บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ไม่คิดจะซ้อมดับเพลิงกันบ้างหรือขอรับ

ไม่คิดจะซ้อมดับเพลิงกันบ้างหรือขอรับ

————————-

ตอนนี้ก็เข้าพรรษาแล้ว มีใครสงสัยหรือสนใจกันบ้างหรือเปล่าครับว่า ปีนี้วัดในเมืองไทยที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูปมีอยู่กี่วัด 

ถ้าสมมุติว่ามีคนอยากรู้ขึ้นมา จะไปถามใคร หรือจะไปหาคำตอบแน่ๆ ได้ที่ไหน

เรื่องแบบนี้ มี ๒ แห่งที่คนควรจะต้องนึกถึง หนึ่งคือมหาเถรสมาคม สองคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ลองเดาดูซิครับว่าหน่วยไหนควรจะตอบได้

ตอบได้ทั้งสองหน่วย

หรืออาจจะตอบไม่ได้ทั้งสองหน่วย

ไม่มีใครยืนยันว่าได้หรือไม่ได้

อาจมีสถิติอยู่ แต่ต้องใช้เวลาตรวจสอบ ถามปุ๊บตอบปั๊บเลยน่าจะไม่ได้

สมมุติว่ามีสถิติอยู่ แต่ขอเวลาตรวจสอบ ก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่า ขอเวลาตรวจสอบ ๑๐ นาที หรือ ๑๐ วัน หรือ ๑๐ เดือนจึงจะได้คำตอบ

และถ้า มส. หรือ พศ. ไม่เคยทำสถิติหรือไม่เคยเก็บสถิติไว้ มีใครในหน่วยทั้งสองนี้คิดจะทำบ้างหรือไม่

ผมเข้าใจว่า ตามสายการปกครองน่าจะมีระเบียบให้แจ้งจำนวนพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในวัดต่างๆ ไปยังหน่วยปกครองสูงสุด คือจากเจ้าอาวาสแต่ละวัดแจ้งไปยังเจ้าคณะตำบล ตำบลไปอำเภอ อำเภอไปจังหวัด จังหวัดไปภาค ภาคไปหน หนไปมหาเถรสมาคม สถิติจากวัดต่างๆ ไปรวมอยู่ที่ มส. หรือ พศ. แต่หน่วยทั้งสองนี้จะมีวิธีจัดระเบียบสถิติชนิด-อยากรู้อะไร สถิติที่เก็บไว้จะขึ้นมาให้ดูได้ในคลิกเดียว-แบบนี้หรือเปล่า ไม่แน่ใจ

ผมเคยเสนอลอยลมไปว่า คณะสงฆ์ควรตั้ง “กองสถิติคณะสงฆ์” ทำหน้าที่สำรวจ+เก็บสถิติทุกด้านที่เกี่ยวกับวัดและพระภิกษุสามเณร

ใครอยากรู้อะไรบ้างล่ะ เช่น – 

พระที่เป็นเปรียญ ๙ ประโยคทั้งประเทศมีกี่รูป

พระภิกษุที่อายุเกิน ๖๐ มีกี่รูป ต่ำกว่า ๖๐ มีกี่รูป

พระภิกษุสามเณรที่ติดโควิดทั้งประเทศขณะนี้มีกี่รูป

พระภิกษุสามเณรที่อาพาธติดเตียงทั้งประเทศขณะนี้มีกี่รูป

พระภิกษุสามเณรทั้งประเทศ ณ วันนี้ ตัวเลขจริง ไม่ใช่ตัวเลขประมาณ มีกี่รูป

แล้วก็-พรรษานี้วัดในเมืองไทยที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูปมีอยู่กี่วัด

ฯลฯ

คลิกเดียว กองสถิติคณะสงฆ์ตอบได้ทันที

…………………

ที่ผมถามเรื่องวัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ก็เพราะวาดภาพอนาคตอันใกล้เพียง ๓ เดือนข้างหน้านี้ พอออกพรรษาก็จะรับกฐินกันตามพุทธานุญาต

วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูปก็จะสร้างปัญหาให้ถกเถียงกันอีกซ้ำซาก-รับกฐินได้หรือไม่ได้

เป็นเรื่องประหลาดมาก หลักพระธรรมวินัยก็มีกำหนดไว้ชัด แต่คณะสงฆ์กลับปล่อยให้สับสน ไม่ทำให้ชัด

ก็แค่ตรวจสอบในพระวินัย แล้วประกาศมติให้ชัดเจน และกำชับให้ถือปฏิบัติเหมือนกันทั่วสังฆมณฑล เท่านี้ก็เรียบร้อย 

การบริหารจัดการให้ทุกวัดมีพระจำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูป เป็นวิธีหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความลักลั่นสับสน

แต่ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์ไม่มีนโยบายที่จะบริหารจัดการใดๆ คงปล่อยให้เป็นไปตามสภาพสังคม หรือตามธรรมชาติ หรือพูดประชดก็ว่า-ตามบุญตามกรรม

บริหารจัดการให้ทุกวัดมีพระจำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูป ก็ไม่ทำ

วัดมีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป รับกฐินได้หรือไม่ ตรวจสอบในพระวินัย แล้วประกาศมติให้ชัดเจน และกำชับให้ถือปฏิบัติเหมือนกันทั่วสังฆมณฑล ก็ไม่ทำ

…………………

เรื่องกฐินนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมบอกว่า-เรากำลังป่วยด้วยโรค “สนใจตามเทศกาล” 

ตอนนี้ไม่มีใครสนใจเรื่องกฐิน ไม่มีใครยกเรื่องกฐินมาพูด เพราะยังไม่ถึงเทศกาลกฐิน

พอออกพรรษา ถึงเทศกาลกฐิน ทีนี้แหละพูดกันกระหึ่ม แต่ใครทำผิดทำถูกอย่างไร ก็ทำกันไปแล้ว เพราะส่วนมากเตรียมการกันมาก่อนแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ แก้อะไรก็ไม่ทัน

พูดกันเดือนเดียว พอหมดเทศกาลกฐินก็เลิกพูด อะไรที่ทำกันผิดๆ ก็เก็บหมกกันไว้อีกปีหนึ่ง ถึงปีหน้าก็ทำกันผิดๆ ซ้ำซากต่อไปอีก

ผมขอให้คณะสงฆ์ตั้งคณะทำงานขึ้นมา อัญเชิญพุทธานุญาตเรื่องกฐินจากพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกออกมาพิจารณาตรวจสอบสืบสวนให้ถ้วนถี่ แล้วประกาศเป็นมติคณะสงฆ์ไทยว่า 

กฐิน-ทำอย่างนี้ๆ ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

กฐิน-ทำอย่างนี้ๆ ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ขอให้ทุกวัดปฏิบัติตามมติคณะสงฆ์ให้เป็นเอกภาพทั่วสังฆมณฑล

ทำกันให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะถึงเทศกาลกฐิน จะได้หรือไม่

…………………

กองทัพเรือ (และน่าจะเหมือนกันทุกกองทัพ) มีหลักนิยมว่า ต้องมีการซ้อมดับเพลิงกันตามวงรอบ

“ตามวงรอบ” หมายถึงตามระยะเวลาที่กำหนด ดูเหมือนจะปีละครั้งหรือสองครั้ง ไม่แน่ใจ

ผมรับราชการในกองทัพเรือ ๒๕ ปี เจอซ้อมดับเพลิงทุกปี

ทหารเรือทุกหน่วยซ้อมดับเพลิงกันทุกปี สมมุติสถานการณ์ว่าเกิดเพลิงไหม้ขึ้นภายในหน่วยงาน ใครจะต้องทำอะไร อย่างไร ที่ไหน ปฏิบัติการเหมือนเกิดเพลิงไหม้จริงๆ

หากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นจริงๆ จะได้ไม่ต้องวิ่งพล่านหรือมองหน้ากันเลิ่กลั่ก เอาไงดีหว่า ทำไงดีหว่า เพราะพระเพลิงท่านไม่รอให้เราปรึกษากันเสร็จก่อนแล้วจึงไหม้

…………………

เรื่องกฐินนี่ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนไฟไหม้ ไหม้ทุกปี

คณะสงฆ์ไม่คิดจะซ้อมดับเพลิงกันบ้างหรือขอรับ?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๑:๓๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *