รพีพร (บาลีวันละคำ 4,311)
รพีพร
ไม่ใช่พระนามของ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีกิจต้องเข้าไปในบริเวณที่ตั้งศาลจังหวัดราชบุรี ที่นั่นมีพระอนุสาวรีย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งได้รับพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ได้เห็นแผ่นหินอ่อนตั้งอยู่บนแท่นพระอนุสาวรีย์ มีข้อความบอกว่า “คาถาบูชาพระบิดาแห่งกฎหมายไทย”
คำบูชานั้นลีลาเป็นภาษาบาลี มีข้อความดังนี้ –
…………..
นะโม ๓ จบ
รพีพร ประสิทธิ มังคละ พัฒนะ จิตติยา
มะอะอุ สติปัญญัง จิตตะ จิตัง สติปัญญัง
อาโรปีเต สติปัญโญ โสตถี โหนตุ
ภะวันตุ เม ฯ
…………..
(ดูภาพประกอบ ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567)
…………..
คำบูชาขึ้นต้นด้วยคำว่า “รพีพร” สันนิษฐานแบบอ่านใจว่า ผู้แต่งคำบูชาคงตั้งใจจะให้หมายถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
ตามที่ทราบกัน พระนามเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ คือ “รพีพัฒนศักดิ์” ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่เคยเห็นหลักฐานที่ไหนว่าทรงใช้พระนามว่า “รพีพร”
อาจเป็นได้ว่า พระองค์ทรงใช้พระนามว่า “รพีพร” ในฐานะเป็นพระนามแฝง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรมีหลักฐานยืนยันว่าทรงใช้พระนามแฝงนี้ที่ไหน เช่นในบทพระนิพนธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นต้น กรณีนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันอีกเช่นกัน ถ้าท่านผู้ใดมีหลักฐานตามที่สันนิษฐานนี้มายืนยันได้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
ในชั้นนี้ จึงขอลงความเห็นไว้ก่อนว่า ผู้ใช้คำว่า “รพีพร” ในคำบูชานั้นคงเข้าใจไปว่า กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์มีพระนามว่า “รพีพร” จึงขึ้นต้นคำบูชาด้วยคำนั้น
พระนามเดิมของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บางทีมีผู้เรียกว่า “รพี” เช่น วันที่ระลึกในวงการกฎหมายไทยที่เรียกกันว่า “วันรพี” ก็หมายถึงพระนาม “รพีพัฒนศักดิ์”
ถ้าเอาใจช่วยผู้แต่งคำบูชา ก็อาจช่วยอธิบายว่า คำว่า “รพีพร” ในคำบูชานั้น มีเจตนาจะให้เป็นคำขอพร คือ “รพีพร” แปลว่า “ขอพรจากรพี” หมายความว่า ขอให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์โปรดประทานพร ไม่ใช่เป็นคำขานพระนามว่า “รพีพร” โดยรับสมอ้างเสียเลยว่าผู้แต่งคำบูชาก็รู้อยู่แล้วว่า พระนามของพระองค์คือ “รพีพัฒนศักดิ์” ไม่ใช่ “รพีพร”
แต่เนื่องจากคำว่า “รพีพร” เป็นชื่อที่มีคนรู้จักกันมาก โดยเฉพาะนักประพันธ์ที่ใช้นามปากกาว่า “รพีพร” เป็นนามที่โด่งดัง มีผลงานประพันธ์ที่โดดเด่น การอธิบายช่วยดังที่ว่าข้างต้นก็น่าจะฟังไม่ขึ้น เพราะใครเห็นคำว่า “รพีพร” ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นชื่อคน จะอ้างว่าเป็นคำ“ขอพรจากรพี” ก็คงถูกหาว่าเป็นการแก้ตัวไปข้าง ๆ คู ๆ
เพราะฉะนั้น ก็ควรยอมรับความจริงว่า ใช้คำว่า “รพีพร” ขึ้นต้นในคำบูชาเพราะจินตนาการไปเองว่าพระองค์มีพระนามว่า “รพีพร”
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หาความรู้ทางภาษาจากคำว่า “รพีพร” ก็คงไม่เสียหลาย
“รพีพร” แยกศัพท์เท่าที่ตาเห็นก็คือ รพี + พร
(๑) “รพี”
อ่านว่า ระ-พี รูปคำเดิมในบาลีเป็น “รวิ” อ่านว่า ระ-วิ รากศัพท์มาจาก รุ (ธาตุ = ส่งเสียง; รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ รุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (รุ > โร > รว)
: รุ > โร > รว + อิ = รวิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุร้องแห่งเหล่าสัตว์เพราะถูกแผดเผา” “สิ่งที่รุ่งโรจน์” หมายถึง ดวงอาทิตย์ (the sun)
บาลี “รวิ” สันสกฤตก็เป็น“รวิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“รวิ : (คำนาม) พระอาทิตย์; ทางเดิรของลมปราณ; the sun; the canal for the passage of the vital air.”
บาลี “รวิ” ภาษาไทยใช้เป็น “รวิ” “รวี” “รพิ” “รพี” “รำไพ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) รวิ ๑, รวี : (คำนาม) พระอาทิตย์, ใช้แผลงว่า รพิ รพี หรือ รําไพ ก็ได้. (ป., ส.).
(2) รพิ, รพี : (คำนาม) พระอาทิตย์. (ป., ส. รวิ).
(3) รำไพ ๑ : ดู รวิ.
(๒) “พร”
บาลีเป็น “วร” อ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: วรฺ + อ = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา”
“วร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์, คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นนาม หมายถึง ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)
(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble)
“วร” ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ จึงเป็น “พร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พร : (คำนาม) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).”
ข้อควรทราบ :
การแผลง ว เป็น พ เป็นหลักนิยมทั่วไปในภาษาไทย เช่น –
วิธิ เป็น พิธี
วิวิธ– เป็น พิพิธ– เช่นคำว่า พิพิธภัณฑ์
วิเสส เป็น พิเศษ
รวิ > รพิ
รวี > รพี
และยังแผลงต่อไปเป็น รำไพ
รพี + พร = รพีพร แปลตามศัพท์ว่า (1) “พรของรพี” “พรจากรพี” หมายถึงพรจากดวงอาทิตย์ (2) “รพีผู้ประเสริฐ” หมายถึง พระอาทิตย์ผู้ประเสริฐ
แต่เนื่องจาก “รพีพร” เป็นชื่อเฉพาะ (proper name) ดังนั้น จะแปลอย่างไรและมีความหมายอย่างไร จึงต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้ตั้งชื่อ
แถม :
คำบาลีใน “คาถาบูชาพระบิดาแห่งกฎหมายไทย” เป็นบาลีแบบไทย คือเอาคำที่รูปร่างหน้าตาเป็นคำบาลีมารวม ๆ กัน แต่ความหมายไม่สัมพันธ์กัน บางคำก็แปลไม่ได้ แปลไปก็ไม่เข้าเรื่อง เอาหลักภาษาบาลีเข้าจับไม่ได้ คำบูชาที่ปรากฏอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจะมีลักษณะแบบเดียวกันนี้ คือเป็นบาลีไทยไร้หลักไวยากรณ์
เมื่อประเมินดูแล้วจะเห็นได้ว่า –
1 คนคิดคำบูชาก็ไม่รู้บาลี
2 คนมีศรัทธาว่าจ้างให้จัดทำแผ่นป้ายคำบูชาก็ไม่รู้บาลี
3 ร้านที่รับทำก็ไม่รู้บาลี
4 คนมาสักการบูชาอ่านตามไปก็ไม่รู้บาลี
คำบูชาที่เกิดจากการไม่รู้บาลีแบบนี้มีทั่วประเทศ ในขณะที่นักเรียนบาลีที่รู้บาลีเป็นอย่างดีก็มีอยู่ทั่วประเทศ แต่ไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหา เพราะไม่มีใครมองเห็นว่าเป็นปัญหา
สภาพเช่นนี้น่าจะมีแห่งเดียวเท่านั้นในโลก-คือในประเทศไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนบาลี แต่ไม่เอาความรู้ไปใช้งานบาลี
: อุปมาเหมือนหมอว่างงาน-มี คนป่วย-มี
แต่การรักษาพยาบาล-ไม่มี
#บาลีวันละคำ (4,311)
1-4-67
…………………………….
…………………………….