บาลีวันละคำ

ตยาคี (บาลีวันละคำ 4,648)

ตยาคี

ภาษาอะไร แปลว่าอะไร

อ่านว่า ตะ-ยา-คี

ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไร ก็หาความรู้จากพจนานุกรมก่อน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ตยาคี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

ตยาคี : (คำนาม) ผู้บริจาค, วีรบุรุษ, นักพรต, เช่น พระศรีศรีสรศาสดา มีพระมหิมา นุภาพพ้นตยาคี (สมุทรโฆษ). (ส. ตฺยาคี; ป. จาคี).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ตยาคี” เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “จาคี” 

จาคี” รากศัพท์มาจาก จาค + ณี ปัจจัย 

(ก) “จาค” อ่านว่า จา-คะ รากศัพท์มาจาก จชฺ (ธาตุ = สละ, ละ, ทิ้ง) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (จชฺ > จาช), แปลง ชฺ เป็น  

: จชฺ + = จชณ > จช > จาช > จาค แปลตามศัพท์ว่า “การสละ

จาค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความหมายเฉพาะ: การทิ้ง, การสละ, การยอมให้ (abandoning, giving up, renunciation)

(2) ความหมายโดยนัย: 

– (เป็นคำนาม) ความมีใจกว้าง, ความเผื่อแผ่อารี, ความมีใจใหญ่ใจโต; (liberality, generosity, munificence) 

– (เป็นคุณศัพท์) เผื่อแผ่อารี, มีใจคอกว้างขวาง (generous, munificent)

บาลี “จาค” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “จาคะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จาคะ : (คำนาม) การสละ, การให้ปัน. (ป.; ส. ตฺยาค).”

บาลี “จาค” สันสกฤตเป็น “ตฺยาค” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ตฺยาค : (คำนาม) ‘ตยาค,’ ทาน, การให้หรือบริจาค; การสละ, การทิ้ง, การเริดร้าง, การจากไป, การพลัดพราก, ฯลฯ; gift, donation or giving; abandoning, leaving, deserting, parting from, separation, &c.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ตยาค” (อ่านว่า ตะ-ยาก) ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

ตยาค : (คำแบบ) (คำนาม) การสละ, การให้ปัน, เช่น อันมีใจตยาคนั้น (ม. คำหลวง กุมาร). (ส. ตฺยาค; ป. จาค).”

(ข) จาค + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี

: จาค + ณี > อี : จาค + อี = จาคี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สละ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “จาคี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

จาคี : (คำแบบ) (คำนาม) ผู้มีการเสียสละ, ผู้นิยมทำทาน. (ป.; ส. ตฺยาคินฺ).”

บาลี “จาคี” สันสกฤตเป็น “ตฺยาคินฺ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตฺยาคินฺ : (คำนาม) ‘ตยาคิน,’ ผู้ให้, ผู้บริจาค; วิกรานตบุรุษ, วีรบุรุษ, เชตฤ, ผู้แกว่นกล้า; ผู้สละ, ผู้ทิ้ง, ผู้ระงับ; นักพรตผู้สละเลากิกวิษัยหรือระงับใจและราคจริตแล้ว, ผู้เลี่ยงหลีกภวบาศและโมหบาศ; a hero; an abandoner, a deserter, a forsaker, one who gives up or renounces, an ascetic who abandons worldly objects or has refrained from cherishing worldly thoughts and passion, who shuns worldly ties and the snares of the world.”

บาลี “จาคี” สันสกฤต “ตฺยาคินฺ” ภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ตยาคี” 

ตยาคี” แปลว่าอะไร โปรดย้อนไปอ่านที่ยกมาแสดงไว้ข้างต้น

ขยายความ :

พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่างคำว่า “ตยาคี” ที่มีใช้ในภาษาไทยว่า “พระศรีศรีสรศาสดา มีพระมหิมา นุภาพพ้นตยาคี” บอกที่มาไว้ในวงเล็บว่า “(สมุทรโฆษ)” ซึ่งหมายถึง สมุทรโฆษคำฉันท์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

ขอยกคำอธิบายบางตอนในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ มาเสนอไว้ในที่นี้ เป็นการแนะนำวรรณคดีไทยเรื่องนี้ ดังนี้ –

…………..

คำอธิบาย

สมุทรโฆษคำฉันท์นี้ เป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญและมีประวัติการประพันธ์ที่ น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ด้วยปรากฏว่ามีกวีสำคัญของไทย ๓ ท่าน แต่งสืบต่อกัน เริ่มด้วยพระมหาราชครู สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งประวัติความเป็นมาของหนังสือนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ในคำนำ เมื่อพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ ว่า

“สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นหนังสือวรรณคดีชั้นเยี่ยมเรื่องหนึ่งในประเภทกวีนิพนธ์ของไทย มีประวัติการประพันธ์เป็นมหัศจรรย์และน่าสนใจ ยากที่จะหาประวัติการประพันธ์วรรณคดีไทยเรื่องใดเหมือน ทราบได้ตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในตอนท้ายเรื่องประกอบกับคำที่เล่ากันมา ปรากฏว่า กวีสำคัญของไทยถึง ๓ ท่านร่วมแต่ง …” 

เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ นับเป็นฉันท์เรื่องแรกที่นำมาบรรยายชาดกในทางพระพุทธศาสนา อันเป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ปางหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นนิยายเล่าสืบกันมาก่อนอย่างแพร่หลายแล้ว กวีนิพนธ์ทุกตอนมีความประณีตบรรจง มีอรรถรสไพเราะด้วยฉันท์และกาพย์ จบลงด้วยโคลงสี่สุภาพเป็นบทส่งท้ายเรื่อง สำนวนโวหารมีความกลมกลืนกันตลอดเรื่องเสมือนเป็นกวีคนเดียวกันแต่ง ด้วยเหตุนี้สมุทรโฆษคำฉันท์จึงได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทฉันท์ …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไทยแนะนำวรรณคดีไทยให้ไทยสนใจอ่าน

: ถ้าเห็นว่ารุ่มร่ามน่ารำคาญ ก็ต้องรอให้ฝรั่งมาแนะนำ

#บาลีวันละคำ (4,648)

4-3-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *