สัตยาเคราะห์ (บาลีวันละคำ 619)
สัตยาเคราะห์
(คำสันสกฤตไทย)
อ่านว่า สัด-ตะ-ยา-เคฺราะ
สันสกฤตเป็น “สตฺยาคฺรห”
ประกอบด้วย สตฺย + คฺรห
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
สตฺย : (คุณศัพท์) ‘สัตย์’ จริง, มีสัตย์; วิศุทธ์, สุจริต, ศุทธมติ, หรือกล่าวความจริง; true; sincere, honest, speaking the truth.
สตฺย : (คำนาม) ‘สัตย์’ ความจริง; ประติชญาหรือคำสบถ; การกล่าวความจริง; ความวิศุทธิหรือความจริงใจ true; an oath; speaking the truth; sincerely, or veracity.
คฺรห : (คำนาม) การถือเอา, การจับ, การรับ taking, seizure, acceptance.
โปรดสังเกต สตฺย + คฺรห = สตฺยาคฺรห ไม่ใช่ สตฺยคฺรห
“สตฺยาคฺรห” ถ้าเทียบบาลีจะเป็น “สจฺจคห” (สัด-จะ-คะ-หะ) < สจฺจ + คห
“สจฺจ” เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true) เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration)
“คห” แปลว่า ผู้จับ, การจับ, การคว้า, การถือเอา, การยึดถือ, การได้มา (seizer, seizure, grasp, hold, acquisition)
“สตฺยาคฺรห – สัตยาเคราะห์” ถอดเป็นอักษรโรมันว่า Satyagraha
สารานุกรม Britannica ให้ความหมายว่า “insistence on truth” หรือ “zeal for truth” (ยึดมั่นในสัตย์ หรือ ยืนหยัดเพื่อความจริง)
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“สัตยาเคราะห์ : การยึดความจริงเป็นหลักการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม โดยใช้วิธีดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือคําสั่งที่ไม่ยุติธรรม แต่ไม่ใช้วิธีรุนแรง”
—————-
อาวุธของนักสัตยาเคราะห์ คือ ความไม่รุนแรง ความมีวินัยในตนเอง ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละตนโดยไม่หวาดหวั่น และการแผ่ความรักความเมตตาแด่เหล่าผู้คนทั้งมวล
มหาตมะ คานธี แห่งอินเดีย เป็นผู้สร้างสรรค์พัฒนาลัทธิสัตยาเคราะห์
สัตยาเคราะห์ : แม้จะนำไปสู่ความตาย
: แต่ก็จะฝากรอยยิ้มไว้บนริมฝีปากน้อยๆ
: และไร้ร่องรอยแห่งความเกลียดชังในหัวใจ
——————-
(ตามคำขอของ Patiwat Kamonpet)
25-1-57