บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ชุมนุมเทวดาหรือบทขัดสัคเคที่เป็นแบบฉบับ

ชุมนุมเทวดาหรือบทขัดสัคเคที่เป็นแบบฉบับ

—————————-

พอพูดว่า “ชุมนุมเทวดา” หรือ “ขัดสัคเค” ชาววัดตลอดจนชาวบ้านที่ฝักใฝ่ในทางบุญ นิยมฟังพระสวดมนต์หรือสวดมนต์เอง ย่อมจะรู้จักเป็นอันดี

………………..

บทชุมนุมเทวดา

—————–

สมนฺตา  จกฺกวาเฬสุ

อตฺราคจฺฉนฺตุ  เทวตา

ขอเชิญเทพยดาในรอบจักรวาลทั้งหลาย 

จงมาประชุมพร้อมกันในสถานที่นี้

สทฺธมฺมํ  มุนิราชสฺส

สุณนฺตุ  สคฺคโมกฺขทํ

จงฟังซึ่งพระสัทธรรมอันให้สวรรค์และนิพพาน

ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งมุนี

สคฺเค  กาเม  จ  รูเป  คิริสิขรตเฏ

จนฺตลิกฺเข   วิมาเน 

ขอเชิญเหล่าเทพเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพก็ดี 

รูปภพก็ดี อยู่ในวิมานเหนือยอดเขาแลเขาขาด ในอากาศก็ดี

ทีเป  รฏฺเฐ  จ  คาเม ตรุวนคหเน

เคหวตฺถุมฺหิ  เขตฺเต

ในเกาะก็ดี ในแว่นแคว้นก็ดี ในบ้านก็ดี ในต้นพฤกษาแลป่าชัฏก็ดี 

ในเรือนก็ดี ในที่ไร่นาก็ดี

ภุมฺมา  จายนฺตุ  เทวา  ชลถลวิสเม 

ยกฺขคนฺธพฺพนาคา 

ภุมเทวดาก็ดี ยักษ์ คนธรรพ์และนาค ซึ่งสถิตอยู่ในน้ำแลบนบก 

และที่อันไม่เรียบราบก็ดี

ติฏฺฐนฺตา  สนฺติเก  ยํ  มุนิวรวจนํ 

สาธโว  เม  สุณนฺตุ.

ซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง จงมาประชุมพร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้

คำใดเป็นคำของพระมุนีผู้ประเสริฐ

ท่านสัตบุรุษทั้งหลายจงสดับคำนั้นแห่งข้าพเจ้า

ธมฺมสฺสวนกาโล  อยมฺภทนฺตา

ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม

ธมฺมสฺสวนกาโล  อยมฺภทนฺตา

ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม

ธมฺมสฺสวนกาโล  อยมฺภทนฺตา.

ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม.

——-

ที่มาบทและคำแปล :

คู่มือทำวัตรสวดมนต์สำหรับผู้ถืออุโบสถศีล 

วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช ๒๕๕๐

——-

เรื่องควรรู้ :

๑ บทชุมนุมเทวดา มักเรียกเป็นภาษาปากว่า “สัคเค” (เพราะตัวบทขึ้นต้นว่า สคฺเค กาเม …) เป็นบทที่เชิญเทวดาให้มาฟังธรรม มีหลักนิยมว่าจะกล่าวบทนี้เมื่อพระสงฆ์จะเริ่มเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงธรรมวิธีหนึ่ง ดังนั้น เมื่อกล่าวบทนี้ก็หมายถึงจะต้องมีการแสดงธรรมต่อไป 

การกล่าวบทชุมนุมเทวดาในพิธีหรือในโอกาสซึ่งไม่มีการแสดงธรรม จึงนับว่าเบี่ยงเบนจากวัตถุประสงค์เดิม เหมือนเชิญแขกมารับประทานอาหาร แต่ไม่มีอาหารให้รับประทาน

๒ ฟังมาว่า แต่เดิมนั้นเจ้าภาพที่นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดาเอง ซึ่งนับว่าถูกหลัก เพราะเจ้าภาพเป็นเจ้าของงาน เจ้าของงานจึงต้องเป็นผู้เชิญแขกด้วยตนเอง 

แต่ต่อมาฝ่ายเจ้าภาพว่าไม่คล่องหรือว่าไม่ได้ พระสงฆ์จึงว่าแทน แล้วเลยกลายเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์เป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดาดังที่เห็นกันทุกวันนี้ (ทำนองเดียวกับการถวายทานทุกวันนี้ ในที่บางแห่งผู้ถวายกล่าวคำถวายไม่เป็น พระสงฆ์ต้องเป็นผู้กล่าวนำให้ ถ้าเป็นเช่นนี้มากเข้า ต่อไปพระสงฆ์อาจมีหน้าที่กล่าวคำถวายทานเองก็เป็นได้)

๓ ตามธรรมเนียมที่ถือกันสืบมา พระรูปที่นั่งเป็นลำดับที่ ๓ นับจากประธานสงฆ์จะเป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดา ได้ฟังมาอีกเช่นกันว่า ปฐมเหตุเกิดจากในงานพิธีสำคัญคราวหนึ่งในอดีตกาล เมื่อประธานสงฆ์ทำหน้าที่ให้ศีลแล้ว ก็แบ่งหน้าที่ให้พระรูปที่ ๒ เป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดา แต่บังเอิญในคราวนั้นพระรูปที่ ๒ ว่าไม่ได้ จึงให้รูปที่ ๓ ว่าแทน แล้วเลยกลายเป็นธรรมเนียมพระรูปที่ ๓ เป็นผู้ว่าบทชุมนุมเทวดามาจนทุกวันนี้

ที่ว่ามานั้นเป็นการเกริ่นกล่าวให้รู้ว่า ชุมนุมเทวดา คืออะไร 

………………..

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่ผมตั้งใจเขียน 

ใครที่เป็นแฟนรายการของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) ย่อมจะเคยได้ฟังรายการ “สวดมนต์มีคำนำ” กันมาบ้างแล้ว 

ผมเลิกฟังวิทยุมานานแล้ว จึงไม่ทราบว่าเวลานี้ สวท. ยังมีรายการสวดมนต์มีคำนำอยู่หรือเปล่า 

รายการสวดมนต์มีคำนำเป็นรายการที่ทาง สวท. นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ แต่ก่อนสวด พระท่านก็จะบรรยายธรรมะ-โดยเฉพาะก็คือเนื้อหาสาระของบทที่จะสวดต่อไปนั้น เพื่อที่ว่าฟังสวดมนต์ไปก็พอจะรู้เรื่องราวเค้าความของบทสวดนั้นๆ ไปพร้อมกัน 

รายการนี้มีทุกวันพระ ๘ ค่ำ เวลา ๑๙:๓๐ 

พระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดจะเป็นวัดเจ้าประจำ มหานิกายวัดหนึ่ง ธรรมยุตวัดหนึ่ง 

มหานิกาย คือวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์

ธรรมยุต คือวัดราชบพิธฯ

โปรดทราบว่านี่เป็นข้อมูลเก่าสมัยที่ผมยังฟังวิทยุอยู่ เวลานี้อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้ 

โดยเฉพาะ-ถ้าคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็น ผอ.สวท. หรือเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อาจมองไม่เห็นประโยชน์ของรายการนี้

………………..

ที่ผมตั้งใจจะบอกก็คือ การขัดสัคเคหรือชุมนุมเทวดาของวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์นั้น มีทำนองและจังหวะที่เป็นมาตรฐาน เป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดของคณะสงฆ์มหานิกาย 

โดยเฉพาะเสียงขัดสัคเคของพระเดชพระคุณพระราชปัญญาภรณ์ (ผมไม่ทราบชื่อจริงของท่าน ตอนนี้ท่านมรณภาพแล้ว)

เสียงของพระราชปัญญาภรณ์นั้นทุ้ม นุ่ม ลึก กังวาน มีพลัง สามารถสะกดคนฟังให้สงบได้อย่างน่าประหลาด 

โดยเฉพาะจังหวะที่ “เอื้อน” หรือ “ลงลูกคอ” ตอนท้ายของแต่ละวรรคเสนาะสนิทน่าฟังยิ่งนัก 

เมื่อท่านพระราชปัญญาภรณ์มรณภาพแล้ว พระรูปอื่นแห่งวัดมหาธาตุก็รับหน้าที่ขัดสัคเคแทน 

จังหวะและทำนองยังคงเป็นไปตามแบบฉบับมาตรฐานของวัดมหาธาตุ 

แต่น้ำเสียงและพลังเสียง ไม่มีรูปไหนเทียบท่านได้ 

เรื่องของเรื่องก็คือ ผมอยากจะได้ไฟล์เสียงของท่าน ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีใครบันทึกเอาไว้บ้าง 

โดยเฉพาะที่ สวท. นั้นผมมั่นใจว่าเขายังคงเก็บต้นฉบับรายการเก่าๆ ไว้อย่างแน่นอน 

ผมพยายามติดต่อไปทาง “เพื่อน” เฟซบุ๊ก – ขออนุญาตเอ่ยนามเป็นการฟ้อง 

๑ ปัญญา ชมจำปี – (รายนี้เคยติดต่อกันมาบ้าง ดูเหมือนจะเป็นคนรับผิดชอบรายการธรรมะ) 

๒ นายนรกิจ ศรัทธา – คนนี้รู้จักกันสมัยเป็นประชาสัมพันธ์จังหวัดราชบุรี ต่อมาเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ เคย “ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง” หรือ “รักษาการ” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วย นับว่าใหญ่อยู่ 

ที่พยายามติดต่อ “เพื่อน” เฟซบุ๊ก ดังกล่าวนี้ ก็เพื่อจะขอแรงให้ท่านช่วยตรวจสอบว่า ในคลังรายการเก่าของ สวท. มีรายการสวดมนต์มีคำนำ ของวัดมหาธาตุ ในยุคที่พระราชปัญญาภรณ์เป็นผู้ขัดสัคเค เก็บไว้บ้างหรือเปล่า 

ถ้ามี ขอความกรุณาบันทึกเป็นไฟล์ส่งให้ผมสักตอนหนึ่ง-ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง 

ติดต่อไปนานนักหนาแล้วครับ 

ท่านทั้งสองไม่ตอบ 

ท่านคงไม่ว่าง 

ก็ไม่ว่ากัน 

ทาง google หรือยูทูป ที่มีเผยแพร่กันอยู่ ผมก็พยายามหาดูนะครับ ก็มีเสียงขัดสัคเคอยู่หลายสำนัก แต่คุณภาพไม่ถึงสำนักวัดมหาธาตุ-โดยเฉพาะเสียงของพระราชปัญญาภรณ์ ไม่มีเลย 

ผมอาจจะไม่ชำนาญในการค้นหาข้อมูลแบบนี้ 

ดังนั้น จึงขอแรงมายังญาติมิตรว่า ท่านผู้ใดมีไฟล์เสียงขัดสัคเคของพระราชปัญญาภรณ์ หรือมีวิธีที่จะค้นหาได้ กรุณาช่วยสงเคราะห์กันหน่อยเถอะครับ 

อ้อ อีกแหล่งหนึ่งที่น่าจะพอมีหวัง ก็คือศิษย์สำนักวัดมหาธาตุ-โดยเฉพาะคณะที่พระราชปัญญาภรณ์ท่านเคยเป็นเจ้าคณะอยู่ ถ้าเผอิญได้อ่านโพสต์นี้ – ขอแรงมา ณ ที่นี้ด้วยอีกทางหนึ่งนะครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๕:๑๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *