บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขึ้นรถ ลงเรือ

ขึ้นรถ-ลงเรือ 

——————-

อย่าเชื่อแค่ตาเห็น

……….

ท่านอาจารย์พิมพ์ วศินธรรมนนท์‎ ถามผมมาเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ ดังนี้ :

เรียนถามข้อสงสัยค่ะท่านอาจารย์

ดิฉันอายุ 59 กำลังก้าวย่าง 60 ค่ะ พ่อแม่ครูเคยสอนคำว่า ขึ้นรถ ลงเรือ โดยอธิบายจากสภาพความเป็นจริง รถต้องก้าวขึ้น เรือต้องก้าวลง เมื่อมาเป็นครูก็จดจำมาบอกกล่าวแก่นักเรียน แรกๆ ที่เป็นครูไม่มีปัญหาเพราะสอนเด็กบ้านสวน เขาจะคุ้นเคยกับสภาพขึ้นรถลงเรือ แต่ปัจจุบันนักเรียนไม่เข้าใจว่าทำไมใช้เหมือนกันไม่ได้ ขึ้นรถขึ้นเรือ ประกอบกับสื่อปัจจุบันก็ใช้เหมือนเด็กนักเรียนเพราะวัยเดียวกัน ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่าของเก่าหรือของใหม่ที่ถูกต้อง ความหมายเดียวกันหรือไม่ และสามารถใช้แทนกันได้หรือไม่ # ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ให้ความรู้ค่ะ ถึงแม้จะใกล้หมดหน้าที่แล้ว แต่การเรียนรู้มิได้หมดตามค่ะ

————-

ผมมีความคิดเห็นดังนี้ครับ

พาหนะธรรมดาสามัญของมนุษย์ ก็คือรถกับเรือ (ขอขีดวงแค่นี้นะครับ พาหนะอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับประเด็นนี้)

รถอยู่บนบก เรืออยู่ในน้ำ 

แล้วธรรมชาติของมนุษย์ก็อยู่บนพื้นดิน 

โปรดระลึกถึงธรรมชาติธรรมดาข้อนี้เป็นหลักไว้

เมื่อมนุษย์จะเอาตัวเข้าไปอยู่ในรถ ก็ต้องยกตัวขึ้นไป จะก้าวขึ้น โหนขึ้น หรือทำกิริยาใดๆ ก็แล้วแต่ ตัวของมนุษย์จะต้อง “ขึ้นจากพื้น” จึงจะเข้าไปอยู่ในรถได้ 

นี่คือที่มาของคำว่า “ขึ้นรถ”

ส่วนเรือนั้นต้องอยู่ในน้ำ และธรรมชาติของน้ำต้องอยู่ต่ำกว่าพื้นดินเสมอ (ขอให้ยึดเอาธรรมชาติเป็นหลักนะครับ กรุณาอย่าเอาสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นและผิดจากธรรมชาติ มาเป็นข้อโต้แย้ง เช่นน้ำในเขื่อนอยู่สูงกว่าพื้นดิน)

เมื่อธรรมชาติของน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้น เรือซึ่งต้องอยู่ในน้ำก็ย่อมอยู่ต่ำกว่าพื้นไปด้วยโดยธรรมชาติ

เมื่อมนุษย์จะเอาตัวเข้าไปอยู่ในเรือ จึงต้องหย่อนตัวลงไป คือตัวของมนุษย์จะต้อง “ลงจากพื้น” จึงจะเข้าไปอยู่ในเรือได้ 

นี่คือที่มาของคำว่า “ลงเรือ”

คำพูดในภาษาไทยจึงมีว่า “ขึ้นรถ-ลงเรือ” 

คือ รถ ต้อง “ขึ้น” 

เรือ ต้อง “ลง” 

เป็นภาษาที่เกิดจากความจริงตามธรรมชาติ

แล้ว “ขึ้นเรือ” มาได้อย่างไร ?

