อาวาสสัปปายะ – 1 ในสัปปายะ 7 (บาลีวันละคำ 3,880)
อาวาสสัปปายะ – 1 ในสัปปายะ 7
ที่อยู่อันเหมาะ
…………..
“สัปปายะ” หมายถึง สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เอื้อต่อการอยู่ดีและการที่จะพัฒนาชีวิต, สิ่งที่เหมาะกัน อันเกื้อหนุนในการเจริญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย มี 7 อย่าง คือ
1. อาวาสสัปปายะ = ที่อยู่อันเหมาะ
2. โคจรสัปปายะ = แหล่งอาหารอำนวย
3. ภัสสสัปปายะ = การพูดคุยที่เหมาะกัน
4. ปุคคลสัปปายะ = บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน
5. โภชนสัปปายะ = อาหารที่เหมาะกัน
6. อุตุสัปปายะ = ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะ
7. อิริยาปถสัปปายะ = อิริยาบถที่เหมาะกัน
…………..
“อาวาสสัปปายะ” อ่านว่า อา-วา-สะ-สับ-ปา-ยะ
ประกอบด้วยคำว่า อาวาส + สัปปายะ
(๑) “อาวาส”
บาลีอ่านว่า อา-วา-สะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ณ ปัจจัย
ทบทวนหลักการทางไวยากรณ์ของ ณ ปัจจัย :
(1) ณ ปัจจัย หรือปัจจัยที่เนื่องด้วย ณ (เช่น เณ ณฺย) ลงแล้ว “ลบ ณ ทิ้งเสีย”
(2) มีอำนาจ “ทีฆะต้นธาตุ” คือธาตุที่มี 2 พยางค์ ถ้าพยางค์แรกเสียงสั้นก็ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู) ในที่นี้ วสฺ ธาตุ “ว” เสียงสั้น จึงยืดเป็น “วา”
: อา + วสฺ = อาวสฺ + ณ = อาวสณ > อาวส > อาวาส แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส” หมายถึง การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก (sojourn, stay, dwelling, living; dwelling-place, residence)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อาวาส” ไว้ดังนี้ –
“อาวาส : (คำนาม) วัด เช่น เจ้าอาวาส ที่อยู่ เช่น พุทธาวาส (พุทธ + อาวาส) คือ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หมายถึง โบสถ์ วิหาร สังฆาวาส (สังฆ + อาวาส) คือ ที่อยู่ของพระสงฆ์; ผู้ครอบครอง เช่น ฆราวาส (ฆร + อาวาส) คือ ผู้ครอบครองเรือน หรือผู้อยู่ครองเรือน. (ป., ส.).”
ตามหลักเดิมอันถือกันว่าเป็นมาตรฐานกลาง ท่านแบ่งผังอาวาสเป็น 3 เขต ตามแนวแห่งพระรัตนตรัย คือ –
1 เขตที่มีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ สถูป พระธาตุ เรียกว่า “พุทธาวาส”
2 เขตที่มีศาลาการเปรียญ หอไตร หอสวดมนต์ เรียกว่า “ธัมมาวาส”
3 เขตที่เป็นกุฏิที่พระสงฆ์อยู่ เรียกว่า “สังฆาวาส”
(๒) “สัปปายะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สปฺปาย” อ่านว่า สับ-ปา-ยะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ป (หรือลบนิคหิตแล้วซ้อน ป), แปลง อิ ที่ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย แล้วทีฆะ อะ ที่ อ-(ย) เป็น อา ด้วยอำนาจ ณ ปัจจัย (อย > อาย)
: สํ > สปฺ + ป = สปฺป + อา = สปฺปา + อิ > เอ > อย = สปฺปย + ณ = สปฺปยณ > สปฺปย > สปฺปาย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปได้พร้อมทั่วถึง” = อยากจะไป อยากจะทำอะไร ก็ไปได้ทำได้ไม่ติดขัด
“สปฺปาย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคำนาม: สิ่งที่เป็นประโยชน์, คุณประโยชน์, การช่วยเหลือ (something beneficial, benefit, help)
(2) เป็นคุณศัพท์: น่าเป็นจริง, มีประโยชน์, เหมาะสม, สมควร (likely, beneficial, fit, suitable)
“สปฺปาย” ในภาษาไทยใช้ว่า “สบาย” (โปรดสังเกตว่าไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ ส-) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) อยู่ดีกินดี เช่น เดี๋ยวนี้เขาสบายขึ้น ลูก ๆ ทำงานหมดแล้ว, เป็นสุขกายสุขใจ เช่น เวลานี้เขาสบายแล้ว เพราะมีฐานะดีขึ้น ไม่มีวิตกกังวลใด ๆ.
(2) สะดวก เช่น ทำตามสบายไม่ต้องเกรงใจ มีรถส่วนตัวสบายกว่าไปรถประจำทาง, มักใช้เข้าคู่กับคำ สุข หรือ สะดวก เป็น สุขสบาย หรือ สะดวกสบาย.
(3) พอเหมาะพอดี เช่น เก้าอี้ตัวนี้นั่งสบาย.
(4) ไม่ลำบากกาย เช่น เขาทำงานสบายขึ้น ไม่ต้องแบกหามเหมือนเมื่อก่อน.
(5) ไม่เจ็บไม่ไข้ เช่น เวลานี้เขาสบายดี ไม่ป่วยไข้.
(6) มีความพอใจเมื่อได้สัมผัส เช่น สบายหู สบายตา สบายกาย.
อาวาส + สปฺปาย = อาวาสสปฺปาย (อา-วา-สะ-สับ-ปา-ยะ) แปลว่า “อาวาสเป็นสัปปายะ” คือที่อยู่เป็นที่สบาย เหมาะแก่การเจริญธรรม
“อาวาสสปฺปาย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาวาสสัปปายะ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [286] สัปปายะ 7 บอกไว้ว่า
…………..
1. อาวาสสัปปายะ (ที่อยู่อันเหมาะ เช่น ปลอดภัย ไม่พลุกพล่านจอแจ — Āvāsa–sappāya: suitable abode) บางแห่งเรียก เสนาสนสัปปายะ
…………..
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “อาวาสสปฺปายตา” แปลไว้ว่า suitability of residence (ความสบายของที่อยู่)
ขยายความ :
ขอนำคำขยายความคำว่า “อาวาสสัปปายะ” ที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาเสนอในที่นี้ หากมีถ้อยคำใดอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ พึงศึกษาหาความรู้ต่อไป พึงตั้งอารมณ์ว่าอ่านเพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นมหากุศล
ข้อความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นดังนี้ –
(สำนวนแปลของนาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต อดีตหัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ, ผู้สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคด้วยวิธีสอบข้อเขียนได้เป็นคนแรกของประเทศไทย)
…………..
เมื่อพระโยคาวจรนั้นอยู่ในอาวาสใด นิมิตที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้นก็ดี ที่เกิดแล้วเสื่อมหายไปเสียก็ดี สติที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่นด้วย จิตที่ยังไม่เป็นสมาธิก็ไม่เป็นสมาธิด้วย อาวาสนี้นับเป็นอสัปปายะ
เมื่อเธออยู่ในอาวาสใด นิมิตเกิดและถาวรด้วย สติก็ตั้งมั่น จิตก็เป็นสมาธิ ดุจพระปธานิยติสสเถระผู้อยู่ ณ นาคบรรพต อาวาสนี้นับเป็นสัปปายะ
เพราะเหตุนั้น ในวิหารใด อาวาส (ที่อยู่) มีหลายแห่ง พระโยคาวจรพึง (ลอง) อยู่ในอาวาสเหล่านั้นแห่งละ 3 วัน จิตของเธอเป็นเอกัคคะ (ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว)ในอาวาสแห่งใด ก็อยู่ในอาวาสแห่งนั้น
เพราะความที่มีอาวาสเป็นสัปปายะแท้ๆ ภิกษุ 500 รูปผู้อยู่ในถ้ำจูฬนาคในตัมพปัณณิทวีป ถือเอากรรมฐาน (บำเพ็ญอยู่) ในถ้ำจูฬนาคนั้นแหละ ได้บรรลุพระอรหัต (ทั้งหมด) ส่วนพระอริยบุคคลเบื้องต่ำมีพระโสดาบันเป็นอาทิ และท่านผู้ได้อริยภูมิในที่อื่นแล้ว (มา) บรรลุพระอรหัตในถ้ำจูฬนาคนั้นคณนามิได้ แม้ในอาวาสสัปปายะแห่งอื่นๆ เช่นจิตตลบรรพตวิหารก็เช่นกัน
ที่มา:
วิสุทธิมรรคฉบับบาลี ภาค 1 หน้า 161
สุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 2 หน้า 101
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้รู้สมัยนี้แนะนำว่า พึงอยู่ในที่ซึ่งมีผู้เห็นคุณค่าของเรา
: ผู้รู้สมัยพระพุทธเจ้าแนะนำว่า พึงอยู่ในที่ซึ่งเราจะเห็นธรรม
#บาลีวันละคำ (3,880)
26-1-66
…………………………….
……………………………