ฉันในบาตร (บาลีวันละคำ 4,312)
ฉันในบาตร
ไม่ใช่เรื่องขำขันหรือมุกตลก
เมื่อเดือนกันยายน 2566 มีข่าวพระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปนั่งในบาตรแล้วฉันอาหาร พระภิกษุรูปนั้นอธิบายว่า –
…………..
… ฉันพอเป็นพิธีนิดหน่อย ให้เห็นว่าเป็นการฉันข้าวในบาตรจริง ๆ …
… คิดว่าไม่ผิด ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ เป็นการปฏิบัติจริง …
… ไม่คิดว่าผิดอะไร เพียงแต่ทำให้เห็นตามคำชาวบ้านพูดเปรียบเปรยว่า “พระฉันข้าวในบาตร” …
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 12 ก.ย. 2566 16:30 น.
…………..
ถามว่า “การปฏิบัติจริง” ของการ “ฉันในบาตร” คือทำอย่างไร?
เพื่อไม่ให้ความหมายดิ้นได้ ต้องจำกัดความไปตั้งแต่ต้นเลยว่า คำว่า “ฉัน” หมายถึง กิน (eating) เป็นคำที่ใช้สำหรับพระภิกษุสามเณร ไม่ใช่สรรพนามที่หมายถึงตัวผู้พูดคือ ข้าพเจ้า ผม กระผม ดิฉัน กู (I)
ความหมายตามเจตนาของคำว่า “ฉันในบาตร” คือเอาอาหารใส่ลงในบาตร แล้วหยิบหรือตักอาหารจากบาตรนั้นฉัน
“ฉันในบาตร” ไม่ได้หมายความว่า ตัวพระภิกษุสามเณรลงไปอยู่ในบาตร แล้วฉันอาหาร
คนทั่วไปที่พอรู้ขนบธรรมเนียมพระย่อมเข้าใจได้ว่า “ฉันในบาตร” คือเอาอาหารใส่ลงในบาตร แล้วหยิบหรือตักอาหารจากบาตรนั้นฉัน ไม่มีใครเข้าใจไปว่า “ฉันในบาตร” คือตัวพระภิกษุสามเณรลงไปอยู่ในบาตร แล้วฉันอาหาร เพราะการทำเช่นนั้นย่อมเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ
เพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น ขอให้เทียบกับคำว่า “ยิงคนตาย”
ความหมายที่เข้าใจกัน คำว่า “ยิงคนตาย” คือ ใช้ปืนยิงคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นเหตุให้คนที่ถูกยิงนั้นเสียชีวิต
มีผู้เอาไปตีความหมายใหม่ว่า ใช้ปืนยิงไปที่คนซึ่งตายแล้ว นี่คือ “ยิงคนตาย”
จะเห็นได้ว่า การตีความหมายใหม่เช่นนี้ไม่ใช่ความหมายตามเจตนาของคำว่า “ยิงคนตาย”
ข้อนี้ฉันใด
คำว่า “ฉันในบาตร” ก็ฉันนั้น
“ยิงคนตาย” ไม่ได้หมายถึงยิงคนที่ตายแล้ว
“ฉันในบาตร” ไม่ได้หมายถึงลงไปอยู่ในบาตรแล้วฉัน
ขยายความ :
“ฉันในบาตร” เป็นข้อปฏิบัติของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “ธุดงค์” มี 13 ข้อ คือ –
1. ปังสุกูลิกังคะ ใช้ผ้าบังสุกุล
2. เตจีวริกังคะ ใช้ผ้า 3 ผืน
3. ปิณฑปาติกังคะ ออกบิณฑบาต (อาหารที่ฉันได้มาจากการบิณฑบาต)
4. สปทานจาริกังคะ รับบิณฑบาตตามลำดับบ้าน
5. เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว
6. ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันในบาตร
7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ กำหนดปริมาณอาหารแล้วไม่รับเพิ่ม
8. อารัญญิกังคะ อยู่ป่า
9. รุกขมูลิกังคะ อยู่โคนไม้
10. อัพโภกาสิกังคะ อยู่ที่โล่งแจ้ง
11. โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า
12. ยถาสันถติกังคะ เมื่อไปพักที่อื่น อยู่ตามที่จัดให้
13. เนสัชชิกังคะ ไม่นอน
…………..
“ฉันในบาตร” คือธุดงค์ข้อที่ 6 คำบาลีว่า “ปัตตปิณฑิกังคะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปตฺตปิณฺฑิกงฺค” อ่านว่า ปัด-ตะ-ปิน-ดิ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า ปตฺต + ปิณฺฑิก + องฺค = ปตฺตปิณฺฑิกงฺค > ปัตตปิณฑิกังคะ แปลว่า “องค์แห่งผู้ถือการฉันเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตร”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปัตตปิณฑิกังคะ” ไว้ดังนี้
…………..
ปัตตปิณฑิกังคะ : องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตร คือ ถือการฉันเฉพาะในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น, คำสมาทานว่า “ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดภาชนะที่สอง สมาทานองค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตร” (ข้อ ๖ ในธุดงค์ ๑๓)
…………..
ขยายความ :
คำว่า “ทุติยภาชนํ = ภาชนะที่สอง” หมายความว่า สำหรับภิกษุ “บาตร” เป็นภาชนะชนิดเดียวที่มีไว้สำหรับรับอาหารตามพระวินัย บาตรจึงเป็น “ภาชนะที่หนึ่ง” ภาชนะอื่น ๆ ถ้าจะมีก็จึงเรียกว่า “ภาชนะที่สอง”
ชาวบ้านทำอาหารเอง และมักมีอาหารหลายอย่าง จึงใช้ภาชนะหลายใบ แต่ภิกษุมีบาตรใบเดียวเป็นภาชนะรับอาหารสำเร็จรูปคืออาหารที่พร้อมฉันได้ทันที ไม่จำเป็นต้องใช้ภาชนะอื่นใดอีก ฉันอาหารจากบาตรได้ทันที เป็นความสะดวกสบายเรียบง่าย การฉันอาหารเฉพาะในบาตรจึงเป็นวิธีที่ภิกษุทำกันมาแต่เดิม
เมื่อมีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับอาหารที่ได้มาโดยวิธีอื่นเป็น “อดิเรกลาภ” กล่าวคือไม่ต้องออกบิณฑบาต จึงเริ่มมีการใช้ภาชนะอื่น ๆ ใส่อาหารถวายพระ หลาย ๆ กรณี ภิกษุไม่ต้องใช้บาตรรับอาหารก็มีอาหารให้ฉันได้
ชั้นเดิม อาหารที่ได้มาอยู่ในบาตร จึงฉันอาหารในบาตร
ต่อมา แม้อาหารที่ได้มาจะอยู่ในบาตร แต่เวลาฉันถ่ายจากบาตรใส่ภาชนะอื่น
ปัจจุบัน แม้ไม่ออกบิณฑบาตและไม่ต้องใช้บาตร ก็มีอาหารฉัน
ด้วยประการดังนี้ “บาตร” กับวิถีชีวิตสงฆ์จึงค่อย ๆ หมดความจำเป็นไปทีละน้อย ในอนาคตอันไม่ไกล “บาตร” อาจเป็นเพียงสิ่งที่ต้องมีพอเป็นพิธีหรือมีในฐานะเป็น “สัญลักษณ์” อย่างหนึ่งของพิธีบวชเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้สมกับเจตนารมณ์หรือพุทธประสงค์แต่ประการใด
ภิกษุผู้มุ่งขัดเกลาตนเองถือว่าบาตรเป็นภาชนะอย่างเดียวสำหรับรับอาหาร แม้จะได้อาหารมาโดยไม่ได้ออกบิณฑบาตก็คงใช้บาตรนั่นแหละรับอาหาร ไม่ใช้ภาชนะอื่นใดอีก
แต่เมื่อพิจารณาโดยทางปฏิบัติ ธุดงค์ข้อนี้ย่อมสอดรับกับธุดงค์ข้อ “ปิณฑปาติกังคะ” คือออกบิณฑบาตโดยตรง นั่นคือ เพราะออกบิณฑบาตจึงมีอาหารอยู่ในบาตร และเพราะมีอาหารอยู่ในบาตรจึงฉันเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตร
พิจารณาในแง่นี้ การนำอาหารที่ได้มาโดยวิธีอื่น ๆ ใส่ลงในบาตรแล้วฉัน ก็ไม่สนิทเท่ากับฉันเฉพาะอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มา
การลงไปอยู่ในบาตรแล้วฉันอาหาร ไม่มีอยู่ในธุดงค์หรือข้อปฏิบัติใด ๆ ของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา การที่ภิกษุลงไปอยู่ในบาตรแล้วฉันอาหาร และบอกว่านี่คือ “การปฏิบัติจริง” ของการ “ฉันในบาตร” จึงเป็นเรื่องวิปริตเกินคาด วิปลาสเกินคิด
…………..
ถ้ามีคนเอาปืนยิงศพ แล้วบอกว่า นี่คือความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “ยิงคนตาย” เราก็คงเห็นว่าเป็นเรื่องขำขันหรือมุกตลก
แต่ถ้ามีพระลงไปอยู่ในบาตรแล้วฉันอาหาร และบอกว่านี่คือความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “ฉันในบาตร” เรายังจะเห็นว่าเป็นเรื่องขำขันหรือมุกตลกกันอยู่อีก-กระนั้นหรือ?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หมอมีหน้าที่รักษาคนป่วยไปตามเพลง
: ถ้าหมอป่วยเสียเอง ใครจะรักษาหมอ
#บาลีวันละคำ (4,312)
2-4-67
…………………………….
…………………………….