สงคราม (บาลีวันละคำ 628)
สงคราม
อ่านว่า สง-คฺราม
บาลีเป็น “สงฺคาม” อ่านว่า สัง-คา-มะ
“สงฺคาม” รากศัพท์ประกอบด้วย –
1 สํ (= พร้อมกัน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย
: สํ + คมฺ > คาม + ณ = สงฺคาม แปลตามศัพท์ว่า “ไปพร้อมกัน” “รวบรวมกันไป”
2 สงฺคาม (ธาตุ = ต่อสู้) + อ ปัจจัย
: สงฺคาม + อ = สงฺคาม แปลตามศัพท์ว่า “ต่อสู้กัน”
“สงฺคาม” สันสกฤตเป็น “สงฺคฺราม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สงคราม” หมายถึง การรบพุ่ง, การต่อสู้ ใช้ทับศัพท์ว่า สงคราม (a fight, battle)
พจน.42 บอกไว้ว่า
“สงคราม : การรบใหญ่ที่มีคนจำนวนมากต่อสู้ฆ่าฟันกัน, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น สงครามชีวิต สงครามปาก”
ชมพูทวีปโบราณมีสูตรว่า การรบกันที่จะเรียกได้ว่า “สงคราม” จะต้องมีทหารเข้ารบ 109 ,350 คน, ม้า 65 ,610 ตัว, ช้าง 21, 870 เชือก และรถศึกเท่ากับช้าง คือ 21 ,870 คัน
ผู้รู้สมัยใหม่บอกว่า สาเหตุของสงครามคือ –
แย่งอาหารกันกิน
แย่งถิ่นกันอยู่
แย่งคู่กันพิศวาส
แย่งอำนาจกันครอง”
พระพุทธองค์ตรัสว่า :
โย สหสฺสํ สหสฺเสน
สงฺคาเม มานุเส ชิเน
เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ
ส เว สงฺคามชุตฺตโม.
สงฺคาเม เม มตํ เสยฺโย
ยญฺเจ ชีเว ปราชิโต.
(สหัสสวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๘
ปธานสูตร สุตตนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๕๕)
๏ ชนะศึกสิบแสนสงคราม
ยังไป่ลือนาม
เท่าชนะศึกเดียวในหทัย
๏ รบกับเกลศตนประลัย
ดีกว่าแพ้ใจ
ตนอยู่อดสูฤๅงาม
——————
(คว้ามาจากคำถามสาธารณะของ สมพงษ์ โหละสุต)
3-2-57