักท้วงว่า “อริยธน” อ่านว่า อะ-ริ-ยะ-ทน ได้หรือ ฟังดูกระไรอยู่

ขยายความ :

คำว่า “อริยธน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คงเป็นเพราะยังไม่มีใครใช้คำในเชิงทับศัพท์แบบนี้ มีแต่นิยมใช้แบบบาลีประสมสันสกฤตว่า “อริยทรัพย์” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง แปล “ธน” บาลี เป็น “ทรัพย์” สันสกฤตนั่นเอง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อริยทรัพย์ : (คำนาม) ทรัพย์อันประเสริฐ มี ๗ ประการ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา. (ป. อริย + ส. ทฺรวฺย).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อริยทรัพย์” มาจากบาลี “อริย” สันสกฤต “ทฺรวฺย

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอชวนคิดว่า “ทรัพย์” หรือ “ทฺรวฺย” ในสันสกฤตนั้น บาลีก็มี คำนี้บาลีเป็น “ทพฺพ” (ทับ-พะ) คำที่เราพอจะคุ้นในภาษาไทยก็คือ “ทัพสัมภาระ” ก็มาจาก “ทพฺพ” คำนี้

ถ้าบาลีต้องการจะใช้คำนี้ ทำไม่ไม่เป็น “อริยทพฺพ” ซึ่งจะตรงกับ “อริยทรัพย์” พอดี เช่น “อริยธน” ข้อแรกคือ “ศรัทธา” บาลีเป็น “สทฺธาธนํ” ไม่ใช่ “สทฺธาทพฺพํ

ข้ออื่นๆ บาลีก็ใช้ “ธน” ทั้งนั้น 

โปรดดูคาถาอันเป็นต้นฉบับ ดังนี้ –

…………..

สทฺธาธนํ สีลธนํ

หิรี โอตฺตปฺปิยํ ธนํ

สุตธนญฺจ จาโค จ

ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ.

ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล

ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ

ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ

และปัญญาเป็นทรัพย์ที่เจ็ด

ที่มา: อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 5

…………..

ด้วยเหตุดังนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำจึงขอเสนอคำว่า “อริยธน” อีกคำหนึ่ง ถ้าเบื่อ “อริยทรัพย์” และคิดถึงบาลี โปรดระลึกว่ายังมี “อริยธน” ไว้ให้เลือกแทน

อนึ่ง ขอให้สังเกตว่า นักบรรยายธรรมหรือนักบอกบุญทั้งหลายมักจะเชิญชวนผู้คนให้บริจาคทรัพย์โดยใช้คำพูดว่า การบริจาคทรัพย์เป็นการแปลงทรัพย์ธรรมดาให้เป็นอริยทรัพย์

อาจจะมีคนที่พูดเพลินไปหรือพูดตามกันไป โดยที่ไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจว่า “อริยทรัพย์” ที่ว่านั้น ตัวผู้เชิญชวนเข้าใจหรือเปล่าว่าคืออะไร

อริยทรัพย์” หรือคำใหม่ (ความจริงเป็นคำเก่าคำเดิม) คือ “อริยธน” ท่านหมายถึงคุณธรรม 7 ประการ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา 

คุณธรรม 7 ประการนี้เท่านั้นที่เรียกว่าอริยทรัพย์ (อริยธน)

การบริจาคทรัพย์นั้น เป็นบุญที่เรียกว่า “ทาน” หรือ “ทานมัย” ถ้าจัดเข้าในคุณธรรม 7 ประการ ก็อนุโลมเข้าในข้อ “จาคะ” แต่ท่านไม่ได้เรียก “จาคะ” หรือ “จาคมัย” และในคุณธรรม 7 ประการ ท่านเรียก “จาคะ” ไม่ได้เรียก “ทาน” 

“ทาน” กับ “จาคะ” แม้จะเป็นคุณธรรมสายเดียวกัน แต่ความหมายเด่นก็ต่างกัน ถ้าใช้คำอังกฤษ ความหมายเด่นของ “ทาน” คือ giving ความหมายเด่นข้อง “จาคะ” คือ abandoning หรือ liberality คือ “ทาน” มุ่งสละวัตถุ ส่วน “จาคะ” มุ่งสละอกุศลธรรม

ที่แสดงมานี้เป็นวิธีขบธรรม ไม่ได้ต้องการจะคัดค้านขัดแย้งแต่ประการใด

เมื่อจะกล่าวอ้างหลักธรรมคำใดๆ ควรระลึกถึงความหมายโดยตรงของธรรมะข้อนั้นๆ ก่อน แล้วกล่าวมุ่งถึงหลักธรรมข้อนั้นตามที่ท่านแสดงไว้ ไม่ควรกล่าวคลุมไปหมดแล้วพยายามอธิบายให้โยงถึงกันตามความเข้าใจเอาเอง ทำให้ความหมายของธรรมะข้อนั้นๆ สับสนพร่ามัว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีธรรมถึงจะไร้ธน

: สุขกว่ามีธนแต่ไร้ธรรม

#บาลีวันละคำ (4,080)

14-8-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *