บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กระดาษแผ่นเดียว

——————-

-เรื่องที่ ๑-

เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่แล้ว (๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙) ผมเดินออกกำลังผ่านเข้าไปในวัดแห่งหนึ่ง ไหว้พระเสร็จแล้วกำลังจะออกจากวัด พอดีเจอท่านที่รู้จักกันคนหนึ่งก็เลยสนทนากันด้วยเรื่องที่สนใจร่วมกัน

ท่านผู้นั้นปรารภให้ฟังว่า ไปเห็นพระรูปหนึ่ง ยืนบิณฑบาตอยู่กับที่ในตลาด สังเกตมานานแล้ว ท่านให้พรได้หยดย้อยดีนัก คนนิยมใส่กันเยอะ ได้ของใส่บาตรล้นหลามเต็มรถพ่วงข้าง พอดีคนขับรถพ่วงข้างเป็นพรรคพวกกัน ก็เลยได้รู้เพิ่มเติมว่า พระท่านจ้างให้คอยรับ-ส่งและบรรทุกของที่มีคนใส่บาตร ค่าจ้างวันละ ๔๐๐ บาท วันพระเพิ่มเป็น ๕๐๐ เพราะของเยอะมากเป็นพิเศษ

ท่านผู้นั้นตั้งข้อสังเกตว่า ค่าจ้างวันละ ๔๐๐ กับปริมาณของที่ญาติโยมใส่บาตรน่าจะมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ

ท่านผู้นั้นบอกว่า เคยเข้าไปยืนสังเกตการณ์ใกล้ๆ พระท่านรู้ว่าโยมคนนี้มาคอยมอง วันหนึ่งพระท่านก็เปรยออกมาดังๆ ว่า 

“คนที่มาเที่ยวจ้องจับโทษของคนอื่น ไม่ดี โทษของตนทำไมไม่รู้จักมองเสียบ้าง”

ท่านผู้นั้นเล่าแบบขำๆ แค้นๆ ว่า “ก็ตัวพระคุณท่านเองกำลังทำผิดอยู่เองแท้ๆ ทำไมจึงไม่รู้จักมองตัวเองเสียบ้างเล่า”

—————

-เรื่องที่ ๒-

ครั้นตอนสายๆ วันนั้น ผมเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์นั่งทำงานตามปกติ ก็ได้พบญาติมิตรท่านหนึ่งส่งภาพมาทางกล่องข้อความ เป็นภาพป้ายแสดงสถานที่ในบริเวณพุทธมณฑล ป้ายนั้นมีคำที่เขียนผิดหลายแห่ง ท่านบอกว่าเห็นแล้วก็จังงังไปเลย จะปล่อยเฉยไว้ไม่ได้ จึงตัดสินใจเขียนรายการส่งให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไข

ผิดตรงไหน ต้องแก้ไขเป็นอย่างไร ท่านแสดงรายการไว้ให้เสร็จตามภาพที่ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่ประกอบเรื่องนี้ดังที่เห็นนั้น

————–

ทั้งสองเรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ ผมตั้งเป็นปัญหาถามตัวเองว่า เมื่อพบเห็นการกระทำผิด เราควรจะมีท่าทีอย่างไร?

สำหรับเรื่องของพระ เคยมีผู้แสดงความเห็นชัดเจนว่า ไม่ควรเอามาเปิดเผย ใครเอาความประพฤติผิดหรือประพฤติบกพร่องของพระมาเปิดเผยจะถูกประทับตราทันทีว่า “พวกด่าพระ”

ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยคำตำหนิรุนแรง เป็นต้นว่า … ตัวมันเองศีลห้ายังรักษาไม่ได้ ด่าพระเสร็จแล้วก็ไปแดกเหล้า ไปเป็นชู้กับเมียชาวบ้าน ยังจะมีหน้ามาด่าพระ ไอ้พวกทำลายศาสนา …

ฟังแล้วนรกสยอง!

คือท่านที่มีความเห็นแนวนี้ท่านพิพากษาเด็ดขาดว่า การพูดถึงความบกพร่องของพระนั้นเป็นการ “ด่าพระ” โดยไม่แยกแยะว่าพูดถึงด้วยเจตนาอย่างไร และสรุปแบบเหมารวมว่า พวกที่ “ด่าพระ” นั้นเป็นพวกไม่มีศีล

ทางปฏิบัติของท่านจำพวกนี้ก็คือ ปล่อยให้พระอยู่ส่วนพระ พระท่านมีเจ้าคณะปกครองของท่านอยู่แล้ว ปล่อยให้ท่านไปว่ากันเอง ชาวบ้านไม่พึง (เสือก) เข้าไปเกี่ยวข้อง

ที่ว่า-ปล่อยให้พระท่านไปว่ากันเอง-นั้น ชาวบ้านน่าจะปฏิบัติอยู่แล้วโดยธรรมชาติ อย่างกรณีพระยืนบิณฑบาตที่มีผู้เล่าให้ผมฟังนั้น ได้ความว่าท่านทำอย่างนี้มาเป็นปีๆ แล้ว นั่นก็คือ เมื่อปล่อยให้พระท่านไปว่ากันเอง พระท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรกัน ก็คือยังปล่อยให้ทำอยู่ได้ต่อไปตามสบาย

นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากวิธีการตามแนวคิด “พระท่านมีเจ้าคณะปกครองของท่านอยู่แล้ว ปล่อยให้ท่านไปว่ากันเอง”

ท่านในฝ่ายที่ไม่เห็นควรให้นำเรื่องความบกพร่องของพระมาเปิดเผยต่อสาธารณชนมักมีข้อแนะนำว่า เมื่อพบเห็นความประพฤติบกพร่องของพระ ทางที่ถูกต้อง-ถ้ามีความปรารถนาดี-ก็ควรจะไปบอกกล่าวกันเป็นการภายใน อย่าให้เอิกเกริก

หลักการพื้นฐานในวิธีการแบบนี้ก็คือ “ทำอย่างไรก็ได้ แต่อย่าให้เอิกเกริก”

เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องที่สุด

แต่ในทางปฏิบัติ เป็นวิธีที่ไม่เอื้อโอกาสให้อยากทำเป็นที่สุด

พูดกันตรงๆ ว่าทำได้ยาก

เช่น ต้องเริ่มด้วยการสืบทราบว่าพระรูปนั้นอยู่วัดไหน แล้วถ้าจะบอกกล่าวเงียบๆ จะต้องไปที่ไหน ไปบอกกล่าวแก่ท่านผู้ใด … 

แค่เริ่มต้นคนก็ไม่อยากเสียเวลาไปยุ่งด้วยแล้ว

————–

แต่ในขณะเดียวกัน โปรดอย่าลืมว่า วิทยาการสมัยใหม่เปิดโอกาสให้คนเราติดต่อสื่อสารกันง่ายดายและรวดเร็วอย่างยิ่ง สนามหรือสื่อต่างๆ อันเปรียบเสมือน “ป้ายประกาศ” มีอยู่ทั่วไป ทั้งเข้าไปถึงทุกซอกทุกมุม สื่อสมัยใหม่จึงเป็นช่องทางให้ผู้คนเลือกใช้ในการบอกกล่าวข่าวสารกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ทางที่ถูกต้อง-ถ้าหวังให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ-หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งคณะสงฆ์ ก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการรับรู้ข่าวสารให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น 

นั่นคือแทนที่จะนั่งรอแผ่นกระดาษ หรือรอให้คนมาเคาะประตูสำนักงานแต่ฝ่ายเดียว ก็ต้องเพิ่มการปฏิสัมพันธ์เชิงรุกด้วยการออกไปหาข่าวข้างนอก อันเปรียบเสมือน “รับแจ้งความนอกสถานที่” อีกด้วย 

วิธีนี้ไม่ใช่ว่าจะต้องนั่งรถตระเวนไปทั่วเมือง เพราะวิทยาการสมัยใหม่อำนวยความสะดวกให้แล้ว นั่งอยู่ในสำนักงานนั่นเองก็ทำได้ คือขอให้ยอมรับว่า ข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อเสนอแนะ และมาสู่การรับรู้ นั่นมีผลเท่ากับได้รับเรื่องหรือรับแจ้งความไว้เรียบร้อยแล้ว

แค่นี้ ยอมรับได้หรือไม่

อย่างกรณีป้ายในพุทธมณฑล เพียงแค่มีผู้นำเสนอทางสื่อโซเชียลมีเดีย เพียงพอหรือยังที่จะถือว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรับเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว

หรือว่ายังจะต้องนั่งรอกระดาษแผ่นเดียวอยู่ก่อนจึงจะลงมือแก้ไขได้ ถ้ายังไม่มีใครส่งเรื่องมาเป็นแผ่นกระดาษตามแบบหนังสือราชการ ก็จะยังไม่ทำอะไร-แม้จะรู้ว่ามีเรื่องบกพร่องเกิดขึ้นอย่างนี้แล้วก็ตาม

เวลานี้ผมเข้าใจว่า หน่วยราชการ รวมทั้งหน่วยงานของคณะสงฆ์ มีระบบรับเรื่องราวข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตกันแล้ว แต่จะมีถึงขั้นที่ว่า-ข่าวสารที่เกิดขึ้นทางสื่อต่างๆ แม้ไม่มีใครแจ้งมาเป็นทางการ เมื่อคนในหน่วยงานได้รับรู้และบอกกล่าวกันให้รู้แล้ว นั่นถือว่าหน่วยงานได้รับเรื่องหรือรับแจ้งความไว้เรียบร้อยแล้ว-หรือยัง

หรือว่ายังท่องคาถาบทเดิมคือ “ใครมีปัญหาอะไรก็เสนอเรื่องมา” 

แล้วก็นั่งรอกระดาษแผ่นเดียวเหมือนเดิมต่อไป

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙

๑๖:๒๓

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *