บาลีวันละคำ

อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ (บาลีวันละคำ 4,297)

อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ 

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

เป็นคำที่นักศึกษาธรรมะ-โดยเฉพาะพระอภิธรรม-เข้าใจกันและพูดกันติดปาก

(๑) “อุปปาทะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อุปฺปาท” อ่านว่า อุบ-ปา-ทะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น นอก) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (ปทฺ > ปาท), ซ้อน ปฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ปฺ + ปทฺ)

: อุ + ปฺ + ปทฺ = อุปฺปทฺ + = อุปฺปทณ > อุปฺปท > อุปฺปาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิดขึ้น” หมายถึง การอุบัติ, การปรากฏขึ้น, การเกิด (coming into existence, appearance, birth)

(๒) “ฐิติ

บาลีอ่านว่า ถิ-ติ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = หยุดการไป, ยืน, ตั้งอยู่) + ติ ปัจจัย, แปลง ฐา เป็น ฐิ

: ฐา + ติ = ฐาติ > ฐิติ แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งอยู่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ฐิติ” ว่า state, stability, steadfastness; duration, continuance, immobility; persistence, keeping up (สถานะ, เสถียรภาพ, ความแน่วแน่หรือแน่นอน; ความยาวนาน, การต่อเนื่อง, การไม่เคลื่อนไปเคลื่อนมา; ความไม่ละลด, การทำอยู่เสมอ)

(๓) “ภังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ภงฺค” อ่านว่า พัง-คะ รากศัพท์มาจาก ภิชฺ (ธาตุ = แตก, ทำลาย, พัง) + (อะ) ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุแล้วลงนิคหิตอาคม, แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง ชฺ เป็น  

: ภิชฺ + = ภิช > ภช > ภํช > ภงฺช > ภงฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การแตกทำลาย

ภงฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การหัก, การตัดขาด (breaking, breaking off)

(2) การทำลาย, การเลิกล้ม, การแตกทำลาย (breaking up, dissolution, disruption)

ขยายความ :

อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ” (อุปฺปาท ฐิติ ภงฺค) เป็นชุดของคำที่ใช้อธิบายกระบวนการเกิดขึ้นของจิต ที่เรียกว่า “ขณะจิต” แปลว่า “ขณะแห่งความคิด” คือกระบวนการเกิดขึ้นของความคิดในชั่วขณะหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบประกอบด้วยอาการอย่างไรบ้าง โดยประกอบศัพท์เป็น “อุปปาทขณะ ฐิติขณะ ภังคขณะ

หาความรู้คำว่า “ขณะ” กันก่อน

คำว่า “ขณะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ขณ” อ่านว่า ขะ-นะ (“ขณะ” ภาษาไทยอ่านว่า ขะ-หฺนะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เวลาที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์” (2) “เวลาเป็นที่สิ้นไปแห่งอายุของเหล่าสัตว์” หมายถึง ครู่หนึ่ง, เวลาชั่วครู่ (a short moment, wink of time) 

: ขณ > ขณะ > ครู่หนึ่ง ยาวนานแค่ไหน?

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงไว้ว่า –

“ทสหิ อจฺฉราหิ องฺคุลิโผฏฺเฐหิ ลกฺขิโต กาโล ขโณ นาม = เวลาที่กำหนดด้วยการดีดนิ้วมือ 10 ครั้ง ชื่อว่าขณะ”

ลองนึกถึงภาพคนดีดนิ้วมือเข้ากับจังหวะเพลง ไม่ว่าจะเป็นจังหวะเร็วหรือช้า อึดใจเดียวก็ 10 ครั้งแล้ว 

แต่ในทางธรรม ท่านแสดงละเอียดยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ จิต คือความคิดที่เกิดขึ้น 1 ขณะ ประกอบด้วย 3 อนุขณะ (ขณะย่อย) คือ –

(1) อุปปาทขณะ = ขณะที่เกิดขึ้น (arising; genesis)

(2) ฐิติขณะ = ขณะที่ดำรงอยู่ (duration; static moment; the moment of standing)

(3) ภังคขณะ = ขณะที่ดับไป (dissolution; cessation; dissolving or waning moment)

รวม 3 อนุขณะ (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) หมุนเวียนเรื่อยไป นับเป็น 1 ขณะของจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเวลาที่รวดเร็วนักหนา

นอกจากเป็นคำอธิบายกระบวนการเกิดขึ้นของจิตแล้ว ยังนำมาใช้ในการพิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่งอีกด้วย พูดเป็นคำไทยว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” 

เกิดขึ้น = อุปปาทะ

ตั้งอยู่ = ฐิติ

ดับไป = ภังคะ

ในกระบวนการพิจารณาก็มีคำพูดว่า สรรพสิ่ง –

เกิดขึ้นในเบื้องต้น (อุปปาทะ)

ตั้งอยู่ในท่ามกลาง (ฐิติ)

แตกสลายไปในที่สุด (ภังคะ)

การพิจารณาเช่นนี้ มิใช่เพื่อให้หดหู่ห่อเหี่ยวหมดเรี่ยวแรง คอยแต่จะตายวันตายพรุ่ง ดังที่คนส่วนหนึ่งมักจะมองแนวคิดพิจารณาเช่นนี้ว่าเป็นอย่างนั้น

แต่พิจารณาเช่นนี้เพื่อเตือนสติ จะได้ไม่ประมาทมัวแต่เพลิดเพลินกับชีวิตวันวัยไปวัน ๆ จะได้เร่งขวนขวายทำกิจที่ควรทำโดยไม่ชักช้า ชีวิตอันสั้นน้อยนิดจะได้มีค่าคุ้มกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งสมมุติกันว่าประเสริฐกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าลังเลที่จะทำบุญ 

: เพราะชีวิตกำลังขาดทุนอยู่ทุกขณะ

#บาลีวันละคำ (4,297)

18-3-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *