การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๔)
การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๔)
————————————
ประโยค ๙ – นาคหลวง: ถนนไม่ได้ขาดอยู่แค่นั้น
……………………
คณะสงฆ์ประกาศผลสอบบาลีประจำปี ๒๕๖๒ ไปเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ปีนี้มีผู้สอบชั้นประโยค ป.ธ.๙ ได้ ๔๐ รูป ในจำนวนนี้เป็นสามเณร ๕ รูป
ช่วงนั้นมีผู้เอ่ยคำว่า “ประโยค ๙” และ “นาคหลวง” กันคึกคัก
มีธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ว่า สามเณรรูปใดสอบบาลีชั้นประโยค ป.ธ.๙ ได้ พระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สามเณรรูปนั้นอุปสมบทเป็นนาคหลวง
ภาษาราชการพูดว่าอย่างไรผมจำไม่ได้ถนัด ดูเหมือนจะว่า-โปรดเกล้าฯ ให้การอุปสมบทอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์-ประมาณนี้
แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า ในหลวงจะเป็นเจ้าภาพบวชให้
ถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูงยิ่งแก่ตัวเองและวงศ์ตระกูล
……………………
ผมขอประกาศจุดยืนของผมไว้ ณ ที่นี้ว่า ผมเห็นด้วยกับทุกสำนักเรียน ทุกองค์กร ทุกคนทุกท่าน ที่สนับสนุนส่งเสริมทุ่มเทให้มีการเรียนการสอนบาลี และเพียรพยายามให้ผู้เรียนสอบได้ถึงชั้นประโยค ป.ธ.๙ (เปรียญธรรม ๙ ประโยค) และ บ.ศ.๙ (บาลีศึกษา ๙ ประโยค) อันเป็นชั้นสูงสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุนส่งเสริมทุ่มเทให้สามเณรสอบชั้นประโยค ป.ธ.๙ ได้ ซึ่งจะเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ได้เป็น “นาคหลวง” ดังที่กล่าวข้างต้น
ขออนุโมนาสาธุการอย่างสุดหัวใจ
และผมก็ขอประกาศความเห็นของผมไว้ ณ ที่นี้ด้วยเช่นกันว่า ประโยค ป.ธ.๙ นาคหลวง และ บ.ศ.๙ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการเรียนบาลี
หรือหากใครจะถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของตน ผมก็ขอยืนยันว่านั่นไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่ถูกต้องของการเรียนบาลี
ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า นั่นเป็นเพียงต้นทางหรือปากทางของการเรียนบาลีเท่านั้น
อย่างที่ผมตั้งชื่อรองไว้ข้างต้นว่า “ประโยค ๙ – นาคหลวง: ถนนไม่ได้ขาดอยู่แค่นั้น”
ถนนยังมีต่อไปอีกยาวไกล และสมควรที่จะต้องไปกันต่อไปอีก
งานที่จะต้องทำ-ต่อจากประโยค ๙ นาคหลวง และ บ.ศ.๙-ก็คือศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พระบาลี อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ปกรณ์พิเศษ อัตถโยชนา สัททาวิเสส ไปจนถึงอาจริยมติ ฯลฯ ซึ่งผมขอเรียกเป็นคำรวมว่า “พระไตรปิฎก” หรือ “พระคัมภีร์”
ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกหรือพระคัมภีร์ หมายถึงศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยอันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา-โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาเถรวาทอันเป็นพระพุทธศาสนาสายหลักที่นับถือกันอยู่ในประเทศไทย
เพราะพระธรรมวินัยคือเนื้อตัวของพระศาสนา
ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกหรือพระคัมภีร์เพื่อให้รู้เข้าใจถูกต้องแน่ชัดว่าอะไรอย่างไรเป็นหลักคำสอนที่ถูก อะไรอย่างไรไม่ใช่คำสอนที่ถูกต้อง นี่คือที่เรียกว่า “พระปริยัติสัทธรรม”
ครั้นแล้วก็นำคำสอนที่ถูกต้องนั้นมาเป็นหลักประพฤติปฏิบัติสำหรับตัวเองเป็นเบื้องต้น-ที่เรียกว่า “พระปฏิปัติสัทธรรม” เพื่อให้บรรลุมรรคผลที่ถูกต้อง-ที่เรียกว่า “พระปฏิเวธสัทธรรม”
