บาลีวันละคำ

เด็ก (บาลีวันละคำ 605)

เด็ก

บาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “เด็ก” ไว้ดังนี้ –

1. คนที่มีอายุยังน้อย

2. ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

3. ผู้ซึ่งอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส

4. บุคคลอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์

5. บุคคลที่มีอายุแต่ 15 ปีลงมา

6. บุคคลผู้มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์

7. ยังเล็ก

8. อ่อนวัยกว่า ในคําว่า เด็กกว่า

คำบาลีต่อไปนี้หมายถึง “เด็ก”

1. “ทารก” (ทา-ระ-กะ) เพศหญิงเป็น “ทาริกา” (ทา-ริกา) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำลายแผ่นดิน คือเขียนแผ่นดินเล่น” “ผู้ไปพร้อมกับมารดาบิดาทั้งสอง” กำหนดอายุไม่เกิน 6 ปี

2. “กุมาร” (กุ-มา-ระ) “กุมารก” (กุ-มา-ระ-กะ) เพศหญิงเป็น “กุมารี” (กุ-มา-รี) “กุมาริกา” (กุ-มา-ริ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เล่นสนุก” “ผู้ขีดดินเล่น” “ผู้สนุกอยู่บนดิน” “ผู้อันบิดามารดาปรารถนา” กำหนดอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป พ้นวัยทารก สามารถบรรลุธรรมได้ (สามเณรที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มักจะอายุ 7 ปี)

3. “ยุวา” (ยุ-วา) เพศหญิงเป็น “ยุวตี” (ยุ-วะ-ตี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปะปนกัน” คือมีลักษณะผสมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ หรือพ้นจากวัยเด็ก แต่ยังไม่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความหมายก็คือ คนหนุ่มคนสาว ที่เรียกว่า “เยาวชน” นั่นเอง

4. “พาล” (พา-ละ) มีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาคอยระวัง” “ผู้อันบิดามารดาต้องพาไปด้วย” หมายถึง เด็กอ่อน, เด็กน้อย

(2) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีชีวิตอยู่เพียงหายใจเข้าออก” “ผู้ตัดประโยชน์สองอย่าง คือประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน” หมายถึง คนพาล, คนโง่, ผู้อ่อนด้อย, ผู้ขาดเหตุผล

5. “ตรุณ” (ตะ-รุ-นะ) เพศหญิงเป็น “ตรุณี” (ตะ-รุ-นี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ข้ามความเป็นเด็กไป” หมายถึงเพิ่งจะพ้นวัยทารก ศัพท์นี้ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึงยังอ่อนๆ, เพิ่งจะเริ่มผลิ

6. “มาณว” (มา-นะ-วะ) เพศหญิงเป็น “มาณวิกา” (มา-นะ-วิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “เหล่ากอของมนู” ศัพท์นี้หมายถึงคนที่ยังเป็นหนุ่มสาว (ยังไม่แก่ชรา) มิได้เล็งเฉพาะ “เด็ก”

ตามหลักพระธรรมวินัย เมื่ออายุครบ 20 สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุได้ ก็นับว่าพ้นจากสภาพ “เด็ก” สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่ว่า บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์

: เราเรียกร้องวัยเด็กให้กลับคืนมาไม่ได้ก็จริง

: แต่เมื่อใดที่ขาดเหตุผล, ไม่มีความสามารถที่จะคิดและที่จะกระทำให้ถูกต้องได้ (lacking in reason, devoid of the power to think & act right)

: เมื่อนั้น ผู้ใหญ่ก็ไร้เดียงสาเสียยิ่งกว่าทารก

11-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย