นิราศ (บาลีวันละคำ 1,004)
นิราศ
อ่านว่า นิ-ราด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) นิราศ ๑ : (คำกริยา) ไปจาก, ระเหระหน, ปราศจาก. (คำนาม) เรื่องราวที่พรรณนาถึงการจากกันหรือจากที่อยู่ไปในที่ต่าง ๆ เป็นต้น มักแต่งเป็นกลอนหรือโคลง เช่น นิราศนรินทร์ นิราศเมืองแกลง. (ส.).
(2) นิราศ ๒ : (คำกริยา) ปราศจากความหวัง, ไม่มีความต้องการ, หมดอยาก, เฉยอยู่. (ส.; ป. นิราสา).
(๑) “นิราศ” ตามความหมายในข้อ (1) (นิราศ ๑) พจน.บอกว่าเป็นรูปคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“นิราส : (คำนาม) การต่อต้าน, การประติเสธหรือปัดส่ง; การขับหรือกำจัด; การเปลื้อง, การโยกย้ายหรือจากไป; การสละหรือทิ้ง; opposing, rejecting; dispersion, ejecting or expelling; removal or change of place; abandonment.”
หมายเหตุ : นิราส ต้นฉบับพิมพ์ ส เสือ สะกด
“นิราศ” ตามความหมายว่าไปจาก หรือจากไป ศัพท์บาลีใช้ว่า “ปวาส” (ปะ-วา-สะ) แปลว่า การพักแรม, การไปจากบ้าน (sojourning abroad, being away from home) เช่นในคำว่า “จิรปฺปวาสี” (จิ-รับ-ปะ-วา-สี) = ผู้จากกันไปช้านาน
“นิราศ” ตามความหมายในข้อ (1) นี้ถ้าจะเกณฑ์ให้บาลีเป็น “นิราส” ก็อาจมาจาก นิ > นิร (ไม่มี) + อาส (อาหาร) = นิราส แปลว่า “ไม่มีอาหาร” แล้วลากเข้าความว่า เพราะอยู่ที่นี่ไม่มีอาหาร จึงต้องระเหเร่ร่อนไปหากินที่อื่น (เป็นการลากเข้าความแบบสนุกเล่นเท่านั้น ไม่พึงถือเอาเป็นสาระจริงจัง)
(๒) “นิราศ” ตามความหมายในข้อ (2) (นิราศ ๒) บาลีมีศัพท์ว่า “นิราสา” (นิ-รา-สา) รากศัพท์มาจาก นิ > นิร (ไม่มี) + อาสา (ความหวัง, ความปรารถนา, ความอยาก, ตัณหา)
: นิ > นิร + อาสา = นิราสา แปลว่า “ไม่มีความหวัง” “ไม่มีความอยาก” มีความหมาย 2 นัย คือ :
(1) หมดหวังหรือสิ้นหวัง คือสิ่งที่หวังไว้ไม่เป็นไปดังหวัง ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึงคนที่พลาดหวัง
(2) หมดความร่านทุรนที่จะไขว้คว้าหาสิ่งสนองความอยาก ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึงผู้สิ้นกิเลส
“นิราศ” ตามความหมายข้อไหนมาจากภาษาอะไร โปรดใช้วิจารณญาณเลือกเฟ้นตามควรแก่เหตุเทอญ
: ฝากหัวใจไว้แก่กัน ไม่มีวันนิราศ
: หมดเยื่อใยสัมพันธ์ อยู่ใกล้กันก็เหมือนนิราศ
16-2-58