บาลีวันละคำ

จักราวตาร (บาลีวันละคำ 4,533)

จักราวตาร

คือนารายณ์อวตาร

อ่านว่า จัก-กฺรา-วะ-ตาน

แยกศัพท์เท่าที่ตาเห็นเป็น จักร + อวตาร

แยกศัพท์ตามความหมายเป็น จักรี + อวตาร

(๑) “จักร

เขียนแบบบาลีเป็น “จกฺก” อ่านว่า จัก-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) (แทนศัพท์ว่า “คมน” = การไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ, ซ้อน กฺ ระหว่าง + กรฺ

: + กฺ + กรฺ + กฺวิ = จกฺกรกฺวิ > จกฺกร > จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทำให้เคลื่อนไปได้” หมายถึง ล้อ, วงล้อ, ชิ้นส่วนที่เป็นวงกลม

(2) จกฺก (ธาตุ = เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย

: จกฺก + = จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนแผ่นดิน” (คือบดแผ่นดิน) หมายถึง ล้อ, วงล้อ และหมายถึง กงจักร คืออาวุธรูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ สำหรับขว้างไปสังหาร

(3) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย, ทำ ต้นธาตุให้เป็นสองอักษร (ภาษาไวยากรณ์ว่า “เทฺวภาวะ” = ภาวะที่เป็นสอง : กรฺ > กกรฺ) แล้วแปลง ที่เกิดใหม่เป็น (กกรฺ > จกรฺ), แปลง เป็น กฺก, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ

: กรฺ + = กร > กกร > จกร > จกฺกร > จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหตุให้ทำการยึดครองได้” หมายถึง กองทัพ, กำลังพล, กำลังรบ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จกฺก” ไว้ดังนี้ –

(1) a wheel [of a carriage] (ล้อ [รถ])

(2) a discus used as a missile weapon (แผ่นหินแบนกลมใช้เป็นอาวุธสำหรับขว้างไป)

(3) a disc, a circle (แผ่นกลม, วงกลม)

(4) an array of troops (ขบวนทหาร)

(5) collection, set, part; succession; sphere, region, cycle (หมู่, กลุ่ม, ชุด, ส่วน; การสืบลำดับ; ถิ่น, เขตแดน, รอบ)

(6) a vehicle, instrument, means & ways; attribute, quality; state, condition, esp. good condition [fit instrumentality] (ยานพาหนะ, เครื่องมือ, หนทางและวิถีทาง; คุณสมบัติ, คุณภาพ, สถานะ, สภาพ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไขที่ดี [เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมได้]) 

บาลี “จกฺก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “จักร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จักร, จักร– : (คำนาม) อาวุธในนิยาย รูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ เช่น พระนารายณ์ทรงจักร, สิ่งที่มีลักษณะเป็นวงกลมอย่างล้อรถ เช่น จักรที่ใช้ขว้างในการกีฬา, สิ่งที่มีรูปเป็นวงกลมมีฟันเฟืองหมุนด้วยพลังงานต่าง ๆ เช่น จักรนาฬิกา, เรียกเครื่องกลบางชนิด เช่น เครื่องจักร รถจักร, เรียกเครื่องเย็บผ้าที่ใช้เดินด้วยพลังงานหรือใช้เท้าถีบหรือใช้มือหมุนว่า จักร หรือ จักรเย็บผ้า; บรรจบรอบแห่งปีหรือแห่งฤดู เช่น พฤหัสบดีจักร. (ส.; ป. จกฺก).”

(๒) “จักรี” 

เทียบกลับเป็นบาลีเป็น “จกฺกี” อ่านว่า จัก-กี ประกอบขึ้นจาก จกฺก + อี ปัจจัย

: จกฺก + อี = จกฺกี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีจักร” 

จักร” ในที่นี้หมายถึง “จกฺก” ตามข้อ (2) ข้างต้น คือ (แผ่นหินแบนกลมใช้เป็นอาวุธสำหรับขว้างไป (a discus used as a missile weapon) หรือที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “อาวุธในนิยาย รูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ เช่น พระนารายณ์ทรงจักร”

จกฺกี > จักรี ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จักริน, จักรี : (คำนาม) ผู้มีจักร หมายถึง พระนารายณ์, ต่อมาหมายถึง พระราชา ตามคติความเชื่อของไทยที่ถือว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร. (ส. จกฺรี, จกฺรินฺ; ป. จกฺกี).”

สรุปว่า “จักรี” ในที่นี้ หมายถึง พระนารายณ์

(๓) “อวตาร” 

บาลีอ่านว่า อะ-วะ-ตา-ระ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + ตรฺ ธาตุ = ข้าม) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ตรฺ > ตาร)

: อว + ตรฺ = อวตรฺ + = อวตรณ > อวตร > อวตาร แปลตามศัพท์ว่า “การข้ามลง” “ที่เป็นเครื่องข้ามลง” 

แต่ในคัมภีร์บาลียังไม่พบศัพท์ “อวตาร” คำที่มาจากรากศัพท์เดียวกันที่มีในคัมภีร์ คือ “โอตาร” (โอ-ตา-ระ) 

โอตาร” มีกระบวนการทางไวยากรณ์เหมือน “อวตาร” ต่างกันแต่แปลง “อว” เป็น “โอ” 

: อว + ตรฺ = อวตรฺ + = อวตรณ > อวตร > อวตาร > โอตาร 

อว” แปลง เป็น “โอ” พบได้ทั่วไปในบาลี หรือจะกล่าวก็ได้ว่า อุปสรรคคำนี้มี 2 รูป เป็น “อว” รูปหนึ่ง เป็น “โอ” อีกรูปหนึ่ง ในที่นี้บาลีใช้รูป “โอ

โอตาร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) จุติ, การเข้าถึง, ใกล้เข้ามา (descent to, approach to, access)

(2) โอกาส, จังหวะ (chance, opportunity)

(3) การเข้าถึง (access)

(4) ความโน้มเอียงไปทาง, ความเป็นกันเอง, ความคุ้นเคย, การเข้าใกล้ (inclination to, being at home with, approach, familiarity)

(5) แสวงหาอะไรบางอย่าง, สอดแนม, เสาะหา; โทษ, ความผิด, มลทินหรือการตำหนิข้อบกพร่อง, ช่องโหว่ (being after something, spying, finding out; fault, blame, defect, flaw)

บาลี “โอตาร” สันสกฤตใช้เป็น “อวตาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อวตาร : (คำนาม) การจุติของเทพดา; การเอาร่างของพระวิษณุ; (คำเยินยอ) ‘พระอวตาร,’ ผู้เลื่อมใสหรือสูงศักดิ์; descent of a deity from heaven; incarnation of Vishṇu; (a flattery) ‘Avatāra,’ a pious or distinguished person.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อวตาร : (คำกริยา) แบ่งภาคมาเกิดในโลก (ใช้แก่พระนารายณ์) เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นปลา. (ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

อวตาร : การลงมาเกิด, การแบ่งภาคมาเกิด, เป็นความหมายในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เช่น พระนารายณ์อวตาร คือแบ่งภาคลงมาจากสวรรค์มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นต้น.

…………..

(1) จักร + อวตาร = จักราวตาร แปลตามศัพท์ว่า “การจุติลงมาของจักร” คือ จักรอวตารลงมาเกิด 

ความหมายนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะจักรเป็นสิ่งไม่มีชีวิต จึงไม่สามารถจุติลงมาเกิดเป็นอะไรได้ เว้นไว้แต่จินตนาการเอาเอง

(2) จักรี + อวตาร ใช้สูตร “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ จักรี (จักรี > จักร)

: จักรี > จักร + อวตาร = จักราวตาร แปลตามศัพท์ว่า “การจุติลงมาของผู้มีจักร” คือ ผู้มีจักรอวตารลงมาเกิด 

จักรี” = ผู้มีจักร ในที่นี้หมายถึงพระนารายณ์ “จักราวตาร” จึงหมายถึง พระนารายณ์จุติลงมาเกิด คือที่เรียกกันว่า พระนารายณ์อวตาร

พระนารายณ์อวตารเป็นคติในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู คือ พระนารายณ์แบ่งภาคลงมาจากสวรรค์มาเกิดเป็นวีรบุรุษเพื่อดับเข็ญในสังคมนั้น ๆ เช่นพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระรามในมหากาพย์รามายณะที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “รามเกียรติ์” เป็นต้น

ขยายความ :

เว็บไซต์ หน่วยราชการในพระองค์ เสนอข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรม เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 มีข้อความดังนี้ –

…………..

             วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.14 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนรอบปฐมทัศน์ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

             พุทธศักราช 2567 นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวาระหนึ่งที่ได้ร่วมเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคล ได้แก่ การเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม2567 และการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ จึงได้ร่วมเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการจัดการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” อันเป็นตอนที่แสดงกฤษฎาภินิหารของพระจักราหรือพระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเป็นพระราม โอรสของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยาเพื่อปราบฝ่ายอธรรม เปรียบประดุจพระราชวงศ์จักรีที่ผดุงความสุขความสงบให้กับพสกนิกรชาวไทยตลอดมา “พระจักราวตาร” จับตอนตั้งแต่พระอินทร์และเหล่าเทพนิกรพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ ขณะที่ประทับอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราชพร้อมพระลักษมีพระชายา ให้เสด็จลงมาปราบยุคเข็ญ พระนารายณ์จุติลงมาเป็นพระราม และพระลักษมีลงมาเป็นนางสีดา ปฐมเหตุแห่งการต่อสู้ปราบอธรรมคือทศกัณฐ์และพระญาติวงศ์ จากนั้น ได้ดำเนินเรื่องเป็นลำดับตั้งแต่ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองเข้าไปล่อลวงพระรามให้ตามกวาง แล้วลักพาตัวนางสีดาขึ้นราชรถเหาะไปยังกรุงลงกา เป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่าง กองทัพพระรามและทศกัณฐ์

             นับเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ ได้จัดการแสดงโขนเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนงในการแสดงโขน โดยสิ่งที่เป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินงาน คือพระราชดำรัสเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ว่า “ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน” นับเป็นความโชคดีของคนไทยและประเทศไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการแสดงโขนอย่างเอาพระทัยใส่ทุกมิติ เป็นการธำรงนาฏศิลป์ อันทรงคุณค่าของชาติให้สืบทอดอยู่อีกนานเท่านาน

https://www.royaloffice.th/2024/11/04/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%99

…………..

โขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระจักราวตาร เปิดการแสดงที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2567

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลงมือแก้ปัญหาด้วยสติปัญญาของมนุษย์ด้วย

: อย่ารอให้ผู้มีบุญอวตารลงมาช่วยท่าเดียว

#บาลีวันละคำ (4,533)

9-11-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *