บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ก้อนหินกับกองทราย

———————-

ตั้งแต่เกิดเหตุพระภิกษุถูกรุมทำร้าย ผมเขียนบทความที่กล่าวถึงทั้งโดยตรงและโดยนัย ๔ ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗ เรื่องแม่ไก่อยู่ไหน ….

คำถามของผมคือ เมื่อพระสงฆ์ถูกทำร้าย เจ้าคณะผู้ปกครองควรมีท่าทีอย่างไร

ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗ เรื่อง โสนะหน้า

ผมถามเทียบให้ฟังว่า

ถ้าบาทหลวงถูกรุมทำร้าย คริสตจักรในประเทศไทยจะทำอย่างไร

ถ้าโต๊ะอิหม่ามถูกรุมทำร้าย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จะทำอย่างไร

ในเรื่อง แม่ไก่อยู่ไหน ผมเทียบให้เห็นแล้วว่า

เหมือนอีกาโฉบลูกไก่ 

แม่ไก่บินตามไปช่วยลูก ….

ขอขยายความคิดเพิ่มเติมว่า

ลูกไก่ตัวที่ถูกอีกาโฉบ อาจเป็นลูกไก่เกเร หัวดื้อ โง่ อวดดี ความประพฤติเลวทราม ฯลฯ

หรือตอนนั้นอาจจะส่งสายตาท้าท้ายอีกาแบบก้าวร้าว 

ฯลฯ

และอะไรอีกสารพัด ที่สมควรตาย

ถ้าแม่ไก่มีเหตุผลเหมือนมนุษย์ (ที่เห็นว่าเป็นความผิดของพระ)

มันคงไม่ตามไปช่วยลูกไก่ตัวนั้น

ความเลว ความผิดของลูกไก่ (ถ้ามี) ก็อยู่ส่วนหนึ่ง

หน้าที่ของแม่ไก่ก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง

แม่ไก่มันแยกออก

ในขณะที่แม่คนเอามาปนกันหมด

ครั้งที่ ๓ เมื่อ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เรื่อง ปัญหาเรื่องการรักษาชีวิต

เรื่องนี้เกี่ยวกับการสั่งสอนอบรมพระภิกษุสามเณรในปกครอง

ในเมื่อเห็นกันว่า เป็นความผิดของพระที่ไม่รู้จักกาลเทศะจนถึงไม่รู้หลักพระธรรมวินัย (จึงไปถูกเขารุมทำร้ายให้สมน้ำหน้า) ก็ต้องอบรมสั่งสอนกัน 

ไม่ใช่ตำหนิขึ้นมาลอยๆ แล้วก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นต่อไป

การอบรมสั่งสอน เป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นปกติ ไม่ต้องเอาเรื่องถูกรุมทำร้ายเข้ามาเกี่ยวด้วย 

จะถูกใครทำอะไรหรือไม่ถูกทำอะไรก็ต้องอบรมสั่งสอนกันเรื่อยไป

อย่างกรณีอโคจร 

พระสงฆ์ไปในที่อโคจร แม้ไม่ถูกรุมทำร้ายเลย 

หรืออาจได้รับการเคารพนับถือเป็นอย่างดีด้วยซ้ำ 

ก็ต้องว่ากันไปตรงๆ ว่าผิด 

ควรรุมกันตำหนิ รุมกันประณามเท่ากับที่ตำหนิพระสงฆ์ที่ไปถูกรุมทำร้ายในที่อโคจรดังที่เรากำลังทำกันอยู่

ไม่ใช่ว่า พระสงฆ์ไปในที่อโคจรแล้วถูกทำร้าย เราสมน้ำหน้า รุมกันกระทืบซ้ำ

แต่พระสงฆ์ที่ไปในที่อโคจรเหมือนกัน แต่ไม่เกิดเหตุร้ายอะไร เราพากันเพิกเฉย ไม่เห็นว่าเสียหาย หรือแม้เห็นว่าเสียหายแต่ก็ไม่เดือดร้อน

ปัญหาที่เกิดให้เห็นในเวลานี้ก็คือ ผู้ปกครองไม่กล้าตักเตือนผู้อยู่ใต้ปกครองที่แตกแถว

ผมจึงถามว่า

ท่านรักษาชีวิตของท่าน ก็ถูกแล้ว

แต่ใครจะรักษาชีวิตของพระศาสนา ?

เรื่องนี้คงมีคำถามว่า –

การออกมาปกป้องพระที่ถูกรุมทำร้าย ถ้าพระเป็นฝ่ายผิด จะมิกลายเป็นว่าปกป้องคนผิดไปดอกหรือ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พระสงฆ์ที่ประพฤติมิดีมิชอบ เรายังจะต้องไปอุปถัมภ์บำรุงอยู่อีกหรือ

ผมจึงเขียนบทความเป็นครั้งที่ ๔ เมื่อ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ เรื่อง อุบาสกใจเพชร เสนอหลักการว่า เมื่อจะทำนุบำรุงพระศาสนา จงทำหัวใจให้เป็นเพชร เหมือนอุบาสกที่ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์

หลักก็คือ แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่ามีพระที่ประพฤติชั่ว แต่ก็ต้องแยกจิตให้ได้

จะเกลียดจะขยะแขยงขนาดไหนก็แยกไว้ทางหนึ่ง

(ขยะแขยงขนาดไหน โปรดดูสำนวนที่ผม “แปล-แปลง” ไว้ในบทความที่อ้าง)

แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำหน้าที่ของชาวพุทธ จงทำเต็มที่ด้วยหัวใจที่ผ่องแผ้วเบิกบาน

แค่พระท่านไปอยู่ในที่ไม่เหมาะ ในเวลาไม่เหมาะ รวมทั้งอาจแสดงกิริยาวาจาไม่เหมาะ – ผมว่ามันไม่น่าขยะแขยงเท่ากับที่อุบาสกท่านเจอนั่นเลย – 

แค่ไม่ช่วยปกป้องท่าน ก็ไร้น้ำใจอย่างที่สุดแล้ว 

แต่นี่กลับรุมกระทืบซ้ำ 

ในหลักกฎหมายหรือหลักทางบ้านเมืองเขาก็ไม่ทำกันครับ

มนุษย์ประเภท-ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก ลักเล็กขโมยน้อย คอยรังควานชาวประชา นอนตาหลับไม่สบาย ตายเสียได้แผ่นดินสูง

ถามว่า มีกฎหมายหรือระเบียบอะไรไหมครับที่บอกไว้ว่า ถ้ามีใครรุมประชาทัณฑ์มนุษย์ประเภทนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิด และไม่ต้องให้ใครเข้าไปช่วย ใครช่วยถือว่าเข้าข้างคนผิด ปกป้องคนผิด ?

ถามแบบประชดว่า ในทางวินัยสงฆ์ มีสิกขาบทข้อไหน หรือมหาปเทสข้อไหนที่อาจตีความได้ว่า – ภิกษุใดไปในที่อโคจร ภิกษุนั้นต้องอาบัติประชาทัณฑ์ ?

ความประพฤติชั่วของอลัชชี ต้องถูกแก้ไข จะดัดสันดานหรือลงโทษกันอย่างไรก็ทำไป (แต่เอาเข้าจริงกลับไม่กล้าทำ) 

ถ้าไม่กล้าตักเตือนสั่งสอน หรือไม่กล้าลงโทษ ถือว่าบกพร่อง

แต่เมื่อผู้อยู่ในปกครองของตนถูกทำร้าย ไม่ช่วย ถือว่าบกพร่องยิ่งกว่า

ถ้าผู้บริหารการพระศาสนารู้จักแยกแยะขอบเขตหน้าที่ให้ได้เหมือนแม่ไก่ ก็จะไม่ปฏิบัติอย่างนี้

วงการสงฆ์มีโครงสร้างเหมือนทหาร 

พระเณรทุกรูปต้องมีสังกัด จะอยู่ลอยๆ ไม่ได้

มีพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

มีการปกครองบังคับบัญชากันตามลำดับชั้น

วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของทหารก็คือ ถ้าทหารถูกกระทำ – แม้จะเป็นพลทหารคนสุดท้ายปลายแถว – จะกระเทือนจนถึงแม่ทัพ

ไม่เคยมีแม่ทัพคนไหนปล่อยให้ทหารในสังกัดของตนถูกกระทำฟรีๆ

แล้วก็ไม่มีแม่ทัพคนไหนปรานีหรือไม่กล้าลงโทษทหารที่ทำผิด

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ที่คนทั่วไปเรียกว่า “กรมหลวงชุมพร” และทหารเรือเรียก “เสด็จเตีย” ท่านรัก “ลูกน้อง” ของท่านมาก ใครทำอะไรทหารเรือท่านจะโดดเข้าไปปกป้องทันทีทันควัน แล้วท่านจะลงโทษทหารเรือที่ทำผิดด้วยมือของท่านเอง

ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกรุมทำร้ายข้างถนนอย่างคนอนาถา

พระเณรถูกกระทำ ถ้าผู้ปกครองออกมาปกป้อง ท่านจะสำนึกถึงบุญคุณ

ต่อไปหากจะประพฤติมิดีมิชอบ ก็จะเกิดความเกรงใจและเกรงกลัว 

ถูกอบรมสั่งสอนอะไรก็พร้อมที่จะปฏิบัติดีประพฤติชอบ

ถ้าผิด ผู้ปกครองเองก็ลงโทษได้เต็มไม้เต็มมือเพราะถือว่าช่วยแล้ว ให้โอกาสแล้ว

ได้ทั้งตัว ได้ทั้งใจ

แต่วิธีที่ใช้อยู่ ณ เวลานี้จะมีผลเท่ากับผลักทิ้งทั้งตัวทั้งใจ

มีภัยก็ไม่ปกป้อง

บกพร่องก็ไม่ปราบปราม

ผู้ถูกทอดทิ้งก็จะไปหาที่พึ่งอื่น 

ถ้าเป็นคนผิด ก็จะไปเข้าพวกคนผิดด้วยกัน 

เท่ากับได้กำลังที่จะทำผิดอีกโดยไม่ต้องเกรงใจใคร 

เพราะถือว่าไม่ได้มาช่วยเหลือเกื้อกูลอะไร 

เรื่องประพฤติดีปฏิบัติชอบเป็นอันไม่ต้องคิด

ยามลุกไม่เห็นใครชม

ยามล้มมีแต่คนซ้ำ

ผมเคยจำตัวเลขกลมๆ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วว่า –

ประเทศไทยมีวัดสามหมื่น มีพระสามแสน

ถ้าเปรียบเป็นสิ่งของ ก็กองเป็นภูเขาเลากา 

มหึมาทั้งขนาดและปริมาณ

แต่เป็นขนาดและปริมาณที่อยู่รวมกันเหมือนกองทราย

ไม่ใช่ก้อนหินทั้งแท่ง

กองทรายนั้นไม่จับตัวเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนก้อนหิน

ทรายแต่ละเม็ดอยู่รวมกัน แต่ไม่ได้เกื้อกูลกัน

วัดรวยไม่ช่วยวัดจน

วัดในเมืองไม่เหลียวแลวัดชนบท

จะอิ่มจะอดต่างคนต่างอยู่

และกองทรายนั้นทำให้กระจัดกระจายไปคนละทิศละทางได้ไม่ยาก

ไม่เหมือนก้อนหินทั้งแท่ง ไปไหนไปกัน 

สุข สุขด้วยกัน ทุกข์ ทุกข์ด้วยกัน

พระสงฆ์ถูกรุมทำร้ายนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก

ถ้าเป็นศาสนาอื่น ก็เท่ากับกระเทือนก้อนหินทั้งก้อน

แต่ของเรา ถูกมองว่า –

แค่ทรายเม็ดเดียว

อนาถ !!

๑ เมษายน ๒๕๕๗

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *