ภูมิภาคนิยม (บาลีวันละคำ 4,617)

ภูมิภาคนิยม
อย่าให้ถึงกับยกพวกถล่มกัน
อ่านตามหลักภาษาว่า พู-มิ-พา-คะ-นิ-ยม
อ่านตามสะดวกปากว่า พู-มิ-พาก-นิ-ยม
ประกอบด้วยคำว่า ภูมิภาค + นิยม
(๑) “ภูมิภาค”
บาลีอ่านว่า พู-มิ-พา-คะ ประกอบด้วยคำว่า ภูมิ + ภาค
(ก) “ภูมิ” บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย
: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก”
“ภูมิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน (ground, soil, earth)
(2) สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค (place, quarter, district, region)
(3) พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, plane, stage, level)
(4) สถานะของความรู้สึกตัว (state of consciousness)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ภูมิ” ไว้ 3 คำ บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ภูมิ ๑, ภูมิ– (อ่านว่า พูม, พู-มิ-, พูม-มิ-) : (คำนาม) แผ่นดิน, ที่ดิน.
(2) ภูมิ ๒ (อ่านว่า พูม) : (คำนาม) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ เช่น อวดภูมิ อมภูมิ.
(3) ภูมิ ๓ (อ่านว่า พูม) : (คำวิเศษณ์) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย, เช่น วางภูมิ.
(ข) “ภาค” บาลีอ่านว่า พา-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จำแนกผลดีหรือไม่ดีให้มากขึ้น”
(2) ภชฺ (ธาตุ = เสพ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลเสพ”
(3) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค
: ภาชฺ + ณ = ภาชณ > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออก”
“ภาค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ส่วน, ภาค, อนุภาค, ส่วนแบ่ง (part, portion, fraction, share)
(2) ส่วน (ของเงิน) ที่แบ่งให้, ค่าธรรมเนียม, ค่าจ้างรางวัล (apportioned share (of money), fee, remuneration)
(3) ส่วนของพื้นที่, สถานที่, ภูมิภาค (division of space, quarter, side, place, region)
(4) ส่วนของเวลา, เวลา (division of time, time)
ในที่นี้ “ภาค” ใช้ในความหมายว่า “ส่วนของพื้นที่” ตามข้อ (3)
ภูมิ + ภาค = ภูมิภาค แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนแห่งแผ่นดิน” หมาย ส่วนแห่งแผ่นดิน, แคว้น (division of the earth, district)
“ภูมิภาค” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภูมิภาค : (คำนาม) หัวเมือง; (คำที่ใช้ในภูมิศาสตร์) อาณาบริเวณที่มีลักษณะบางอย่างเช่นลักษณะทางธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม ทางการเมือง คล้ายคลึงกันจนสามารถจัดเข้าพวกกันได้ และแตกต่างกับบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ.”
(๒) “นิยม”
บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อ (อะ) ปัจจัย
: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + อ = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)
“นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)
(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)
(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)
ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิยม : (คำแบบ) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”
ภูมิภาค + นิยม = ภูมิภาคนิยม แปลแบบง่าย ๆ ว่า “ความนิยมภูมิภาค” เป็นชื่อลัทธิชนิดหนึ่ง หมายถึง ผู้คนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่มาจาก-หรืออยู่ในจังหวัดเดียวกันหรือภาคเดียวกัน เกิดความรู้สึก-หรือถือว่าเป็นพวกเดียวกัน และพวกตนต่างจากพวกอื่น ให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่นของตนมากเป็นพิเศษ
“ภูมิภาคนิยม” เป็นศัพท์ที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า Regionalism ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “ภูมิภาคนิยม” (อ่านเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 20:30 น.) มีคำอธิบาย (ซึ่งเข้าใจว่าแปลโดยอัตโนมัติจากภาษาอังกฤษ) ขอยกมาโดยประสงค์ ดังนี้ –
…………..
ภูมิภาคนิยม เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งเพิ่มอำนาจทางการเมือง อิทธิพล และการกำหนดชะตากรรมของตนเองของประชาชนในภูมิภาคย่อย หนึ่งภูมิภาคขึ้นไป โดยมุ่งเน้นที่ “การพัฒนาระบบการเมืองหรือสังคมที่ตั้งอยู่บนภูมิภาคหนึ่ง ภูมิภาคขึ้นไป” และ/หรือผลประโยชน์ระดับชาติเชิงบรรทัดฐาน หรือเศรษฐกิจของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง กลุ่มภูมิภาค หรือหน่วยงานย่อยอื่น การได้รับความแข็งแกร่งหรือมุ่งหวังที่จะเสริมสร้าง “จิตสำนึกและความภักดีต่อภูมิภาคที่มีประชากรเป็นเนื้อเดียวกัน” ในลักษณะเดียวกับลัทธิชาตินิยม …
…………..
ท่านผู้ใดพบเห็นคำอธิบายที่ชัดเจนกว่านี้ ถ้าจะกรุณานำมาร่วมบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ารักวัฒนธรรมของตน
: ก็อย่าดูถูกวัฒนธรรมของผู้อื่น
#บาลีวันละคำ (4,617)
1-2-68
…………………………….
…………………………….