เสรีภาพทางความคิดเห็น
เสรีภาพทางความคิดเห็น
————————–
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ – วันกองทัพเรือ (วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จไปทรงเปิดโรงเรียนนายเรือซึ่งในเวลานั้นมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี) – ผมโพสต์เรื่อง “จะเอาสุขภาพดีไปทำอะไร” เล่าถึงชีวิตประจำวันของผม สาระสำคัญตอนหนึ่งพูดถึงว่า ผมไม่ต้องกังวล ไม่ต้องดิ้นรนเรื่องการทำมาหากิน เพราะได้รับพระราชทานบำนาญเลี้ยงชีพทุกเดือน
…………………………………..
จะเอาสุขภาพดีไปทำอะไร
…………………………………..
มีญาติมิตรแสดงความคิดเห็น ซึ่งผมเห็นว่าควรจะได้แสดงความคิดเห็นต่อยอดออกไปอีก เพื่อให้เกิดแนวคิดที่จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น
บนพื้นฐาน-ชวนกันคิดนะครับ ไม่ใช่ชวนทะเลาะกัน
ญาติมิตรท่านหนึ่งท่านว่าดังนี้
…………………………………
นอกจากการดิ้นรนส่วนตน รัฐต้องมีระบบช่วยประชาชนให้อยู่ดีกินดีมีสวัสดิการถ้วนหน้าจึงจะมีเวลาคิดเรื่องบุญกุศลอย่างไปพ้นจากการดิ้นรนทำมาหากินที่มีแต่หนี้สินท่วมท้นทุกวัน
…………………………………
ญาติมิตรอีกท่านหนึ่งท่านว่าดังนี้
…………………………………
ท่านโชคดี มีบำนาญ ไม่ต้องดิ้นรน พวกราษฎรตาดำๆ ต้องดิ้นรนกัน อย่าเอามาเปรียบเลย
…………………………………
ผมเป็นลูกชาวนา-เช่นเดียวกับชาวไทยสวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรในสังคมไทยเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งก็เป็นระดับการศึกษาเท่าๆ กับชาวไทยสวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรในสังคมไทย-เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
ว่าถึงสถานะทางครอบครัวก็อยู่ในระดับ “ชาวนาจน” สภาพครอบครัวใกล้ๆ กับที่คำฝรั่งเรียกว่า broken home พี่น้อง ๕ คนกระจัดกระจายกันไป พ่อแม่ก็เกือบจะอยู่ในสภาพที่คำบาลีเรียกว่า ปรกุฑฺฑํ นิสฺสาย (ปะ-ระ-กุด-ดัง นิด-สา-ยะ) ซึ่งแปลว่า “อาศัยฝาเรือนคนอื่น”
ถ้าเทียบระดับกับคนไทยทั่วไปในเวลานั้น ก็เรียกได้ว่า ฐานะของผมค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐาน
นี่คือทุนพื้นฐานที่ผมมีอยู่ในชีวิต ซึ่งก็เป็นทุนแบบเดียวกับที่คนไทยอื่นๆ ในสังคมของผมมีอยู่เวลานั้น
เพื่อนเรียนชั้นเดียวกันทั้งชายทั้งหญิงประมาณ ๒๕-๓๐ คน ถ้าเอาการออกจากโรงเรียนเมื่อจบชั้นประถมปีที่ ๔ เป็นจุดออกสตาร์ท เราก็เริ่มต้นชีวิตพร้อมๆ กัน ด้วยทุนที่มีอยู่เท่าๆ กัน
พูดภาษานักพนันก็ว่า ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกว่ากันสักเท่าไร
ถามว่า ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมานี้ หน่วยบริหารบ้านเมืองที่เรียกว่า “รัฐ” ได้ยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มช่วยพวกเราสร้างอนาคตบ้างหรือไม่-ไม่ว่าจะโดยสาธารณะเสมอหน้ากัน หรือโดยพิเศษเฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง มีไหม?
ตอบว่า โนครับ
“โน” แปลว่าไม่มี อังกฤษกับบาลีใช้คำเดียวกัน
ทุกคน-รวมทั้งผมด้วย-ปากกัดตีนถีบเอาเองทั้งสิ้น
มาถึงวันนี้ เพื่อนที่จบชั้น ป.๔ มาด้วยกันส่วนมากก็ยังคงทำนา
ถ้าเช่นนั้น แล้วผมกระเด็นมาอยู่ในฐานะ “ได้รับพระราชทานบำนาญเลี้ยงชีพทุกเดือน” ได้อย่างไร-ในเมื่อตั้งแต่ออกสตาร์ทมา รัฐก็ไม่เคยโอบอุ้มอะไรผม-เช่นเดียวกับที่ไม่เคยโอบอุ้มอะไรใครเหมือนกันทุกคน
หรือถ้าจะพูดว่ารัฐก็ให้อะไรเราเหมือนกัน
รัฐก็ให้เหมือนกันเท่ากันทุกคน
หากการที่-เพื่อนที่จบชั้น ป.๔ มาด้วยกันกับผม ตอดจนคนไทยอื่นๆ อีกนับล้านๆ ไม่ได้อยู่ในฐานะ “ได้รับพระราชทานบำนาญเลี้ยงชีพทุกเดือน” เป็นเพราะความบกพร่องในระบบการบริหารของรัฐโดยส่วนเดียวแล้วไซร้ ผมเองก็จะต้องไปอยู่ในฐานะแบบเดียวกันนั่นด้วย ใช่หรือไม่
นั่นก็แปลว่า “ความบกพร่องในระบบการบริหารของรัฐ” แทบจะไม่มีผลอะไรเลยต่อการที่ประชาชนคนหนึ่งจะได้เป็นอะไรหรือจะไม่ได้เป็นอะไร ใช่หรือไม่
และนั่นก็แปลว่า “ตัวของตัวเอง” ของแต่ละคนนั่นต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ใช่หรือไม่
………………..
บอกแล้วตั้งแต่ต้นว่า นี่เป็นการชวนกันคิด ไม่ใช่ชวนทะเลาะกัน เพราะฉะนั้น ผมจึงขอบอกไว้เสียเลยว่า การที่ประชาชนแต่ละคนจะได้เป็นอะไรหรือจะไม่ได้เป็นอะไรนั้น รัฐจะต้องรับผิดชอบด้วยอย่างแน่นอน รัฐจะปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยเหตุผลใดๆ ก็ฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น เราทุกคนย่อมมีสิทธิ์ที่จะตำหนิติเตียนรัฐ หรือจะติเตียนรัฐบาลด้วยก็ได้-อย่างเต็มที่
พร้อมกันนั้น ใครมีสติปัญญาดี หวังดีต่อบ้านเมือง ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็ช่วยกันเสนอแนะออกมาว่า รัฐหรือรัฐบาลจะต้องทำอย่างไร ต้องแก้ปัญหาอย่างไร สภาพที่ไม่พึงปรารถนาจึงจะหมดไป และสภาพที่พึงปรารถนาจึงจะเกิดมีขึ้น
และควรเป็นข้อเสนอแนะที่ทำได้จริง ปฏิบัติจริงได้
…………………………………
ประชาชนอยู่ดีกินดีมีสวัสดิการถ้วนหน้า – รัฐต้องทำอย่างนี้ๆ
ราษฎรตาดำๆ ไม่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบไปตามลำพัง – รัฐต้องทำอย่างนี้ๆ
…………………………………
และถ้ารัฐไม่ทำ หรือทำไม่ได้ จะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ก็ต้องเสนอแนะหนทางแก้ไขต่อไปอีกว่า ใครจะต้องทำอะไรและทำอย่างไร รัฐที่ดื้อด้านไม่ทำสิ่งที่ควรทำนั้นจึงจะลงมือทำได้จริงๆ
…………………………………
อย่าให้เจอทางตันเหมือนผม
ผมเสนอแนะผู้บริหารการพระศาสนาให้ทำอย่างนั้นๆ ทำอย่างนี้ๆ
เสนออะไร ท่านไม่ทำสักอย่าง
ก็เลยเจอทางตัน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีท่านจึงจะลงมือทำอย่างที่เราเสนอ
…………………………………
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ แต่ละคนจะต้องทำอะไรกับตัวเองด้วย อย่างที่เราพูดกันว่า-ต้องช่วยตัวเองด้วย
อย่าหวังพึ่งการบริหารจัดการของรัฐท่าเดียว
สภาพไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคน ถ้าตำหนิรัฐเท่าใด ก็ควรตำหนิตัวเองเท่านั้นด้วย
อนึ่ง พึงระลึกถึงพระพุทธพจน์บทนี้ไปพร้อมกัน:
…………………………………
กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย.
กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทรามและประณีต
ที่มา: จูฬกัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๕๙๖
…………………………………
ใครจะอ้างว่า “กรรม” คือการกระทำในพระพุทธพจน์บทนี้หมายถึง การกระทำของรัฐ หรือของรัฐบาล หรือของคนอื่นเท่านั้น
การกระทำของกู ไม่เกี่ยว
ก็อ้างไป อ้างได้
เป็นเสรีภาพทางความคิดเห็น
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
๑๙:๑๑
…………………………………