สุพรรณหงส์ (บาลีวันละคำ 4,434)
สุพรรณหงส์
1 ในเรือพระที่นั่ง
…………..
เรือพระที่นั่งในเรือพระราชพิธีมี 4 ลำ คือ
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
…………..
“สุพรรณหงส์” อ่านว่า สุ-พัน-นะ-หง
ประกอบด้วยคำว่า สุพรรณ + หงส์
(๑) “สุพรรณ”
บาลีเป็น “สุวณฺณ” อ่านว่า สุ-วัน-นะ ประสมกันขึ้นจาก สุ + วณฺณ
(ก) “สุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ดี, งาม, ง่าย
(ข) “วณฺณ” อ่านว่า วัน-นะ รากศัพท์มาจาก วณฺณฺ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วณฺณ + อ = วณฺณ (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แสดงออก”
“วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :
(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)
(1) สี (colour)
(2) รูปร่าง (appearance)
(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)
(4) ความงาม (beauty)
(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)
(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)
(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)
(8 ) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)
(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)
(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)
(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)
บาลี “วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”
สุ + วณฺณ = สุวณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สีดี” หรือ “สีงาม” หมายถึง ทองคำ (gold)
“สุวณฺณ” สันสกฤตเป็น “สุวรฺณ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สุวรรณ” และ “สุพรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สุวรรณ, สุวรรณ– : (คำนาม) ทอง. (ส. สุวรฺณ; ป. สุวณฺณ).
(2) สุพรรณ, สุพรรณ– : (คำนาม) ทองคํา. (ส. สุวรฺณ; ป. สุวณฺณ).
(๒) “หงส์”
บาลีเป็น “หํส” อ่านว่า หัง-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (หนฺ > หํ)
: หนฺ + ส = หนส > หํส แปลตามศัพท์ว่า “นกที่บินไปได้ไกล”
(2) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (หสฺ > หํส)
: หสฺ + อ = หส > หํส แปลตามศัพท์ว่า “นกที่ร่าเริง”
“หํส” (ปุงลิงค์) เรานิยมแปลทับศัพท์ว่า หงส์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หํส” ว่า a water-bird, swan (นกเป็ดน้ำ, หงส์)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “หงส์” ไว้ 2 คำ บอกไว้ว่า –
(1) หงส-, หงส์ ๑ : (คำนาม) นกในนิยายถือว่าเป็นนกในตระกูลสูง มีเสียงไพเราะ เป็นพาหนะของพระพรหม; ในวรรณคดีหมายถึงบุคคลที่มีชาติตระกูลสูงและเปรียบการเดินที่งดงามอ่อนช้อยและเป็นสง่าเทียบด้วยการเดินของหงส์. (ป., ส. หํส).
(2) หงส์ ๒ : (คำนาม) ชื่อนกจำพวกเป็ดขนาดใหญ่หลายชนิด วงศ์ย่อย Cygninae ในวงศ์ Anatidae คอยาว เป็นนกที่นำเข้ามาในประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป อเมริกา และตอนเหนือของทวีปเอเชีย เช่น หงส์ขาว [Cygnus olor (Gmelin)] หงส์ดำ [C. atratus (Latham)] หงส์คอดำ [C. melanocorypha (Molina)].
สุวณฺณ + หํส = สุวณฺณหํส (สุ-วัน-นะ-หัง-สะ) > สุพรรณหงส์ (สุ-พัน-นะ-หง) แปลว่า “หงส์ทอง”
“สุพรรณหงส์” เป็นชื่อเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในเรือพระราชพิธี
ขยายความ :
เว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี (อ่านเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เวลา 20:30 น.) กล่าวถึงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ไว้ดังนี้ –
…………..
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2091 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีชื่อเรือพระที่นั่ง สุวรรณหงส์ สมัยรัชกาลที่ 1 (พุทธศักราช 2325 – 2352) ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่ง สุวรรณหงส์ และ รัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 – 2394) ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่ง ศรีสุพรรณหงส์
หัวเรือพระที่นั่งนี้มีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่น ๆ
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จากองค์กรที่เรียกว่า World Ship Trust เมื่อพุทธศักราช 2535
http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/royalbarges/index.php/th/hilight/
…………..
ดูก่อนภราดา!
สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย
งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์
ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
: จะเป็นอย่างไรถ้าฝรั่งท่องได้
: แต่คนไทยไม่กระดิกหู
#บาลีวันละคำ (4,434)
2-8-67
…………………………….
…………………………….