ต่อจากนั้น ก็พยายามสั่งสอนเผยแผ่หลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องนั้นไปยังพหูชน เพื่อให้เกิดสัมมาทิฐิ น้อมนำพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไปประพฤติปฏิบัติเป็นหลักในการครองชีวิตตามกำลังความสามารถ อันจะยังสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนและแผ่ขยายไปสู่สังคมต่อไป
โปรดช่วยกันเข้าใจให้ถูกต้องว่า นี่คือเส้นทางดำเนินที่ถูกต้องของการเรียนบาลี
จบประโยค ๙ นาคหลวง และ บ.ศ.๙ แล้ว ต้องเดินต่อไปตามเส้นทางสายนี้
จะไปได้ไกลแค่ไหน ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน
จะไม่เดินต่อไปอีกก็ได้ ไม่มีใครบังคับ แต่ขอให้นึกเทียบกับการเรียนหมอ
คนเรียนหมอ (ขออนุญาตใช้คำสั้นๆ แบบนี้ หวังว่าจะเข้าใจได้ตรงกัน) ก็คือเรียนจบเป็นหมอแล้วก็ไปรักษาคนป่วยไข้
นั่นคือเป้าหมายของการเรียนหมอ
เรียนหมอจบแล้ว ออกไปรักษาคนป่วยไข้
เรียนบาลีจบแล้ว ไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก-คือพระธรรมวินัย
เรียนหมอจบแล้ว ไม่รักษาคนป่วยไข้ เรียนหมอทำไม
เรียนบาลีจบแล้ว ไม่ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย เรียนบาลีทำไม
ต้องตอบคำถามนี้ให้ถูก จึงจะเข้าใจ
ถ้าไม่คิด ก็ไม่เห็น แล้วก็จะไม่รู้ตัวว่า-เรากำลังหลงทางหรือเปล่า
———————-
ทำไมจึงต้องเรียนบาลี?
“พระไตรปิฎก” เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมหรือประมวลคำสอนในพระพุทธศาสนา
คำสอนในพระพุทธศาสนาในชั้นเดิมเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสสอนพระธรรมวินัย พระสาวกได้ฟังแล้วก็จำกันไว้ ยังไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีระบบการตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกัน โดยวิธีนำมากล่าวขึ้นพร้อมกัน คือสวดสาธยายพร้อมๆ กัน ที่เรียกว่า “สังคายนา” หรือ “สังคีติ” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “การขับขานขึ้นพร้อมกัน” (โปรดเปรียบเทียบกับเพลงที่ขับร้องหมู่ ผู้ร้องทุกคนจะต้องจำคำร้องได้ถูกต้องตรงกันทุกคำ ถ้าร้องไม่ตรงกัน เพลงนั้นก็จะผิดทันที)
ราวพุทธศตวรรษที่ ๕ จึงมีการจารึกคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษร จัดเป็นหมวดหมู่ ที่เรารู้จักกันในนาม “พระไตรปิฎก”
พระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี
สังคมไทยรู้จักและให้ความสำคัญต่อพระไตรปิฎกมาเป็นเวลานานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อสร้างวัดที่สมบูรณ์แบบจะต้องมี “หอ” ที่เป็นหลัก ๔ หอ คือ
หอฉัน
หอสวดมนต์
หอระฆัง (รวมหอกลองเข้าไว้ด้วย)
และ หอไตร
“หอไตร” เป็นคำที่ตัดมาจาก “หอพระไตรปิฎก” คือห้องหรืออาคารที่สร้างไว้สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกเพื่อให้พระภิกษุสามเณรใช้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนา
แล้วก็เกิดค่านิยมสร้างพระคัมภีร์ถวายวัดต่างๆ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรใช้ศึกษาเล่าเรียนสืบอายุพระศาสนา
พระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี ผู้ที่จะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยได้ถูกต้องชัดเจนลึกซึ้งกว้างขวางจึงต้องรู้ภาษาบาลี
นี่คือเหตุผลที่ต้องเรียนบาลี
ทำไมไม่เรียนสันสกฤต
ทำไมไม่เรียนละติน
ทำไมไม่เรียนฮินดี
ทำไมไม่เรียนอังกฤษฝรั่งเศส
ฯลฯ
ทำไมจึงเรียนเฉพาะบาลี เหตุผลอยู่ตรงนี้
เรียนบาลีเพื่อไปค้นคว้าพระไตรปิฎกคือพระธรรมวินัย คือเนื้อตัวของพระศาสนา เพื่อจะได้มีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง สืบอายุพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
ภาพรวมของการเรียนบาลีอยู่ตรงนี้
ใครๆ ก็รู้ ก็มองเห็นภาพรวมภาพนี้
พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยท่านก็มองเห็นภาพนี้
อันที่จริงพระเจ้าแผ่นดินทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทล้วนแต่มองเห็นภาพนี้ตรงกัน ทุกประเทศเหล่านั้นก็จึงสนับสนุนส่งเสริมให้กำลังใจแก่ผู้เรียนบาลีและผู้ทรงจำพระไตรปิฎกตามวิถีทางของแต่ละประเทศ
ประเทศพม่า ภิกษุรูปไหนทรงจำพระไตรปิฎก รัฐบาลรับเลี้ยงโยมพ่อโยมแม่ตลอดชีวิต
ประเทศไทยสมัยมีทาส ภิกษุรูปไหนสอบบาลีได้เป็นเปรียญ ถ้าพ่อแม่เป็นทาส ท่านให้ยกจากความเป็นทาสเสีย เป็นการบูชาคุณพระบาลี
ที่ว่ามานี้ว่าตามที่ได้ฟังมา ใครอยากได้หลักฐานข้อเท็จจริง ไปสืบหาเอาเองเถิด
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินท่านก็รู้ว่าเป้าหมายของการเรียนบาลีอยู่ที่การศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนา ท่านก็จึงสนับสนุนส่งเสริมพระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลี
สมัยสอบบาลีด้วยวิธีแปลปากที่วัดพระแก้ว พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชศรัทธา งดพระราชภารกิจอื่นๆ เสีย เสด็จไปฟังพระภิกษุสามเณรสอบบาลีทุกวัน
การถวายอุปถัมภ์ทั้งหลายทั้งปวง ตลอดจนทรงรับสามเณรที่สอบ ป.ธ.๙ ได้ให้เป็นนาคหลวง ก็มาจากเหตุผลข้อนี้-คือเพื่อให้ผู้เรียนบาลีมีกำลังใจที่จะศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นการสืบอายุพระศาสนา
เหตุผลสำคัญอยู่ตรงนี้
จบ ป.ธ.๙ แล้ว หรือได้เป็นนาคหลวงแล้ว แต่ไม่ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกคือพระธรรมวินัยต่อไป กลับหยุดอยู่แค่นั้น เพราะเข้าใจว่ามาถึงปลายทางแล้ว ก็เท่ากับผิดสัญญาที่พระเจ้าแผ่นดินท่านอุตส่าห์ตั้งเป้าหมายสนับสนุนไว้
แข็งใจเดินต่อไปอีกก้าวเดียวก็จะเห็นว่า ถนนสายนี้ไม่ได้ตัดขาดอยู่แค่นี้
ถนนสายนี้ยังมีต่อไปอีกยาวไกล
ตรงนี้เป็นแค่ต้นทางหรือปากทางเท่านั้น ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง
ทุกสำนักเรียน ทุกองค์กร ทุกคนทุกท่าน ที่สนับสนุนส่งเสริมทุ่มเทให้มีการเรียนการสอนบาลี และเพียรพยายามให้ผู้เรียนสอบได้ถึงชั้นประโยค ป.ธ.๙, บ.ศ.๙ และสนับสนุนส่งเสริมทุ่มเทให้สามเณรสอบชั้นประโยค ป.ธ.๙ ได้ ซึ่งจะได้เป็น “นาคหลวง” ดังที่กล่าวข้างต้น สมควรอย่างที่สุดที่จะสนับสนุนส่งเสริมทุ่มเทให้ท่านผู้ที่สอบได้จบชั้นประโยค ๙ แล้วเหล่านั้นศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกคือพระธรรมวินัย คือเนื้อตัวของพระศาสนาต่อไปอีก เพื่อจะได้มีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง สืบอายุพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
งานที่ท่านอุตส่าห์ทำอยู่นั้นมี ๒ ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง ทำให้ผู้เรียนบาลีสอบประโยค ๙ ได้
ส่วนที่สอง ทำให้ผู้สอบประโยค ๙ ได้แล้วศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก
งานทั้งสองส่วนนี้ต้องประกอบกัน และต้องทำให้สำเร็จทั้งสองส่วนจึงจะเกิดผล
ส่วนที่หนึ่ง ท่านทำแล้ว และทำสำเร็จมาแล้วอย่างน่าชื่นชม
ถ้าไม่ทำส่วนที่สอง ส่วนที่หนึ่งที่สำเร็จแล้วก็ไร้ประโยชน์
พูดได้ว่าเป็นโมฆะ
การเดินทางตามถนนสายบาลีนั้นตัดสินความสำเร็จกันที่เอาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกคือพระธรรมวินัย แล้วเอาพระธรรมวินัยมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องจนบรรลุผลเป็นปฏิเวธ
จะพูดได้ว่า-ประสบความสำเร็จ-ต้องไปให้ตลอดสาย
อยู่แค่ปากทาง หรือแม้แต่ไปครึ่งทาง ยังพูดไม่ได้ว่าประสบความสำเร็จ
อุตส่าห์ผ่านปากทางเข้ามาได้แล้ว
อะไรๆ ก็มีพร้อมแล้ว
ทำไมไม่ไปให้ถึงปลายทาง
ทำไมจะยอมจบ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มต้น
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ เมษายน ๒๕๖๒
๑๐:๓๖