สัมมาอรหัง (บาลีวันละคำ 1,034)
สัมมาอรหัง
อ่านว่า สำ-มา-อะ-ระ-หัง
(๑) “สัมมา” บาลีเป็น “สมฺมา” (สำ-มา)
“สมฺมา” รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + อ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สมุ > สม + ม = สมฺม + อ = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ”
หมายเหตุ :
“สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)
“สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน
——-
“สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง
“สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)
คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ
คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)
(๒) “อรหัง” บาลีเป็น “อรหํ” (อะ-ระ-หัง)
“อรหํ” ศัพท์เดิมเป็น “อรหนฺต” (อะ-ระ-หัน-ตะ) มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :
(1) อรห (ธาตุ = สมควร) + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”
(2) น (= ไม่, ไม่ใช่) > อ + รห (ธาตุ = สละ, ทอดทิ้ง) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้อันคนดีไม่ควรทอดทิ้ง”
(3) อริ (= ข้าศึก) > อร + หนฺ (ธาตุ = กำจัด) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว”
(4) อร (= ดุม กำ กง อันประกอบเข้าเป็นวงล้อ) + หนฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏได้แล้ว”
(5) น (= ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห (= การไปมา) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีการไปมา” คือไม่ไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก
(6) น (= ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห (= ความลับ, ที่ลับ, ความชั่ว) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีความลับ” (ไม่มีความไม่ดีไม่งามที่จะต้องปิดบังใครๆ) “ผู้ไม่มีที่ลับ” (สำหรับที่จะแอบไปทำความไม่ดีไม่งาม) “ผู้ไม่มีความชั่ว”
“อรหนฺต” ในบาลีเมื่อใช้ในข้อความจริง มักเปลี่ยนรูปเป็น “อรหํ” (อะ-ระ-หัง) หรือ “อรหา” (อะ-ระ-หา)
สัมมา + อรหัง = สัมมาอรหัง เป็นคำบริกรรมเมื่อเจริญสมถกรรมฐานตามแบบแผนของอาจารย์บางสำนัก สันนิษฐานว่าตัดมาจากคำในบทพุทธคุณที่ว่า “อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ”
อรหํ = ทรงเป็นพระอรหันต์ (ดูความหมายข้างต้น)
สมฺมาสมฺพุทฺโธ = ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
คำตามลำดับควรจะเป็น “อรหังสัมมา” (“อรหัง” เต็มคำ, “สัมมา” ตัดมาจาก “สมฺมาสมฺพุทฺโธ”) แต่กลับหน้ากลับหลังจึงเป็น “สัมมาอรหัง”
“สัมมาอรหัง” ถ้าจะให้แปล ก็ยังแปลได้ว่า “เป็นพระอรหันต์อย่างถูกต้อง”
แปลอย่างนี้เสมือนเป็นคำเตือนสตินักปฏิบัติธรรมว่า จงปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์อย่างถูกต้อง อย่าเป็นพระอรหันต์เก๊
: คำบางคำ อยู่หน้าก็ดูดี อยู่หลังก็ดูดี
: คนบางคน ต่อหน้าดูดี แต่ลับหลังดูไม่ค่อยดี
—————
(วิสัชนาโดยสังเขปไว้ทีก่อน พอประทังความปรารถนาจะรู้ความหมายของ “สัมมา” โดยพิสดาร ของ Fongchan Na Nagara)
18-3-58