อาจะริเย (บาลีวันละคำ 4,438)
อาจะริเย
ไม่ใช่ อาจาริเย
ผู้เขียนบาลีวันละคำเปิดดูคำขอขมาที่ปรากฏในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่พบมากที่สุดจะขึ้นต้นว่า “อาจาริเย ปะมาเทนะ”
โปรดทราบทั่วกันว่า “อาจาริเย” เป็นคำที่ผิด
คำที่ถูกต้องคือ “อาจะริเย”
เขียนแบบบาลีเป็น “อาจริเย” อ่านว่า อา-จะ-ริ-เย
โปรดสังเกตให้ดี อา-จะ– ไม่ใช่ อา-จา–
“อาจริเย” รูปคำเดิมเป็น “อาจริย” อ่านว่า อา-จะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์”
(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น”
(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่”
(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง”
(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)
(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต”
“อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า อาจารย์ (a teacher)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”
บาลี “อาจริย” สันสกฤตเป็น “อาจารฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“อาจารฺย : (คำนาม) ครู, ผู้สั่งสอน; a teacher.”
คำนี้สันสกฤตเป็น “อาจารฺย” ตรงกับที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “อาจารย์”
โปรดสังเกตว่า สันสกฤตเป็น “อาจารฺย”
ไม่ใช่ “อาจาริย”
และบาลีก็เป็น “อาจริย”
ไม่ใช่ “อาจาริย”
“อาจริย” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อาจริเย”
ขอย้ำให้สังเกต “อาจริเย”
ไม่ใช่ “อาจาริเย”
“อาจริเย” เขียนแบบคำอ่านเป็น “อาจะริเย”
อา-จะ-
ไม่ใช่ อา-จา-
ขยายความ :
ข้อความคำขอขมาเฉพาะท่อนนี้ตามที่นิยมใช้กันเป็นดังนี้ –
เขียนแบบบาลี:
อาจริเย ปมาเทน ทฺวารตฺตเยน กตํ, สพฺพํ อปราธํ ขมถ เม ภนฺเต.
เขียนแบบคำอ่าน:
อาจะริเย ปะมาเทนะ ท๎วารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต.
คำแปล:
โทษล่วงเกินทั้งหมดที่ข้าพเจ้าทำลงไปแล้วทางไตรทวาร ด้วยความประมาทพลาดพลั้งในอาจารย์ ขอท่านโปรดยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
…………..
หมายเหตุ:
บาลีวันละคำวันนี้ประสงค์จะชี้แจงเฉพาะคำว่า “อาจริเย” ไม่ใช่ “อาจาริเย” ในคำขอขมาท่อนหนึ่งเท่านั้น คำขอขมาเต็ม ๆ คำรับขมา และรายละเอียดอื่น ๆ ยังมีอีก พึงศึกษาหาความรู้ต่อไปเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การยกโทษเป็นหน้าที่ของผู้ถูกกระทำ
: แต่ผลของกรรมคนทำต้องรับเอาเอง
#บาลีวันละคำ (4,438)
6-8-67
…………………………….
…………………………….