บาลีวันละคำ

กสิณ (บาลีวันละคำ 4,387)

กสิณ

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

ภาษาไทยอ่านว่า กะ-สิน

ภาษาบาลีอ่านว่า กะ-สิ-นะ

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีศัพท์ว่า “กสิณ” แสดงรากศัพท์ว่า กสฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิณ ปัจจัย

: กสฺ + อิณ = กสิณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปทั่ว” (คือมีทั่วไป)

และบอกความหมายว่า ทั่วไป, ทั้งหมด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เก็บศัพท์ว่า “กสิณ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) กสิณ1 entire, whole (ทั้งหมด, สิ้นเชิง)

(2) กสิณ2 one of the aids to kammaṭṭhāna the practice by means of which mystic meditation (bhāvanā, jhāna) may be attained. (เครื่องช่วยอย่างหนึ่งในการปฏิบัติกรรมฐาน คือการเจริญภาวนา ซึ่งอาจบรรลุถึงฌานได้)

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กสิณ” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

กสิณ : “ทั้งหมด”, “ทั้งสิ้น”, “ล้วน”, วัตถุที่เป็นอารมณ์อย่างเดียวล้วนในการเจริญกรรมฐาน เช่น ถ้าใช้ปฐวีคือดิน ก็เป็นปฐวีอย่างเดียวล้วน ไม่มีอย่างอื่นปน จึงเรียกว่า “ปฐวีกสิณ”, ตามที่เรียนกันบัดนี้ แปลกันว่า วัตถุอันจูงใจ คือ จูงใจให้เข้าไปผูกอยู่, เป็นชื่อของกรรมฐานที่ใช้วัตถุของล้วนหรือสีเดียวล้วนสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ มี ๑๐ อย่าง คือ ภูตกสิณ ๔: ๑. ปฐวี ดิน ๒. อาโป น้ำ ๓. เตโช ไฟ ๔. วาโย ลม; วรรณกสิณ ๔: ๕. นีลํ สีเขียว ๖. ปีตํ สีเหลือง ๗. โลหิตํ สีแดง ๘. โอทาตํ สีขาว; และ ๙. อาโลโก แสงสว่าง ๑๐. อากาโส ที่ว่าง 

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [315] กสิณ 10 บอกไว้ดังนี้ –

…………..

กสิณ 10 : (แปลตามรูปศัพท์ว่า “ทั้งหมด” หรือ “ล้วน”; วัตถุอันจูงใจ, วัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ — Kasiṇa: meditation devices)

ก. ภูตกสิณ 4 (กสิณคือมหาภูตรูป — Bhūta-kasiṇa: Element-Kasiõa)

1. ปฐวีกสิณ (กสิณคือดิน, กสิณที่ใช้ดินเป็นอารมณ์ — Paṭhavī~: the Earth Kasiṇa)

2. อาโปกสิณ (กสิณคือน้ำ — Āpo~: the Water Kasiṇa)

3. เตโชกสิณ (กสิณคือไฟ — Tejo~: the Fire Kasiṇa)

4. วาโยกสิณ (กสิณคือลม — Vāyo~: the Air Kasiṇa: Wind Kasiṇa)

ข. วรรณกสิณ 4 (กสิณคือสี — Vaṇṇa~: Colour Kasiṇa)

5. นีลกสิณ (กสิณคือสีเขียวคราม — Nīla~: the Blue Kasiṇa)

6. ปีตกสิณ (กสิณคือสีเหลือง — Pīta~: the Yellow Kasiṇa)

7. โลหิตกสิณ (กสิณคือสีแดง — Lohita~: the Red Kasiṇa)

8. โอทาตกสิณ (กสิณคือสีขาว — Odāta~: the White Kasiṇa)

ค. กสิณอื่น ๆ

9. อาโลกกสิณ (กสิณคือแสงสว่าง — Āloka~: the Light Kasiṇa)

10. อากาสกสิณ (กสิณคือที่ว่างเปล่า, ช่องว่าง — Ākāsa~: the Space Kasiṇa)

กสิณที่มาในบาลี เช่น องฺ.ทสก.24/25/48 (A.V.46) ไม่มี อาโลกกสิณ แต่มี วิญญาณกสิณ (กสิณคือวิญญาณ — Viññāṇa~: the Consciousness Kasiṇa) เป็นข้อที่ 10 และ อากาสกสิณ เป็นข้อที่ 9

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กสิณ : (คำนาม) สมถกรรมฐานหมวดหนึ่งที่กำหนดอารมณ์โดยอาศัยธาตุ ๔ คือ ปฐวี (ดิน) อาโป (นํ้า) เตโช (ไฟ) วาโย (ลม), วรรณะ (สี) ๔ คือ นีล (สีเขียวคราม) ปีต (สีเหลือง) โลหิต (สีแดง) โอทาต (สีขาว), อากาศ (ที่ว่าง) และ อาโลก (แสงสว่าง) รวมเป็น ๑๐ อย่าง โดยเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในการกำหนดอารมณ์ให้เหมาะกับจริตของผู้ที่จะเจริญกรรมฐาน. (ป.).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เคยมีคำปรามาสว่า “บาลีวันละคำก็แค่ลอกพจนานุกรม” 

น้อมรับว่าเป็นคำชมด้วยเมตตา

: หวังไว้เพียงที่ลอกมาคงมีคนอ่าน

ตัวพจนานุกรมที่มีกันทุกบ้านก็คงเคยเปิดดูเอง

#บาลีวันละคำ (4,387)

16-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *