เนยกวนปนมัตถ์ (บาลีวันละคำ 4,433)
เนยกวนปนมัตถ์
ยังไม่ชัดว่าแปลว่าอะไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นภาพโฆษณาสินค้าชนิดหนึ่งมีชื่อว่า “เนยกวนปนมัตถ์” (ดูภาพประกอบ) เห็นชื่อแปลกดี จึงขอนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำ
“เนยกวน” เป็นคำไทย ขอผ่านไป
“ปนมัตถ์” รูปคำควรเป็นบาลี เขียนแบบบาลีเป็น “ปนมตฺถ” อ่านว่า ปะ-นะ-มัด-ถะ
ค้นในคัมภีร์บาลีเท่าที่จะค้นได้ ยังไม่พบคำที่สะกดเช่นนี้ ไม่ทราบว่าผู้ตั้งชื่อนี้ไปได้คำนี้มาจากไหน
“ปนมตฺถ” ถ้าเป็นคำบาลี แยกศัพท์เป็น ปนม + อตฺถ
“ปนม” ดูเท่าที่ตาเห็น เป็นไปได้ที่จะมาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + นมฺ (ธาตุ = โน้ม, น้อม)
: ป + นมฺ = ปนม (ปะ-นะ-มะ) แปลว่า “โน้มไปข้างหน้า” อาจจะเป็นคำเดียวกับ “ประนม” ที่เรามีใช้ในภาษาไทย แต่ในบาลีศัพท์นี้ท่านแปลง น น หนู เป็น ณ ณ เณร คือเป็น “ปณม” ไม่พบที่เป็น “ปนม”
ยิ่งเอามารวมเข้ากับ “อตฺถ” เป็น “ปนมตฺถ” อาการก็ยิ่งหนัก คือหาคำและหาความหมายไม่พบ
ท่านผู้ใดก็ตามที่ตั้งชื่อสินค้าชนิดนี้ ถ้าจะกรุณาแสดงที่มาของศัพท์ไว้ให้ด้วย หรือท่านผู้ใดพอจะทราบว่ามีการแสดงที่มาของศัพท์นี้ไว้ที่ไหน ถ้าจะกรุณานำมาเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้แก่สาธารณชน ก็จะขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในบาลีมีคำที่หน้าตาคล้ายกันแบบนี้ คือคำว่า “ยาปนมตฺต” อ่านว่า ยา-ปะ-นะ-มัด-ตะ ใช้ในภาษาไทยเป็น “ยาปนมัต” อ่านว่า ยา-ปะ-นะ-มัด
คำว่า “ยาปนมัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยาปนมัต : (คำนาม) อาหารที่พอจะให้ร่างกายดำรงอยู่ได้. (คำวิเศษณ์) สักว่ายังชีวิตให้เป็นไป, พอเลี้ยงชีพ, พอเยียวยาชีวิต, ภาษาตลาดมักพูดว่า ยาปรมัดไส้. (ป. ยาปนมตฺต).”
คำว่า “ยาปนมตฺต” ประกอบด้วย ยาปน + มตฺต
(๑) “ยาปน”
อ่านว่า ยา-ปะ-นะ รากศัพท์มาจาก ยปฺ (ธาตุ = ยัง-ให้เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), “ทีฆะต้นธาต” คือ อะ ที่ ย-(ปฺ) เป็น อา (ยปฺ > ยาปฺ)
: ยปฺ + ยุ > อน = ยปน > ยาปน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้เป็นไป” “สิ่งที่ยัง-ให้เป็นไป” (คือการใช้สิ่งหนึ่งเป็นปัจจัยหรือเป็นอุปกรณ์ทำให้อีกสิ่งหนึ่งดำเนินไปได้) หมายถึง การดำเนินต่อไป, การบำรุงเลี้ยง, ความเป็นอยู่, การดำรงชีพ (keeping going, sustenance, feeding, nourishment, existence, living)
(๒) “มตฺต”
อ่านว่า มัด-ตะ รากศัพท์มาจาก มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ต ปัจจัย, “ลบสระหน้า” (คือ มา + ต สระ อา ที่ “มา” อยู่หน้า ต จึงเรียกว่า “สระหน้า” : มา > ม), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + ต)
: มา + ตฺ + ต = มาตฺต > มตฺต แปลตามศัพท์ว่า “จำนวนอันเขาประมาณเอา”
“มตฺต” ตามรากศัพท์นี้ใช้ในความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ :
(1) ประกอบด้วย, วัดได้, ประมาณ (consisting of, measuring)
(2) มากถึง, เท่านั้น, เพียง, น้อยเพียงเท่านั้นเท่านี้, ไม่แม้แต่ (หนึ่ง), ไม่เลย (as much as, only, a mere, even as little as, the mere fact [of], not even [one], not any)
(3) มากเท่านั้น, บ้าง, เพียงพอ (so much, some, enough)
(4) เหมือน, เหมือนเช่น, สิ่งที่เรียกว่า, อาจพูดได้ว่า (like, just as what is called, one may say)
(5) แม้, ทันทีที่, เนื่องจาก (even at, as soon as, because of)
“มตฺต” จะมีความหมายอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับบริบทเป็นสำคัญ แต่ความหมายสามัญที่ใช้บ่อยที่สุด คือ “เพียงแค่-” หรือ “สักแต่ว่า-”
ยาปน + มตฺต = ยาปนมตฺต (ยา-ปะ-นะ-มัด-ตะ) แปลว่า “เพียงแค่ยัง-ให้เป็นไป” เช่น –
ถ้าหมายถึงอาหาร ก็คืออาหารเพียงแค่พอยังชีวิตให้เป็นไปได้
ถ้าหมายถึงรายได้หรือเงินเดือน ก็คือรายได้เพียงแค่พอใช้ไปเดือนหนึ่ง ๆ
“มตฺต” ในภาษาไทยตัด ต ออกตัวหนึ่ง “ยาปนมตฺต” จึงเขียนเป็น “ยาปนมัต” อ่านว่า ยา-ปะ-นะ-มัด
“ยาปนมัต” นี่เองที่คนมักพูดเพี้ยนผิดเป็น “ยาปรมัด” (ยา-ปะ-ระ-มัด) แล้วก็ต่อเติมกลายเป็น “ยาปรมัดไส้”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “ยาปนมัต” นี้เป็นคำที่ใช้พูดกันในหมู่พระสงฆ์และคนวัดเมื่อหมายถึงอาหารการขบฉัน ซึ่งบางวันอิ่ม บางวันอด วันไหนอดก็จะบอกกันว่า วันนี้ฉัน (กิน) พอเป็น “ยาปนมัต”
แต่โดยอุดมการณ์ของเพศสงฆ์แล้ว ท่านให้มองอาหารทุกมื้อเป็น “ยาปนมัต”
เคยได้ยินนักคิดบางสำนักคิดลึกไปไกลว่า –
“ยา” คือ อาหาร ในแง่ที่ว่าต้องกินเพื่อรักษาโรคหิว
“ปน” คือประสมกัน คละเคล้ากัน
“มัต” คือ มต (มะ-ตะ) หมายถึงความตาย
“ยาปนมัต” ตามแนวคิดที่ว่านี้อ่านว่า ยา-ปน-มัด แปลว่า “ยาที่ปนความตาย” หมายถึงอาหารที่กินเข้าไปทุกมื้อมีความตายประสมอยู่ด้วย เนื่องจากเมื่อกินไปจนถึงวันหนึ่งคนกินก็ตาย
เป็นการแปลหรือตีความแบบดำน้ำ เหมือนคำว่า “ตัณหา” แปลว่า หาไม่เจอ คือหาไป ๆ ก็ถึงทางตัน ก็คือหาไม่เจอนั่นเอง
เป็นตัวอย่างของความคิดที่-ดี แต่ไม่ถูก
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำปรารถนาจะสันนิษฐานว่า คำว่า “ยาปนมัต” นี่เองที่พูดเพี้ยนเขียนผิดเป็น “ปนมัตถ์” ในคำว่า “เนยกวนปนมัตถ์”
คือผู้คิดชื่อนี้ ตัดเอามาแค่ “ปนมัต” แล้วเอามาแต่งตัวเป็น “ปนมัตถ์” ได้เสียงเท่าคำเดิม คืออ่านว่า ปะ-นะ-มัด แต่ความหมายไปอีกเรื่องหนึ่ง
หวังว่า เมื่อบาลีวันละคำคำนี้เผยแพร่ออกไป เราคงจะได้คำตอบกลับมาว่า “ปนมัตถ์” อันเป็นชื่อสินค้าชนิดนี้เป็นภาษาอะไร มีความหมายว่าอย่างไร อันจะเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องร่วมกันต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำอะไรไม่เหมือนคนทั่วไปก็ไม่เป็นไร
: ขอให้บอกเหตุผลได้ว่าทำไมจึงทำอย่างนั้น
#บาลีวันละคำ (4,433)
1-8-67
…………………………….
…………………………….