ธรรมยุต-มหานิกาย (บาลีวันละคำ 1,011)
ธรรมยุต – มหานิกาย
1 ในแง่ภาษา
(๑) “ธรรมยุต”
อ่านว่า ทำ-มะ-ยุด
ประกอบด้วย ธรรม + ยุต
๑) “ธรรม” บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ
“ธมฺม” มีรากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
ธมฺม สันสกฤตเป็น ธรฺม เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม
พจน.54 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
๒) “ยุต” บาลีเป็น “ยุตฺต” อ่านว่า ยุด-ตะ
“ยุตฺต” มีรากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ต ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุ (คือ ชฺ) กับ ต เป็น ตฺต
: ยุชฺ + ต = ยุชต > ยุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบแล้ว” ใช้ในความหมายต่างๆ ดังนี้ :
(1) เทียมแอก, ใส่เครื่องสำหรับใช้งาน (yoked, harnessed)
(2) เข้าคู่, เชื่อมโยงกัน (coupled; connected with)
(3) อุทิศให้, ใช้กับ, คุ้นเคย, ประกอบ (devoted to, applied to, given to, engaged in)
(4) หาให้; กำหนด, ตระเตรียม, เรียบร้อย, พร้อม (furnished; fixed, prepared, in order, ready)
(5) สามารถ, เหมาะ (-ที่จะ หรือ-เพื่อจะ) (able, fit) (to or for)
(6) เหมาะเจาะ, พอเพียง (suitable, sufficient)
(7) เหมาะสม, ถูกต้อง (proper, right)
(8) เนื่องด้วย (due to)
(9) การมาบรรจบกัน หรือเข้าร่วมกัน (conjunction)
ธมฺม + ยุตฺต = ธมฺมยุตฺต > ธรรมยุต แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบในธรรม” “ประกอบด้วยธรรม” หรือ “ถูกต้องตามธรรม”
(๒) “มหานิกาย”
อ่านว่า มะ-หา-นิ-กาย
ประกอบด้วย มหา + นิกาย
๑) “มหา” (มะ-หา) รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) เมื่อนำไปใช้นำหน้าคำอื่นเปลี่ยนรูปเป็น “มหา” แปลว่า มาก, ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ
๒) “นิกาย” บาลีอ่านว่า นิ-กา-ยะ
“นิกาย” มีรากศัพท์มาจาก นิ (ไม่มี, ออก) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ (ที่ จิ) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย, แปลง จ เป็น ก
: นิ + จิ + ณ = นิจิ > นิเจ > นิจาย > นิกาย แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่สะสมส่วนย่อยทั้งหลายไว้โดยไม่ต่างกัน” ( = พวกที่ไม่ต่างกันมารวมอยู่ด้วยกัน) หมายถึง การรวบรวม, การประชุม, ชั้น, กลุ่ม, พวก, หมู่ (collection, assemblage, class, group)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “นิกาย” ไว้ว่า –
(1) หมู่, พวก, หมวด, ใช้เกี่ยวกับศาสนา ในกรณีเช่นคณะนักบวชในศาสนาเดียวกัน ที่แยกออกไปเป็นพวก ๆ เช่น มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์.
(2) เรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกที่แยกออกเป็น ๕ หมวดใหญ่ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย.
มหา + นิกาย = มหานิกาย แปลตามศัพท์ว่า “กลุ่มที่มีจำนวนมาก”
2 ในแง่ความเข้าใจ
คำว่า “ธรรมยุต – มหานิกาย” เป็นคำที่ใช้เรียกนิกายคณะสงฆ์ไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “ธรรมยุต” ไว้ บอกความหมายว่า –
“ธรรมยุต : ชื่อพระสงฆ์นิกายหนึ่ง, คู่กับมหานิกาย., ธรรมยุติกนิกาย ก็เรียก.”
แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ธรรมยุต” ไว้ (ตัดคำนี้ออกไป) แต่มีคำว่า “ธรรมยุติกนิกาย” มาแทน
สรุปว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำไว้ดังนี้ :
(1) ธรรมยุติกนิกาย : ชื่อคณะสงฆ์นิกายหนึ่ง, คู่กับมหานิกาย, เรียกสั้นๆ ว่า ธรรมยุต.”
(2) มหานิกาย : ชื่อคณะสงฆ์นิกายหนึ่ง, คู่กับ ธรรมยุติกนิกาย.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ :
(1) ธรรมยุต, ธรรมยุติกนิกาย : ดู คณะธรรมยุต
(2) คณะธรรมยุต : คณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นภิกษุในรัชกาลที่ 3 (เรียกว่า ธรรมยุตติกา หรือ ธรรมยุติกนิกาย ก็มี); สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์ออกจากมหานิกายนั้นเอง แต่ได้รับอุปสมบทในรามัญนิกายด้วย” (การคณะสงฆ์ น. 10)
(3) มหานิกาย : ดู คณะมหานิกาย
(4) คณะมหานิกาย : คณะสงฆ์ไทยเดิมที่สืบมาแต่สมัยสุโขทัย, เป็นชื่อที่ใช้เรียกในเมื่อได้เกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นแล้ว; สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง [ของประเทศไทย – ผู้เขียน] ก่อนเกิดธรรมยุติกนิกาย” (การคณะสงฆ์, น. 90)
พระสงฆ์ทั้งฝ่าย “ธรรมยุต” และ “มหานิกาย” รวมอยู่ใน “คณะสงฆ์ไทย” ด้วยกัน
: ถ้าเทิดพระธรรมวินัยไว้สูงสุด
: ก็ไม่ต้องยึดติดคำว่าธรรมยุตหรือมหานิกาย
23-2-58