ก็มาจากการมองอะไรตื้นๆ นั่นเอง คือมองเห็นแค่ “ส่วนของเรือ” ที่อยู่สูงกว่าพื้นดินเมื่อจอดเทียบท่า 

โปรดเข้าใจนะครับว่า เรือที่มนุษย์รู้จักทำขึ้นในยุคแรกเริ่มนั้นเมื่อลอยอยู่ในน้ำยังไม่มีส่วนใดอยู่สูงกว่าพื้นดิน ความคิดที่จะ “ขึ้นเรือ” จึงยังไม่เกิดขึ้น

ต่อมาเมื่อมนุษย์รู้จักพัฒนาวิธีสร้างเรือขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถต่อเรือลำใหญ่ๆ -ที่เมื่อจอดเทียบท่าส่วนบนของเรืออยู่สูงกว่าพื้นดิน-ขึ้นมาได้ นั่นแหละที่ความรู้สึกว่าต้อง “ขึ้นเรือ” จึงเกิดขึ้น

ขอให้สังเกตว่า ที่มองเห็นและคิดว่าจะต้อง “ขึ้น” นั้นคือ “ส่วนของเรือ” หรือชี้ลงไปให้ชัดก็คือ “กราบเรือ” เท่านั้น แต่พื้นอันเป็นที่ตั้งของตัวเรือทั้งหมดก็อยู่ต่ำกว่าพื้นดินอยู่นั่นเอง 

เพียงแค่ชะโงกลงไปดูก็จะเห็นความจริงว่า เรืออยู่ต่ำกว่าพื้น

กราบเรือ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวเรือ เมื่อเราเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในเรือนั้นเรามุ่งไปที่ตัวเรือ เราไม่ได้มุ่งแค่จะไปอยู่ตรงกราบเรือเท่านั้น ใช่หรือไม่

ถ้าบอกว่า เรา “ขึ้นกราบเรือ” ละก็ พอฟังได้ 

แต่ในที่สุดจริงๆ แล้วเราก็ต้อง “ลง” ไปอยู่ในตัวเรือนั่นเอง เพราะตัวเรือต้องอยู่ในน้ำ และน้ำต้องอยู่ต่ำกว่าพื้นดินเสมอ ใช่หรือไม่

เพราะฉะนั้น เรา “ขึ้นเรือ” หรือ “ลงเรือ” – โปรดคิดกันให้ดีๆ

คำว่า “ขึ้น” หรือ “ลง” จึงขึ้นอยู่กับหลักความจริงเช่นนี้ 

ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับที่ตามองเห็น (และเห็นเฉพาะหน้าเท่านั้นด้วย ทั้งๆ ที่ของจริงๆ ทั้งหมดก็มีอยู่ตรงนั้นเอง แต่ไม่มองให้เห็น)

สรุปว่า คำพูดที่ถูกต้องในสถานการณ์ทั่วไปก็คือ “ขึ้นรถ” “ลงเรือ”

ไม่ใช่ “ขึ้นเรือ”

ขอย้ำว่า “ในสถานการณ์ทั่วไป” นะครับ

กรุณาอย่าเอาคำที่ใช้ในสถานการณ์เฉพาะมาเป็นข้อโต้แย้ง

เช่น มีคำเรียกตำแหน่งบางตำแหน่งในกองทัพเรือว่า “นายทหารการขึ้นสู่เรือ” และอาจมีข้อความในที่อื่นๆ อีกที่ใช้ในกองทัพเรือว่า “ขึ้นสู่เรือ” ซึ่งมีนัยว่า “ขึ้นเรือ” ไม่ใช่ “ลงเรือ”

อันนี้เป็นการใช้ภาษาเฉพาะกรณีและด้วยเหตุผลเฉพาะกรณี (ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าคนในกองทัพเรือที่ใช้คำนี้ก็เพราะความคิดอันเกิดจากการมองเท่าที่ตาเห็นเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสมัยนี้นั่นเอง)

————-

คนสมัยนี้แปลกดี เขาเอาความคิดความเข้าใจของเขาเป็นที่ตั้ง แล้วกำหนดหลักขึ้นจากความคิดนั้น แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการศึกษาหลักเดิมที่มีอยู่แล้วเสียก่อน

ภาษาไทยมีรากเหง้าครับ

ละเลยหลักวิชาของคนเก่า ก็คือลืมรากเหง้าของตัวเอง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘

————

หมายเหตุ :

เนื้อหาสาระในเรื่องนี้ ผมโพสต์ไว้ที่กระดานสนทนา เว็บไซต์ราชบัณฑิตสถาน (ชื่อในขณะนั้น) เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๕

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *