บาลีวันละคำ

วิบาก (บาลีวันละคำ 4,249)

วิบาก

จากอินเดียมาไทยไกลจนกลับบ้านไม่ถูก

วิบาก” บาลีเป็น “วิปาก” อ่านว่า วิ-ปา-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปจฺ (ธาตุ = ทำให้สิ้นสุด; หุง, ต้ม; สุก, ไหม้) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(จฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ปจฺ > ปาจ), แปลง ที่สุดธาตุเป็น (ปจฺ > ปาจ > ปาก)

: วิ + ปจฺ = วิปจฺ + = วิปจณ > วิปจ > วิปาจ > วิปาก แปลตามศัพท์ว่า (1) “เป็นที่สุดแห่งเหตุ” (2) “สิ่งที่สุกแล้วอย่างไม่เหลือ” (คือไม่มีส่วนที่ยังดิบเหลืออยู่)

วิปาก” (ปุงลิงค์) หมายถึง ผล, การสำเร็จผล, ผลิตผล; ผลที่เกิดขึ้น, ผลที่เกิดจากเหตุหรือผลของกรรม, ผลกรรม, (fruit, fruition, product; result, effect, retribution)

ฝรั่งที่ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความหมายของ “วิปาก” ไปอีกว่าเปรียบเหมือน reward or punishment (รางวัลหรือการถูกลงโทษ) ที่ได้รับ แล้วแต่ว่าจะทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

วิปาก” ในบาลี เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “วิบาก” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิบาก : (คำนาม) ผล, ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วอันทําไว้แต่อดีต, เช่น กุศลวิบาก กรรมวิบาก. (คำวิเศษณ์) ลำบาก เช่น ทางวิบาก วิ่งวิบาก. (ป., ส. วิปาก).”

ตัวอย่างที่พจนานุกรมฯ ยกมามี 2 คำ คือ “ทางวิบาก” และ “วิ่งวิบาก” คำว่า “ทางวิบาก” พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บไว้เป็นลูกคำ แต่เก็บคำว่า “วิ่งวิบาก” บอกไว้ดังนี้ –

วิ่งวิบาก : (คำนาม) การแข่งขันชนิดหนึ่ง มี ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งระยะทาง ๓,๐๐๐ เมตร ผู้แข่งขันต้องวิ่งกระโดดข้ามรั้ว ๒๘ รั้ว กระโดดข้ามบ่อน้ำหรือลุยน้ำในบ่อ ๗ บ่อ ใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ อีกประเภทหนึ่งระยะทาง ๒,๐๐๐ เมตร ใช้สำหรับการแข่งขันประเภทเยาวชน ผู้แข่งขันต้องวิ่งกระโดดข้ามรั้ว ๑๘ รั้ว กระโดดข้ามบ่อน้ำหรือลุยน้ำในบ่อ ๕ บ่อ ใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ.”

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “วิ่งวิบาก” เกิดมาจากคำว่า “วิบาก” ตามความหมายที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ลำบาก” นั่นเอง

โปรดทราบว่า ในภาษาบาลี “วิปาก > วิบาก” ไม่ได้หมายถึง ลำบาก

มีข้อที่ขอชวนให้พิจารณาดังนี้ –

(1) ในภาษาไทย มักเข้าใจกันว่า “วิบาก” คือลำบาก เช่น ทางวิบาก วิ่งวิบาก หรือเมื่อทำอะไรแล้วไม่ราบรื่น ต้องประสบกับความทุกข์ยาก เดือดร้อน ก็จะพูดว่าเป็น “วิบากกรรม” และหมายถึงเป็นผลของกรรมชั่ว

(2) “วิบาก” ความหมายเดิม ไม่ได้แปลว่า “ลำบาก” แต่หมายถึง “ผลที่เกิดขึ้น” และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผลร้าย แม้ผลดี ก็เรียกว่า “วิบาก” เหมือนกัน

(3) กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)

(4) กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น และไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะมีใครเชื่อเช่นนั้น

(5) หน้าที่ของเรา คือ ทำความเข้าใจให้ตรงกับความจริง ไม่ใช่เกณฑ์ความจริงให้ตรงกับที่เราเข้าใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้ภาษาให้ตรงตามสมมุติ

: แต่อย่าหลงสมมุติ

#บาลีวันละคำ (4,249)

30-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *