สะพานสิริลักขณ์ (บาลีวันละคำ 4,252)
สะพานสิริลักขณ์
เจ้าของบ้านเองยังเขียนผิด
อ่านว่า สะ-พาน-สิ-หฺริ-ลัก
“สะพาน” เป็นคำไทย
“สิริลักขณ์” เป็นคำบาลี แยกศัพท์เป็น สิริ + ลักขณ์
(๑) “สะพาน” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สะพาน : (คำนาม) สิ่งที่สร้างหรือทำขึ้นสำหรับข้ามแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น, สิ่งที่สร้างหรือทำยื่นลงในน้ำสำหรับขึ้นลง, ตะพาน ก็ว่า, ไม้ที่ทอดระหว่างหัวเสาสำหรับรับคอสองของอาคารที่เป็นตึกโบราณ, โดยปริยายหมายความว่า สื่อเชื่อมโยง เช่น ตีสนิทกับน้องชายเพื่อเป็นสะพานไปรู้จักกับพี่สาว.”
(๒) “สิริ”
บาลีอ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” –รี สระอี อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ร ปัจจัย + อิ หรือ อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ + ร = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
1 ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)
2 โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)
3 เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)
4 (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)
“สิริ” บาลี ใช้ในภาษาไทยเป็น “สิริ” ตามบาลี ตรงกับสันสกฤตว่า “ศฺรี” ที่เราใช้ในภาษาไทยเป็น “ศรี” (อ่านว่า สี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สิริ ๒, สิรี : (คำนาม) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม. (ป.; ส. ศฺรี).
(2) ศรี ๑ : (คำนาม) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง, ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (ส. ศฺรี; ป. สิริ, สิรี).
อันที่จริง สันสกฤตก็มีคำว่า “ศิริ” ศ ศาลา แต่ความหมายเป็นคนละอย่างกับ “สิริ” ส เสือ ในบาลี
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศิริ : (คำนาม) กระบี่, ดาพ; ศร; ผู้ฆ่า; a sword; an arrow; a killer.”
แถม :
คำว่า “สิริมงคล” มักมีผู้สะกดเป็น “ศิริมงคล” จะอ้างว่า “สิริ” (ส เสือ) เขียนแบบบาลี “ศิริ” (ศ ศาลา) เขียนแบบสันสกฤต ก็ไม่ใช่ เพราะบาลี “สิริ” สันสกฤตเป็น “ศฺรี” ไม่ใช่ “ศิริ” และ “ศฺรี” กับ “ศิริ” ในสันสกฤตเป็นคนละคำกัน
“ศฺรี” = มิ่ง, สิริมงคล
“ศิริ” = กระบี่, ดาบ, ศร, ผู้ฆ่า
ดังนั้น ถ้าเขียนเป็น “ศิริมงคล” ก็จะต้องแปลว่า :
– กระบี่อันเป็นมงคล หรือมงคลอันเกิดจากกระบี่
– ศรอันเป็นมงคล หรือมงคลอันเกิดจากศร
– ผู้ฆ่าอันเป็นมงคล หรือมงคลอันเกิดจากผู้ฆ่า
ใครต้องการจะให้มีความหมายเช่นนี้บ้าง?
(๓) “ลักขณ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “ลกฺขณ” อ่านว่า ลัก-ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”
“ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ลักขณะ” ซึ่งมาจาก “ลกฺขณ” ในบาลี บอกไว้ดังนี้ –
“ลักขณะ : (คำนาม) ลักษณะ, เครื่องแสดงสิ่งหนึ่งให้เห็นว่าต่างกับอีกสิ่งหนึ่ง, คุณภาพ; ประเภท. (ป.; ส. ลกฺษณ).”
“ลกฺขณ” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”
ในที่นี้ “ลกฺขณ” ใช้ตามรูปบาลี และต้องการให้อ่านว่า ลัก จึงสะกดเป็น “ลักขณ์”
สิริ + ลักขณ์ = สิริลักขณ์ แปลตามศัพท์ว่า “ลักษณะอันเป็นมงคล”
ขยายความ :
คำว่า “สิริลักขณ์” ที่อยู่ในชื่อ “สะพานสิริลักขณ์” เป็นชื่อบุคคล ตามหลักฐานที่ปรากฏคือชื่อ นายสิริลักขณ์ จันทรางศุ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองตอนที่อยู่ด้านเหนือของตัวเมืองราชบุรี ทางราชการจึงตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานสิริลักขณ์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ
ชื่อสะพานนี้มักมีผู้สะกดเป็น “สะพานสิริลักษณ์” ใช้ ษ ฤษีที่คำว่า “ลักษณ์” อันเป็นคำที่รู้กันเป็นสาธารณะว่า “ลักษณ์” สะกดอย่างนี้
แต่ที่คนไม่รู้กันเป็นสาธารณะก็คือ ชื่อสะพานแห่งนี้เป็น “อสาธารณนาม” ตรงกับคำอังกฤษว่า proper name คือชื่อเฉพาะ จะสะกดเหมือนสาธารณะทั่วไปไม่ได้ ต้องสะกดตามเจ้าของชื่อ
เจ้าของชื่อ คือ นายสิริลักขณ์ จันทรางศุ
-ลัก-ข-ณ์ ข ไข่
ไม่ใช่ -ลัก-ษ-ณ์ ษ ฤษี
ชื่อสะพานแห่งนี้จึงสะกดเป็น “สะพานสิริลักขณ์” -ลัก-ข-ณ์ ข ไข่
ไม่ใช่ “สะพานสิริลักษณ์” -ลัก-ษ-ณ์ ษ ฤษี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนที่อื่นเขียนชื่อสะพานนี้ผิด
โปรดให้อภัย (แต่อย่าเขียนผิดอีก)
: คนที่อยู่ในตัวเมืองราชบุรีเขียนชื่อสะพานนี้ผิด
จะโปรดให้คิดว่ากระไร
#บาลีวันละคำ (4,252)
2-2-67
…………………………….
…………………………….