บาลีวันละคำ

นกกิกี (บาลีวันละคำ 4,332)

นกกิกี

บอกชื่อบาลีไม่เข้าใจ

ถ้าบอกชื่อไทยจะร้องอ๋อ

อ่านว่า นก-กิ-กี

(๑) “นก” 

เป็นคำไทย ผู้เขียนบาลีวันละคำขอถือโอกาสทำบุญวิทยาทาน เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แทนท่านที่ไม่มีอุตสาหะมากพอที่จะเปิดได้เอง ดังนี้ – 

นก ๑ : (คำนาม) ชื่อสัตว์มีกระดูกสันหลังเลือดอุ่น มี ๒ เท้า ๒ ปีก และมีขนปกคลุมร่างกาย ออกลูกเป็นไข่ก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว.”

(๒) “กิกี

เป็นคำบาลี พยางค์หน้า สระ อิ พยางค์หลังสระ อี อ่านว่า กิ-กี รากศัพท์มาจาก กิ (เสียงนกชนิดนี้ร้องตามที่หูได้ยิน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ, ส่งเสียง) + อี ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุ (กรฺ > )

: กิ + กรฺ= กิกรฺ + อี = กิกรี > กิกี แปลตามศัพท์ว่า “นกที่ส่งเสียงร้องว่ากิกิ” (คือร้องเสียงแหลมเล็ก) 

…………..

หมายเหตุ :

เสียง “กิ” ที่นกชนิดนี้ร้องตามที่หูได้ยิน หมายความว่า นกชนิดนี้เมื่อร้องออกมา หูของชาวชมพูทวีป-โดยเฉพาะชาวมคธ ได้ยินเป็นเสียง “กิ” นำออกมาก่อน ชาวเมืองอื่นที่มีนกชนิดนี้อาศัยอยู่อาจได้ยินเป็นเสียงอื่น เช่นหูคนไทยได้ยินเป็น “แต้แว้ด” หรือ “แตแต้แว้ด” เป็นต้น

เสียงตามธรรมชาติที่ได้ยินต่างกันไปในแต่ละชาติภาษานี้ เสียงหนึ่งที่ผู้เขียนบาลีวันละคำทราบมาตั้งแต่เริ่มหัดอ่าน A B C D ก็คือเสียงไก่ขัน บ้านเราได้ยินเป็น เอ็ก-อี๊-เอ้ก-เอ็ก แต่ฝรั่งอังกฤษได้ยินเป็น ค็อก-อะ-ดูเดิ้น-ดู นี่ว่าตามที่จำมา ไม่ได้ศึกษาสืบค้น

ในภาษาบาลีก็มีเสียงที่ได้ยินต่างกันแบบนี้ นักเรียนบาลีอาจจะพอระลึกได้ เช่นในเสขิยวัตรอันเป็นส่วนหนึ่งของศีล 227 ในหมวดที่ว่าด้วยมารยาทในการขบฉัน

การเคี้ยวอาหารที่หูคนไทยได้ยินเสียงเป็น “จับ จับ” หรือ “จั๊บ จั๊บ” หูคนพูดบาลีได้ยินเป็น “จปุจปุ” (จะ-ปุ-จะ-ปุ) เช่นในประโยคว่า –

น  จปุจปุการกํ  ภุญฺชิสฺสามีติ  สิกฺขา  กรณียา ฯ  

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังจับ จับ

การซดน้ำแกงที่หูคนไทยได้ยินเสียงเป็น “ซูด ซูด” หูคนพูดบาลีได้ยินเป็น “สุรุสุรุ” (สุ-รุ-สุ-รุ) เช่นในประโยคว่า –

น  สุรุสุรุการกํ  ภุญฺชิสฺสามีติ  สิกฺขา  กรณียา

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังซูด ซูด

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 850-851

…………..

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “กิกี” ว่า นกต้อยตีวิด, นกกระต้อยตีวิด, นกแต้แว้ด, นกกระแตแต้แว้ด 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิกี” ดังนี้ –

(1) the blue jay (นกต้อยตีวิด)

(2) a hen [or the female of the jay?] (แม่ไก่ [หรือนกต้อยตีวิดตัวเมีย?])

เป็นอันว่า “กิกี” ก็คือ นกกระแตแต้แว้ด

ต่อไปก็หาความรู้จากพจนานุกรมฯ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

กระแตแต้แว้ด ๑ : ดู ต้อยตีวิด.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้คำนิยามที่คำว่า “กระแตแต้แว้ด” แต่ให้ไปดูที่คำว่า “ต้อยตีวิด” มีนัยอย่างไร?

มีนัยว่า พจนานุกรมฯ เห็นว่า ชื่ออย่างเป็นทางการของนกชนิดนี้ คือ “ต้อยตีวิด” ส่วน “กระแตแต้แว้ด” เป็นชื่อที่เรียกกันเป็นภาษาปากหรือเรียกกันเล่น ๆ ซึ่งมีชื่ออื่นอีก ดังที่พจนานุกรมฯ ลงท้ายที่คำว่า “ต้อยตีวิด” ว่า “กระต้อยตีวิด กระแตแต้แว้ด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก”

ตามไปดูคำว่า “ต้อยตีวิด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ดังนี้ – 

ต้อยตีวิด : (คำนาม) ชื่อนกชนิด Vanellus indicus ในวงศ์ Charadriidae ตัวขนาดนกเขาใหญ่ หัวสีดําขนบริเวณหูสีขาว มีติ่งเนื้อสีแดงพาดทางด้านหน้าจากขอบตาหนึ่งไปอีกขอบตาหนึ่ง ปากยาว ขายาวสีเหลือง ตีนมี ๔ นิ้ว นิ้วหลังเป็นติ่งเล็ก ร้องเสียงแหลม “แตแต้แว้ด” กินสัตว์ขนาดเล็ก วางไข่ในแอ่งตื้น ๆ บนพื้นดิน, กระต้อยตีวิด กระแตแต้แว้ด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ปรับปรุงใหม่เป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ –

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า –

กระแตแต้แว้ด ๑ : ดู ต้อยตีวิด.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า – 

ต้อยตีวิด : ดู กระแตแต้แว้ด ๑.”

นั่นหมายความว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เห็นว่า ชื่ออย่างเป็นทางการของนกชนิดนี้ คือ “กระแตแต้แว้ด” ส่วน “ต้อยตีวิด” เป็นชื่อที่เรียกกันเป็นภาษาปากหรือเรียกกันเล่น ๆ ซึ่งมีชื่ออื่นอีก ดังที่พจนานุกรมฯ ลงท้ายที่คำว่า “กระแตแต้แว้ด” ว่า “กระต้อยตีวิด ต้อยตีวิด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก”

ตามไปดูคำว่า “กระแตแต้แว้ด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

กระแตแต้แว้ด ๑ : (คำนาม) ชื่อนกขนาดเล็กชนิด Vanellus indicus (Boddaert) วงศ์ย่อย Charadriinae ในวงศ์ Charadriidae ปากยาว หัวสีดำ ขนบริเวณหูสีขาว มีติ่งเนื้อสีแดงพาดระหว่างตาผ่านหน้าผาก ขายาวสีเหลือง วางไข่ในแอ่งตื้น ๆ บนพื้นดิน กินแมลงและสัตว์ขนาดเล็ก ร้องเสียงแตแต้แว้ด, กระต้อยตีวิด ต้อยตีวิด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก.”

ขยายความ :

พจนานกรุมฯ ยังเก็บ “กระแตแต้แว้ด” เป็น “กระแตแต้แว้ด ๒” อีกคำหนึ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า –

กระแตแต้แว้ด ๒ : (คำนาม) ใช้เปรียบผู้หญิงที่ชอบจุ้นจ้านเจ้ากี้เจ้าการ.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า –

กระแตแต้แว้ด ๒ : (คำนาม) ใช้เปรียบผู้หญิงที่ชอบจุ้นจ้าน เจ้ากี้เจ้าการ, กระแตแว้ด ก็ว่า.

เรียกว่า เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังเฉือนคมกันไม่ละเว้นนั่นทีเดียว

…………..

แถม :

เวลาเขียนคำว่า “กระแตแต้แว้ด” หรือ “แตแต้แว้ด” หรือ “แต้แว้ด” โปรดระลึกว่า“แว้ด” คำนี้ใช้วรรณยุกต์โท

ใช้วรรณยุกต์ตรีเป็น “กระแตแต้แว๊ด” คนอ่านก็รู้ว่าเป็นนกชนิดนี้แหละ แต่รู้ว่าเป็นนกชนิดนี้ด้วย และสะกดถูกด้วย ย่อมสง่างามกว่า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำที่เคยสำคัญบางคำ 

อาจถูกลดความสำคัญไปตามกล

: คนที่เคยสำคัญบางคน 

อาจถูกลดความสำคัญไปตามกรรม

#บาลีวันละคำ (4,332)

22-4-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *