รหัสไปรษณีย์ (บาลีวันละคำ 4,618)

รหัสไปรษณีย์
ส่งให้ทุกที่ไม่ว่าจะลับหรือไม่ลับ
อ่านว่า ระ-หัด-ไปฺร-สะ-นี
ประกอบด้วยคำว่า รหัส + ไปรษณีย์
(๑) “รหัส”
บาลีเป็น “รหสฺส” อ่านว่า ระ-หัด-สะ รากศัพท์มาจาก รห (ที่ลับ) + ส ปัจจัย, ซ้อน สฺ
: รห + สฺ + ส = รหสฺส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีอยู่ในที่ลับ”
“รหสฺส” เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความลับ, ความเร้นลับ (secrecy, secret) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ลับ, เฉพาะ (secret, private)
บาลี “รหสฺส” สันสกฤตเป็น “รหสฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“รหสฺย : (คำนาม) ‘รหัสย์,’ ความลับ, ความลึกลับ; a secret, a mystery; – (คำวิเศษณ์) ลับ; private, secret.”
ในภาษาไทย “รหสฺส” ตัด ส ออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “รหัส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รหัส : (คำนาม) เครื่องหมายหรือสัญญาณลับซึ่งรู้เฉพาะผู้ที่ตกลงกันไว้, ข้อความที่เปลี่ยนตัวอักษรอื่นแทนอักษรที่ต้องการจะใช้ หรือสลับตำแหน่งอักษรของข้อความนั้น หรือใช้สัญลักษณ์แทน เป็นต้น ซึ่งรู้กันเฉพาะผู้ที่รู้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ, ระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ในเครื่องมือเครื่องใช้อย่างกุญแจหรือตู้นิรภัยเป็นต้น เช่น เลขรหัสบัตรเครดิต. (ป. รหสฺส; ส. รหสฺย).”
(๒) “ไปรษณีย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไปรษณีย-, ไปรษณีย์ : (คำนาม) วิธีการส่งหนังสือและหีบห่อสิ่งของเป็นต้นโดยมีองค์การที่ตั้งขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่รับส่ง. (ส. เปฺรษณีย).”
พจนานุกรมบอกว่า “ไปรษณีย์” มาจากสันสกฤตว่า “เปฺรษณีย”
ดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่พบคำว่า “เปฺรษณีย” แต่มีคำว่า “เปฺรษณ” ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกัน และบอกไว้ว่า –
“เปฺรษณ : (คำนาม) ‘เปรษณ’ การใช้หรือส่งไป; sending or despatching.”
บาลีมีคำว่า “เปสนิย” อ่านว่า เป-สะ-นิ-ยะ ความหมายเดียวกับ “เปฺรษณีย” ในสันสกฤต
“เปสนิย” รากศัพท์มาจาก –
(1) ปิสฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ปิ– เป็น เอ
: ปิสฺ > เปส + ยุ > อน = เปสน แปลตามศัพท์ว่า “การส่งไป” หมายถึง การส่งไป, การส่งสาร; การบริการ (sending out, message; service)
(2) เปสน + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคมที่ น
: เปสน + อิ + ณฺย = เปสนิณฺย > เปสนิย แปลตามศัพท์ว่า “อันควรส่งไป” ใช้ในความหมายว่า -เกี่ยวกับข่าวสาร, ส่งสารไป (connected with messages, going messages)
: เปสนิย > เปฺรษณีย > ไปรษณีย์
รหัส + ไปรษณีย์ = รหัสไปรษณีย์ แปลว่า “เครื่องหมายลับเพื่อการส่งสิ่งที่ควรส่งไป”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “รหัสไปรษณีย์” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“รหัสไปรษณีย์ : (คำนาม) รหัสที่กำหนดประจำท้องที่เพื่อประโยชน์ในการไปรษณีย์.”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “รหัสไปรษณีย์” บัญญัติขึ้นจากคำอังกฤษว่า postcode
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “รหัสไปรษณีย์” (อ่านเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 20:30 น.) อธิบายเรื่องรหัสไปรษณีย์ไว้ ขอยกมาโดยประสงค์ ดังนี้ –
…………..
รหัสไปรษณีย์ : เป็นรหัสที่ทางไปรษณีย์ใช้ในการคัดแยกจดหมายเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งปลายทางแต่ละพื้นที่จะมีการกำหนดรหัสแตกต่างกัน
รหัสที่ใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกาจะใช้ตัวอักษรย่อของรัฐสองตัวตามด้วยตัวเลขห้าหลัก เช่น CA 90210 ที่เรียกว่า ZIP code ส่วนประเทศไทยใช้ตัวเลข 5 หลัก
ชาติแรกที่ใช้รหัสไปรษณีย์คือประเทศเยอรมนี เมื่อคริสต์ทศวรรษ 1960
รหัสไปรษณีย์ของไทย เริ่มใช้งานในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525 ประกอบไปด้วยตัวเลขห้าหลัก โดย –
๏ หลักแรกแทนภูมิภาค เช่น 1 แทนภาคกลางตอนล่าง 2 แทนภาคตะวันออก เป็นต้น
๏ เลขหลักที่สองแทนจังหวัดในภูมิภาคนั้น จะมียกเว้นก็กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการที่ใช้เลข 0 เหมือนกัน
๏ หลักที่สามและสี่แทนท้องที่ (ซึ่งมักเป็นอำเภอ) ที่มีไปรษณีย์รับผิดชอบในการนำจดหมายไปส่งยังบ้าน
๏ หลักสุดท้ายคือรหัสของที่ทำการไปรษณีย์ในท้องที่นั้น ๆ
…………..
ตามคำอธิบายนี้ อาจสรุปได้ว่า คำว่า “รหัสไปรษณีย์” ในภาษาไทย เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ.2525
เมื่อเทียบกับคำว่า “บุรุษไปรษณีย์” จะเห็นได้ว่า เรารู้จักและใช้คำว่า “บุรุษไปรษณีย์” มาก่อนคำว่า “รหัสไปรษณีย์” นานทีเดียว
แต่เชื่อหรือไม่ คำว่า “รหัสไปรษณีย์” ซึ่งเกิดทีหลัง มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
แต่คำว่า “บุรุษไปรษณีย์” ซึ่งเกิดก่อนมานาน ยังไม่ได้เก็บไว้!
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อหํ รโห น ปสฺสามิ
สุญฺญํ วาปิ น วิชฺชติ
ยตฺถ สุญฺญํ น ปสฺสามิ
อสุญฺญํ โหติ ตํ มยา.
: ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ
หรือแม้ที่ว่างเปล่าก็ไม่มี
ที่ใดว่างเปล่า ข้าพเจ้าไม่เห็นใคร
ที่นั้นก็ไม่ว่างเปล่าจากข้าพเจ้า
ที่มา: สีลวีมังสชาดก จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 519
#บาลีวันละคำ (4,618)
2-2-68
…………………………….
…………………………….