บาลีวันละคำ

ปฏิ+กิริยา (บาลีวันละคำ 4,251)

ปฏิ+กิริยา

เขียนผิดร่ำไป เพราะเข้าใจเอาเอง

คำปกติคือ “ปฏิกิริยา” 

ในที่นี้ใส่เครื่องหมายบวกกลางคำเป็น “ปฏิ+กิริยา” เพื่อให้เห็น “ปฏิ” และ “กิริยา” สะดุดตาเป็นที่สังเกตเฉพาะในกรณียกขึ้นมาศึกษาในที่นี้เท่านั้น

ปฏิ+กิริยา” คำนี้ มักจะมีผู้เขียนผิดเป็น “ปฏิกริยา” > “ปฏิ+กริยา

ดูกันชัด ๆ ว่า คำหลัง “ปฏิ” เขียนเป็น “-กริยา” ไม่ใช่ “-กิริยา

ถามว่า ไปเอาคำว่า “-กริยา” มาจากไหน?

ตอบว่า เอามาจากความเข้าใจเอาเอง ไม่ได้ศึกษา

ถ้าจะศึกษาก็แสนจะสะดวก นั่นคือเปิดพจนานุกรม 

สมัยก่อนต้องเปิดจากหนังสือที่เป็นเล่มกระดาษ แต่ในยุคไฮเทคนี้แสนจะสะดวก เปิดอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอโทรศัพท์ได้เลย

เปิดไปที่คำว่า “กริยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กริยา : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม. (ส. กฺริยา; ป. กิริยา).”

พจนานุกรมฯ บอกไว้ชัดเจนว่า “กริยา” เป็น “คำที่ใช้ในไวยากรณ์” (ในพจนานุกรมฯ เขียนเป็นคำย่อว่า “ไว”)

แต่คำว่า “ปฏิ+กริยา” > “ปฏิกริยา” ไม่ใช้คำที่ใช้ในไวยากรณ์ เพราะในตำราภาษาไทยไม่มีคำชนิดใด ๆ หรือกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ใด ๆ ที่มีชื่อเรียกว่า “ปฏิกริยา” 

มีแต่ “คำกริยา” หมายถึง คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม เช่น “ฉันกินข้าว”

“ฉัน” เป็นคำสรรพนาม ทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค

“กิน” เป็นคำกริยา แสดงอาการของประธาน คือ “ฉันกิน”

“ข้าว” เป็นคำนาม ทำหน้าที่เป็นกรรม คือสิ่งที่ถูกกินในประโยค

คำที่ใช้เรียกคำแสดงอาการเช่นนี้แหละ เรียกว่า “กริยา” 

โปรดสังเกตว่า เขียนว่า “กริยา” ไม่ใช่ “กิริยา

แล้ว “กิริยา” มีความหมายว่าอย่างไร?

เปิดไปที่คำว่า “กิริยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กิริยา : (คำนาม) การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท, เช่น กิริยานอบน้อม กิริยาทราม. (ป.).”

การกระทำทั่วไป เช่นอาการที่แสดงออกมาทางกาย เรียกว่า “กิริยา” รวมทั้งการกระทำตอบสนอง ที่เรียกว่า “ปฏิ+กิริยา” (> ปฏิกิริยา) ก็คือ “กิริยา” คำเดียวกันนี้

โปรดสังเกตว่า เขียนว่า “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา

แต่ที่สำคัญ ผู้ใช้คำว่า “ปฏิ+กริยา” (> ปฏิกริยา) ก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้มีความหมายถึง “กริยา” อันเป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์แต่ประการใดเลย แต่ตั้งใจจะให้หมายถึงการกระทำตอบสนอง ซึ่งความหมายนี้ใช้คำว่า “-กิริยา” ไม่ใช่ “-กริยา” 

แต่ที่เขียนเป็น “ปฏิกริยา” ก็เพราะเข้าใจเอาเองว่าคำนี้ใช้ว่า “-กริยา” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอันเกิดจากการไม่ได้ศึกษา

จับหลักให้เข้าใจง่าย ๆ แยกความหมายชัด ๆ ก็ให้เทียบคำอังกฤษ –

กริยา” คือ verb

กิริยา” คือ action

เมื่อจะให้หมายถึง verb ก็ใช้ “กริยา” 

เมื่อจะให้หมายถึง action ก็ใช้ “กิริยา

ถ้าศึกษาสักนิด เปิดหาต่อไป ก็จะพบว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปฏิกิริยา” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

ปฏิกิริยา : (คำนาม) การกระทำตอบสนอง; การกระทำต่อต้าน; ผลของการกระทำซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิริยาสะท้อนมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง; คำที่ใช้ในเคมี) การเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของสาร. (ป. ปฏิ ว่า ตอบ, ทวน, กลับ + กิริยา ว่า การกระทำ). (อ. reaction).”

จะเห็นได้ว่า พจนานุกรมฯ มีพร้อมหมด ทั้ง “กริยา” ทั้ง “กิริยา” ทั้ง “ปฏิกิริยา” คำไหนมีความหมายอย่างไร บอกไว้ชัดเจน

กิริยา” (action) มีในพจนานุกรมฯ

ปฏิกิริยา” (reaction) มีในพจนานุกรมฯ

กริยา” (verb) มีในพจนานุกรมฯ 

แต่ “ปฏิกริยา” สะกดแบบนี้ไม่มีในพจนานุกรมฯ ไม่มีใช้ในภาษาไทย

แล้วไปเอาคำว่า “ปฏิกริยา” มาจากไหน?

ถ้าขยันเปิดพจนานุกรม-อันเป็นการศึกษาวิธีหนึ่ง ก็จะได้ความรู้ เขียนถูก สะกดถูก ใช้ถูก คำนี้ไม่มีอะไรลี้ลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนไว้ตรงไหนเลย

น่าประหลาดนัก วิธีศึกษาหาความรู้ง่าย ๆ แบบนี้ ไฉนเราจึงไม่ทำกัน?

ขยายความ :

ความรู้เกี่ยวกับศัพท์ :

(๑) คำว่า “ปฏิ-” 

ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)

(๒) คำว่า “กิริยากริยา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า “กิริยา” เป็นคำบาลี “กริยา” เป็นคำสันสกฤต

ความจริงในบาลีมีรูปศัพท์ทั้ง “กิริย” “กิริยา” และ “กฺริยา” (มีจุดใต้ กฺ) รากศัพท์เดียวกัน รากศัพท์ที่เป็นหลักคือ กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ (กรฺ > กิรฺ), ลง อิ อาคม ที่ (ก)- (กรฺ > กิรฺ > กิริ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กรฺ > กิร + อิ = กิริ + ณฺย = กิริณฺย = กิริย 

: กรฺ > กิร + อิ = กิริ + ณฺย = กิริณฺย > กิริย + อา = กิริยา 

: กรฺ + อิ = กริ + ณฺย = กริณฺย > กริย + อา = กริยา > กฺริยา (เปลี่ยน ก ให้เป็นอัฒสระ > มีจุดใต้ กฺ อ่านว่า กฺริ- เสียงคล้ายคำไทยว่า กริ๊ก)

กิริยกิริยากฺริยา” แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” ใช้ในความหมายหลายหลาก คือ การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป, การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม (action, performance, deed; the doing, promise, vow, dedication, intention, pledge; justice)

รูปศัพท์ที่ใช้ทั่วไปคือ “กิริยา” ส่วน “กิริย” และ “กฺริยา” มีที่ใช้น้อย

ส่วน “กริยา” ในสันสกฤตเป็น “กฺริยา” (มีจุดใต้ กฺ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กฺริยา : (คำนาม) กริยา, การ, การกระทำ; อุบาย; ต้น, อาทิ, การตั้งขึ้น, การริเริ่มหรือลองทำดูที; การสเดาะเคราะห์หรือบรรเทาโทษ; การศึกษา; การบูชาหรือนมัสยา; วิจาร; กายกรรม; การวางยาบำบัดโรค, การรักษาพยาบาล; เครื่องมือ; อุตตรการย์หรืองารมโหรศพ; ศานติกริยา, เช่นสนานหรือการชำระกาย, ฯลฯ; การไต่สวนของศาล; กริยา (คำแสดงความกระทำ); กริยานาม; a act, action, acting; means; expedient; beginning or undertaking; atonement; expiation; study; worship; disquisition; bodily action; physical treatment, remedying; instrument; implement; obsequies, funeral rites; purificatory rites, as ablution, &c.; judicial investigation; a verb; a noun of action or verbal noun.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ขยันเปิดพจนานุกรมกันสักนิด

: คำเขียนผิดก็จะหมดไปเอง

#บาลีวันละคำ (4,251)

1-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *