บาลีวันละคำ

นารายณ์ทรงสุบรรณ (บาลีวันละคำ 4,437)

นารายณ์ทรงสุบรรณ

1 ในเรือพระที่นั่ง

…………..

เรือพระที่นั่งในเรือพระราชพิธีมี 4 ลำ คือ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

…………..

นารายณ์ทรงสุบรรณ” อ่านว่า นา-ราย-ซง-สุ-บัน

ประกอบด้วยคำว่า นารายณ์ + ทรง + สุบรรณ 

(๑) “นารายณ์

อ่านว่า นา-ราย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นารายณ์ : (คำนาม) ชื่อหนึ่งของพระวิษณุซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของศาสนาพราหมณ์. (ส.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า คำว่า “นารายณ์” เป็นภาษาสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “นารายณ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นารายณ : (คำนาม) ‘นารายณ์,’ นามพระวิษณุ, พระผู้เปนเจ้าผู้เจริญอยู่ก่อนโลกทั้งหลาย; มุนิ, ผู้บุตร์ของธรรม, ประกาศน์แห่งพระวิษณุ; วีรโยธ, นักรบผู้แกว่นกล้า; คงคา, ประถโมทก, ออกจาก ‘นร,’ จิตต์แห่งพระผู้เปนเจ้า; Nārāyaṇa, a name of Vishṇu, the deity who was before all worlds; a sage, the son of Dharma, a manifestation of Vishṇu; a valiant combatant; Gangā, the primeval waters, derived from Nara, the spirit of God.”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีศัพท์ว่า “นารายน” (นา-รา-ยะ-นะ) แสดงรากศัพท์ดังนี้ –

นารา ( = รัศมี) + อยฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: นารา + อยฺ = นารายฺ + ยุ > อน = นารายน แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นแดนเป็นไปแห่งรัศมีมากมายหลายชนิด” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ แปล “นารายน” ว่า เพชร, แก้ววิเชียร

คัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ขยายความคำว่า “นารายน” ไว้ดังนี้ –

…………..

ตตฺถ  นารา  วุจฺจนฺติ  รสฺมิโย  ฯ 

ในคำนั้น รัศมี เรียกว่า นารา

ตา  พหู  นานาวิธา  ตโต  อุปฺปชฺชนฺตีติ  นารายนํ  วชิรํ  ฯ

รัศมีเหล่านั้นมีประการต่าง ๆ เป็นอันมาก เกิดขึ้นจากนารานั้น ดังนั้น จึงเรียกว่า นารายนะ คือ วชิระ

ตสฺมา  วชิรสงฺขาตพลนฺติ  อตฺโถ  ฯ 

เพราะฉะนั้น คำว่า “กำลังกล่าวคือนารายนะ” จึงได้ความว่า “กำลังกล่าวคือวชิระ”

ที่มา: สารัตถทีปนี วินยฎีกา ภาค 4 หน้า 132

…………..

ได้ความตามคัมภีร์ฎีกาพระวินัยว่า “นารายนะ” คือ “วชิระ” และวชิระในที่นี้ คือ รัศมี จะหมายถึง “เพชร” คือ “แก้วที่แข็งที่สุดและมีน้ำแวววาวมากกว่าพลอยอื่น ๆ” (คำจำกัดความตามพจนานุกรมฯ) ก็ได้ หรือจะหมายถึง “สายฟ้า” ก็ได้ 

ที่แสดงมานี้คือ “นารายนะ” ตามความหมายในคัมภีร์บาลีเท่านั้น ไม่ได้รับรองยืนยันว่า “นารายนะ” ในบาลีนี้แหละที่เอาไปใช้เป็นชื่อพระวิษณุหรือพระนารายณ์

(๒) “ทรง

อ่านว่า ซง เป็นคำไทย มีความหมายหลายหลาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ 12 ข้อ ในที่นี้ใช้ตามความหมายข้อที่ (๗) ที่ว่า –

…………..

(๗) (คำกริยา) ในราชาศัพท์มีความหมายว่า ขี่ หรือ ถือ เป็นต้น ตามเนื้อความของคำที่ตามหลัง เช่น ทรงม้า ว่า ขี่ม้า ทรงช้าง ว่า ขี่ช้าง ทรงศร ว่า ถือศร ทรงศีล ว่า รับศีล ถือศีล ทรงบาตร ว่า ตักบาตร ทรงราชย์ ว่า ครองราชสมบัติ

…………..

ในที่นี้ “ทรงสุบรรณ” จึงหมายถึง ขี่ครุฑ

(๓) “สุบรรณ

อ่านว่า สุ-บัน บาลีเป็น “สุปณฺณ” อ่านว่า สุ-ปัน-นะ แยกศัพท์เป็น สุ + ปณฺณ

(ก) “สุ” เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)

(ข) “ปณฺณ” อ่านว่า ปัน-นะ รากศัพท์มาจาก ปต (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ที่สุดธาตุเป็น ณฺณ 

: ปตฺ + = ปต > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องบินไปแห่งนก” หมายถึง ขนนก, ปีกนก (a feather, wing)

: สุ + ปณฺณ = สุปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีปีกงดงามเพราะเรืองรองเหมือนทองคำ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “สุปณฺณ” ไว้ว่า “Fairwing” a kind of fairy bird, a mythical creature [cp. garuḷa], imagined as winged, considered as foe to the nāgas (นก [ครุฑ] มีปีกงามในเทพนิยาย, สัตว์ในเทพนิยาย [เทียบ ครุฬ] จินตนาการเป็นสัตว์มีปีก ถือว่าเป็นศัตรูกับพวกนาค)

บาลี “สุปณฺณ” สันสกฤตเป็น “สุปรฺณ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สุปรฺณ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สุปรฺณ : (คำนาม) ‘สุบรรณ,’ ครุฑ, ยานปักษินของพระวิษณุ; ต้นพฤกษ์; ไก่ตัวผู้; Garuda, the vehicle-bird of Vishṇu; a tree; a cock.”

สุปณฺณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สุบรรณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุบรรณ : (คำนาม) ครุฑ. (ส. สุปรฺณ; ป. สุปณฺณ).”

นารายณ์ + ทรง + สุบรรณ = นารายณ์ทรงสุบรรณ (นา-ราย-ซง-สุ-บัน) แปลว่า “พระนารายณ์ทรงครุฑ” หมายถึง พระนารายณ์ประทับบนครุฑ หรือแปลความง่าย ๆ พระนารายณ์ขี่ครุฑ

นารายณ์ทรงสุบรรณ” เป็นชื่อเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในเรือพระราชพิธี ชื่อเต็มว่า “นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

ขยายความ :

เว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี (อ่านเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 20:30 น.) กล่าวถึงเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ไว้ดังนี้ –

…………..

     นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ ก็เป็นชื่อเรียก ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ ส่วนที่เติมสร้อยว่า รัชกาลที่ ๙ เพื่อสื่อให้ประจักษ์ว่าเรือลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 – 2394)

     หัวเรือพระที่นั่งจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ บ่งบอกอิทธิพลศาสนาฮินดูตามคัมภีร์ปุราณะจากอินเดียที่มีต่อประเพณีนิยมและศิลปกรรมไทย พระวิษณุเป็นหนึ่งในเทพเจ้าสำคัญที่สุด 3 องค์ อีก 2 องค์ คือพระพรหมและพระศิวะ พระวิษณุเป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์รักษา พระองค์ถือกำเนิดบนโลกมนุษย์ในรูปร่างต่าง ๆ เรียกว่า อวตาร เชื่อกันว่าทรงแบ่งภาคลงมากำเนิดเป็นพระราชาได้ในทุกสถานที่และทุกกาลเวลา 

     ในพุทธศตวรรษที่ 19 ราชสำนักไทยได้รับเอาแนวคิดเช่นนี้มาสร้างให้เกิดความเชื่อในหมู่ประชาชนซึ่งเกื้อหนุนสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้สูงส่งประหนึ่งเทพ อย่างไรก็ดี โขนเรือพระที่นั่งลำนี้มิได้แสดงรูปพระรามซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์มีสมมติพระนามโดยเรียกตามนามของพระราม แต่ได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น 

     ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑเจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาคเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล

     เรือนารายณ์ทรงสุบรรณสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อพุทธศักราช 2539 ดำเนินการโดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร

     โขนเรือและตัวเรือจำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ เรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร น้ำหนัก 20 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน และคนเห่เรือ 1 คน

http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/royalbarges/index.php/th/hilight/

…………..

ดูก่อนภราดา!

         ๏ นารายณ์เรืองฤทธิ์ล้ำ    เลอหน   หาวแฮ

          ทรงสุบรรณบินบน          โบกฟ้า

          พ่างเพียงพระภูมิพล        อดุลยเดช

          ทรงเทิดทศธรรมหล้า      แหล่งล้วนแรงเกษม๚ะ๛

          ที่มา: กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก

          โคลงเกริ่นกาพย์เห่เรือ “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙”

          บทชนะเลิศการประกวดกาพย์เห่เรือในโอกาสสร้างเรือพระที่นั่ง

          นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เมื่อปี 2539

จะเป็นอย่างไร –

: ถ้าฝรั่งอธิบายเรื่องกาพย์เห่เรือได้

: แต่คนไทยอธิบายไม่ได้

#บาลีวันละคำ (4,437)

5-8-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *