บาลีวันละคำ

ถาวรและวัตถุ (บาลีวันละคำ 1,005)

ถาวรและวัตถุ

กุศลและเจตนา

เกิดอะไรขึ้นกับภาษา ?

คำคู่นี้ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านพบในเอกสารที่เผยแพร่เป็นสาธารณะ จึงเกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับภาษา ?

อ่านเจตนาได้ว่า –

ถาวรและวัตถุ” ก็คือจะพูดว่า “ถาวรวัตถุ

กุศลและเจตนา” ก็คือจะพูดว่า “กุศลเจตนา

(๑) “ถาวรวัตถุ

ประกอบด้วยคำว่า ถาวร + วัตถุ

1) “ถาวร” บาลีอ่านว่า ถา-วะ-ระ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ดำรงอยู่” หมายถึง ยั่งยืน, เคลื่อนที่ไม่ได้, มั่นคง, แข็งแรง (standing still, immovable, firm, strong)

2) “วัตถุ” บาลีเขียน “วตฺถุ” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่” มีความหมายหลายอย่าง คือ :

(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)

(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)

(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)

(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)

(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)

(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)

ถาวร + วตฺถุ = ถาวรวตฺถุ > ถาวรวัตถุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มั่นคง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ถาวรวัตถุ : (คำนาม) สิ่งที่ก่อสร้างเพื่อให้มั่นคงยั่งยืน เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ปราสาท พระราชวัง. (ป.).”

(๒) “กุศลเจตนา

ประกอบด้วยคำว่า กุศล + เจตนา

๑) “กุศล” บาลีเป็น “กุสล” (กุ-สะ-ละ) แปลตามศัพท์ว่า –

(๑) (1) “กรรมที่ยังบาปธรรมอันน่ารังเกียจให้หวั่นไหว” (2) “กรรมเป็นเครื่องปิดประตูอบายที่น่ารังเกียจแห่งสาธุชน” (3) “กรรมที่พึงถือเอาได้ด้วยญาณที่ทำให้บาปเบาบาง” (4) “กรรมที่ตัดบาปธรรมได้เหมือนหญ้าคา” = บุญ

(๒) “ภาวะที่ตัดโรคที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานด้วยอาการน่ารังเกียจ” = ความไม่มีโรค

(๓) “ผู้ถือเอากิจทั้งปวงด้วยปัญญา” = ผู้ฉลาด, นักปราชญ์, ผู้รู้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุสล” ว่า clever, skilful, expert; good, right, meritorious (ฉลาด, เฉียบแหลม, สันทัด, ชำนาญ; ดีงาม, ถูกต้อง, เป็นกุศล)

๒) “เจตนา” แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่คิด” หมายถึง ความตั้งใจ, ความคิด, ความจงใจ, ความประสงค์, ความปรารถนา (state of mind in action, thinking as active thought, intention, purpose, will)

กุสล + เจตนา = กุสลเจตนา > กุศลเจตนา หมายถึง ความตั้งใจที่ดี (right or wholesome volition; good intention)

อภิปราย :

(๑) “ถาวรวัตถุ” อ่านตามหลักภาษาอิงไปทางบาลีว่า ถา-วะ-ระ-วัด-ถุ อ่านแบบไทยว่า ถา-วอ-ระ-วัด-ถุ

คนส่วนมากคุ้นกับรูปคำ “ถาวร” “วัตถุ” แต่มักจะไม่ได้สำเหนียกว่าเมื่อเอามาสมาสกันเป็น “ถาวรวัตถุ” จะต้องอ่านว่า ถา-วะ-ระ-วัด-ถุ หรือ ถา-วอ-ระ-วัด-ถุ

เมื่อได้ยินคำอ่านว่า ถา-วอ-ระ-วัด-ถุ มีเสียง –ระ– อยู่กลางคำ จึงเข้าใจว่า “-ระ-” คือ “และ” คือเข้าใจไปว่าเป็น “ถาวร-และ-วัตถุ”

ถ้าเพียงแต่พูดว่า “ถาวร-และ-วัตถุ” อาจจะพอกล้อมแกล้มไปได้กับ ถา-วอ-ระ-วัด-ถุ (“ระ” กับ “และ” พัลวันกันไปได้) เมื่อเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็จึงเขียนไปตามที่เข้าใจผิด

ถาวรวัตถุ” จึงกลายเป็น “ถาวรและวัตถุ” ไป

(๒) “กุศลเจตนา” อ่านตามหลักภาษาว่า กุ-สะ-ละ-เจ-ตะ-นา หรือ กุ-สน-ละ-เจ-ตะนา (-เจตนา ในภาษาไทยอ่านว่า เจด-ตะ-นา ก็ได้) ผู้ไม่ได้สำเหนียกได้ยินเสียง –ละ– กลางคำ ก็เข้าใจไปว่า “กุศล-และ-เจตนา” (“ละ” กับ “และ” พัลวันกัน)

กุศลเจตนา” จึงกลายเป็น “กุศลและเจตนา

(๓) ถ้าจะให้อ่าน “ถาวรวัตถุ” ว่า ถา-วอน-วัด-ถุ (ไม่มี –ระ-) ให้อ่าน “กุศลเจตนา” ว่า กุ-สน-เจ-ตะ-นา (ไม่มี –ละ-) อาจช่วยไม่ให้เข้าใจผิดได้ แต่ก็จะไปสร้างความเข้าใจผิดอย่างใหม่ขึ้นอีก คือเข้าใจผิดไปว่าอ่านอย่างนั้นถูก

(๔) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า “ถาวรวัตถุ” อ่านว่า ถา-วอ-ระ-วัด-ถุ ก็ได้ อ่านว่า ถา-วอน-วัด-ถุ ก็ได้

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเชิญชวนท่านทั้งหลายให้อ่านคำนี้ว่า ถา-วอ-ระ-วัด-ถุ เป็นการอ่านถูกต้องตามหลักภาษา อย่าอ่านว่า ถา-วอน-วัด-ถุ ซึ่งเป็นการอ่านตามความไม่รู้ หรือความ “รักง่าย” แล้วอ้างว่าอ่านตามความนิยม

แม้คำว่า “กุศลเจตนา” ก็ขอเชิญชวนให้อ่านว่า กุ-สน-ละ-เจ-ตะ-นา อย่าอ่านว่า กุ-สน-เจ-ตะ-นา

(๕) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ถาวรวัตถุ” แต่ในบาลีไม่มีคำว่า “ถาวรวตฺถุ” ในขณะที่ในบาลีมีคำว่า “กุสลเจตนา” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “กุศลเจตนา” ไว้

: บางอย่าง ไม่เรียนก็รู้

: แต่บางอย่าง ไม่รู้ต้องเรียน

17-2-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย