โวหารภิกขุภาวะ (บาลีวันละคำ 4,333)
โวหารภิกขุภาวะ
เป็นพระตามที่เรียกกัน
อ่านว่า โว-หา-ระ-พิก-ขุ-พา-วะ
(ไม่ใช่ โว-หาน-พิก-ขุ-พา-วะ)
ประกอบด้วยคำว่า โวหาร + ภิกขุ + ภาวะ
(๑) “โวหาร”
บาลีอ่านว่า โว-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ลบสระหน้า” คือ วิ + อว ลบ อิ ที่ วิ (วิ > ว), แผลง อว เป็น โอ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)
: วิ > ว + อว > โอ : ว + โอ = โว + หรฺ = โวหร + ณ = โวหรณ > โวหร > โวหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันเขากล่าว” (2) “คำเป็นเครื่องกล่าว” (3) “คำที่ลักใจของเหล่าสัตว์อย่างวิเศษ” (คือดึงดูดใจคนฟังไป) (4) “ภาวะที่พูดทำความขัดแย้ง” (5) “การตกลงกัน”
“โวหาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“โวหาร : (คำนาม) ชั้นเชิงหรือสํานวนแต่งหนังสือหรือพูด เช่น มีโวหารดี, ถ้อยคําที่เล่นเป็นสําบัดสํานวน เช่น อย่ามาตีโวหาร เขาชอบเล่นโวหาร. (ป.).”
ในภาษาไทย “โวหาร” เล็งถึง “คำพูด” แต่ในภาษาบาลี “โวหาร” มีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) ชื่อหรือการเรียกขานที่ใช้กันในเวลานั้น, การใช้ภาษาร่วมกัน, ตรรกวิทยา, วิธีปกติธรรมดาของการนิยาม, วิธีใช้, ตำแหน่ง, ฉายา (current appellation, common use, popular logic, common way of defining, usage, designation, term, cognomen)
(2) การค้า, ธุรกิจ (trade, business)
(3) คดีความ, กฎหมาย, พันธะทางกฎหมาย; วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคดีความ, วิชาธรรมศาสตร์ (lawsuit, law, lawful obligation; juridical practice, jurisprudence)
(๒) “ภิกขุ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ภิกฺขุ” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า พิก-ขุ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง ดังนี้ –
(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ
(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, รัสสะ อู เป็น อุ
(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู ปัจจัย, ลบ ย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ
(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ
(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ
, แปลง อะ ที่ ภ-(กฺขฺ) เป็น อิ (ภกฺขฺ > ภิกฺข)
บาลี “ภิกฺขุ” ภาษาไทยใช้เป็น “ภิกษุ” ตามรูปสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภิกษุ : (คำนาม) ชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา. (ส.; ป. ภิกฺขุ).”
ในที่นี้ใช้เป็น “ภิกขุ” ตามรูปบาลี
(๓) “ภาวะ”
บาลีเป็น “ภาว” อ่านว่า พา-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว
: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลว่า ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”
กาประสมคำ :
๑ ภิกฺขุ + ภาว = ภิกฺขุภาว (พิก-ขุ-พา-วะ) แปลว่า “ความเป็นภิกษุ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภิกฺขุภาว” ว่า state of being a monk, monkhood, bhikkhuship (ภิกขุภาวะ, ความเป็นภิกษุ, ความเป็นพระ)
๒ โวหาร + ภิกฺขุภาว = โวหารภิกฺขุภาว (โว-หา-ระ-พิก-ขุ-พา-วะ) แปลว่า “ความเป็นภิกษุตามโวหาร” คือเป็นภิกษุตามที่เรียกกัน
“โวหารภิกฺขุภาว” เขียนแบบไทยเป็น “โวหารภิกขุภาวะ”
ขยายความ :
“ภิกขุภาวะ” มี 2 อย่าง คือ –
(1) “กัมมวาจาภิกขุภาวะ” (กำ-มะ-วา-จา-พิก-ขุ-พา-วะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นภิกษุที่ได้มาด้วยกรรมวาจา” จะเรียกว่าเป็นภิกษุตามพระธรรมวินัยก็ได้ กล่าวคือสงฆ์ประชุมกันสวดกรรมวาจาอนุมัติให้บุคคลผู้ขออุปสมบทและมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นภิกษุได้
(2) “โวหารภิกขุภาวะ” (โว-หา-ระ-พิก-ขุ-พา-วะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นภิกษุตามโวหาร” หรือ “ความเป็นภิกษุตามที่เรียกกัน” หมายความว่า คนทั้งหลายเห็นบุคคลที่ครองเพศภิกษุคือแต่งตัวเป็นภิกษุ ก็พูดบอกกันหรือเรียกบุคคลนั้นว่าภิกษุ โดยที่ยังไม่ได้รู้ความจริงว่า (๑) บุคคลผู้นั้นเป็นภิกษุจริงตามพระธรรมวินัยและยังมีความเป็นภิกษุอยู่ หรือ (๒) เป็นภิกษุจริงตามพระธรรมวินัย แต่ต้องอาบัติหนักขาดจากความเป็นภิกษุไปแล้ว แต่ยังครองเพศภิกษุอยู่ หรือ (3) เป็นคนธรรมดา ไม่ได้บวช แต่เอาไตรจีวรของภิกษุมานุ่งห่ม แสดงอาการภายนอกให้คนที่พบเห็นเข้าใจว่าเป็นภิกษุ
สรุปว่า ภิกษุมี 2 ประเภท คือ ภิกษุตามพระธรรมวินัย กับภิกษุตามที่เรียกกัน
ภิกษุตามพระธรรมวินัย เป็นพระแท้
ภิกษุตามที่เรียกกัน เป็นพระแท้ก็มี ไม่ใช่พระแต่แต่งตัวเป็นพระก็มี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่รักษาพระธรรมวินัย
: ท่านจะใช้อะไรรักษาพระศาสนา
#บาลีวันละคำ (4,333)
23-4-67
…………………………….
…………………………….