บาลีวันละคำ

มุกตลก ไม่ใช่ มุขตลก (บาลีวันละคำ 4,313)

มุกตลก ไม่ใช่ มุขตลก

ช่วยกันสะกดตามพจนานุกรม

คำว่า “มุกตลกมุก– เป็นคำไทย ใช้ ก ไก่ สะกด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มุกตลก : (คำนาม) วิธีทำให้ขบขัน.”

ขยายความ :

จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 14 ฉบับที่ 162 พฤศจิกายน 2547 หัวข้อเรื่อง คำ “มุกตลก” มีข้อความตอนหนึ่งว่าดังนี้ –

…………..

          นอกจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้ว คณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้สอบถามข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ศ. ดร.ประเสริฐ  ณ นคร  ศ.วิสุทธ์  บุษยกุล  ศ.เรืองอุไร  กุศลาสัย  ดร.สวนิต  ยมาภัย สรุปความได้ว่า คำ “มุก” เป็นคำที่ใช้กันมานานแล้ว เป็นคำไทย สะกดแบบไทย  ทั้งนี้ ดร.สวนิต  ยมาภัย ให้ข้อมูลว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีคำว่า มุก มุกกิ๊ก และโม้กิ๊ก ใช้ในภาษาพูด เป็นคำภาษาปากหรือคำคะนอง แปลว่า ปด หลอกให้คนมีอารมณ์ขัน คำว่า กิ๊ก เป็นคำที่ตัดมาจาก กิ๊กหน้าวุ๊ย ซึ่งเป็นคำผวนมาจาก กุ๊ยหน้าวิก และเมื่อพิจารณาตามหลักทางภาษาศาสตร์ เรื่องการกลมกลืนเสียง (assimilation) จากคำ มุกกิ๊ก ที่มีใช้กันมา เกิดการกลมกลืนเสียง ก ระหว่างคำ “มุก” กับ “กิ๊ก” มุก ก็ควรสะกดด้วย ก หรือพิจารณาตามหลักนิรุกติศาสตร์ คำ โม้กิ๊ก กลายเสียงเป็น มกกิ๊ก แล้วเป็น มุกกิ๊ก  ในที่สุด ซึ่งการกลมกลืนเสียงลักษณะเช่นนี้พบในคำไทยหลายคำ เช่น โท่ง เป็น ทุ่ง  อ่อนไท้ เป็น อรไท

          อย่างไรก็ตาม มักมีผู้ใช้คำนี้โดยสะกดด้วย “ข” เป็น “มุข” เช่น อย่ามาเล่นมุข มุขเด็ด ทั้งนี้เนื่องจากในภาษาไทยมีการใช้คำว่า “มุข” ในหลายความหมายและพบคำเหล่านี้มากกว่า เช่น มุขกระสัน มุขเด็จ มุขปาฐะ มุขยประโยค ส่วนคำว่า “มุก” ที่สะกดด้วย “ก” มีใช้ที่หมายถึง หอยมุก ไข่มุก และคำว่า “มุก” หรือ “มุกตลก” แต่เดิมนั้นส่วนใหญ่ใช้เป็นภาษาพูด เมื่อใช้เป็นภาษาเขียนก็เลยเขียนเป็น “มุขตลก” เพราะคำว่า “มุข” เป็นภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ “หน้า” จึงเข้าใจกันว่า “มุขตลก” หมายถึง “ทำหน้าตลก” แต่เมื่อตรวจสอบจากเอกสารหลักฐานเก่าตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ปัญหาความสับสนที่เกิดขึ้นสามารถคลี่คลายลงไปได้ว่า ถ้ามีความหมายว่า “หน้า ปาก ประธาน” ใช้คำ “มุข” (ข สะกด) ถ้าเป็นคำไทยใช้ “มุก” (ก สะกด) คณะกรรมการชำระพจนานุกรมพิจารณาแล้วว่าคำนี้มิได้เกี่ยวกับปาก หรือหน้าเลย อาจจะเป็นท่าทางก็ได้ จึงเก็บคำนี้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า “มุกตลก”.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 14 ฉบับที่ 162 พฤศจิกายน 2547 

http://legacy.orst.go.th/wp-content/uploads/royin-ebook/83/FileUpload/58_6272.pdf

…………..

ขอย้ำให้ช่วยกันจำว่า คำว่า “มุกตลกมุก– เป็นคำไทย ใช้ ก ไก่ สะกด 

มุขตลก” มุข- ข ไข่ สะกด เป็นคำที่เขียนผิด อย่าเขียนตาม อย่าใช้ตาม

มุข” ข ไข่ สะกด เป็นคำบาลีสันสกฤต อ่านว่า มุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มุขฺ (ธาตุ = เปิด, ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: มุขฺ + = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข

(2) มุ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย

: มุ + = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก

มุข” (นปุงสกลิงค์) หมายถึงอวัยวะ 2 อย่าง คือ

(1) ปาก (the mouth) 

(2) หน้า (the face) 

จะหมายถึงอะไรต้องสังเกตที่บริบท

เช่น “มุขโธวน” (มุขะโธวะนะ)

บางกรณีหมายถึง น้ำบ้วนปาก

บางกรณีหมายถึง น้ำล้างหน้า

บาลี “มุข” สันสกฤตก็เป็น “มุข

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “มุข” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) มุข : (คำนาม) ปาก; อุบาย; the mouth; an expedient.

(2) มุข : (คำนาม) พระเวท; the Vedas.

(3) มุข : (คำนาม) องก์แรกของนาฏก: the first act of a drama.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มุข, มุข– : (คำนาม) หน้า, ปาก; ทาง; หัวหน้า; ส่วนของตึกหรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า. (ป., ส.).”

…………..

สรุปว่า –

“มุขตลก” มุข- ข ไข่ เป็นคำเขียนผิด

มุกตลก” มุก- ก ไก่ เป็นคำเขียนถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เคารพกฎกติกาของชาติ

: เป็นมารยาทของอารยชน

#บาลีวันละคำ (4,313)

3-4-67 

.…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *