บาลีวันละคำ

ยานนาวา (บาลีวันละคำ 4,616)

ยานนาวา

ขึ้นอยู่กับว่าจะไปไหน

อ่านว่า ยาน-นา-วา

ประกอบด้วยคำว่า ยาน + นาวา

(๑) “ยาน

บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ยา + ยุ > อน = ยาน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องไปสู่ที่ปรารถนา” หรือ “สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป” 

ยาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง –

(1) การไป, การดำเนินไป (going, proceeding) 

(2) ยาน, พาหนะ (carriage, vehicle)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ยาน ๑ : (คำนาม) เครื่องนำไป, พาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ, มักใช้เข้าคู่กับคำ พาหนะ เป็น ยานพาหนะ. (ป., ส.).”

(๒) “นาวา

อ่านว่า นา-วา รากศัพท์มาจาก 

(1) นุ (ธาตุ = ชมเชย, สรรเสริญ) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ นุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (อา-วะ) (นุ > โน > นาว) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: นุ + = นุณ > นุ > โน > นาว + อา = นาวา แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะอันผู้คนชมเชย” 

(2) นี (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อาว (อา-วะ) (นี > เน > นาว) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: นี + = นีณ > นี > เน > นาว + อา = นาวา แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะที่นำจากฝั่งไปสู่ฝั่ง” 

นาวา” ในบาลีเป็นคำที่เราคุ้นกันดี แปลว่า เรือ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “นาวา” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) นาวา ๑ : (คำนาม) ยศทหารเรือหรือทหารอากาศชั้นสัญญาบัตร สูงกว่าเรือเอกหรือเรืออากาศเอก ตํ่ากว่าพลเรือตรีหรือพลอากาศตรี.

(2) นาวา ๒ : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) เรือ เช่น นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร (กาพย์เห่เรือ). (ป.).

ยาน + นาวา = ยานนาวา (ยาน-นา-วา) เป็นคำนามทั่วไป แปลว่า “ยานพาหนะคือเรือ” หรือ “เรืออันเป็นยานพาหนะ

ขยายความ :

คำว่า “ยานนาวา” ที่เป็นชื่อเฉพาะที่คุ้นกัน น่าจะเป็นชื่อ “วัดยานนาวา”

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “วัดยานนาวา” (อ่านเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 เวลา 20:30 น.) กล่าวถึงวัดยานนาวาไว้ ขอยกมาโดยประสงค์ ดังนี้ –

…………..

วัดยานนาวา พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดคอกควาย” เนื่องจากมีชาวทวายมาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวทวายจะนำกระบือที่เลี้ยงไว้มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน หมู่บ้านบริเวณนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันต่อมาว่า “บ้านคอกควาย” ปัจจุบันมี พระธรรมวชิรโมลี (ทองสูรย์ สุริยโชโต) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส

ในสมัยกรุงธนบุรี วัดคอกควายได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เรียกชื่อใหม่ว่า “วัดคอกกระบือ” ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดคอกกระบือเป็น “วัดยานนาวา”

ด้านในมีพระบรมสารีริกธาตุให้สักการะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยานพาหนะช่วยพาไปให้ถึงเป้าหมายได้

: แต่เป้าหมายนั้นควรไปหรือไม่ควรไป ผู้ขับขี่ต้องตัดสินใจเอง

#บาลีวันละคำ (4,616)

31-1-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *