ธาตุนิธาน (บาลีวันละคำ 4,647)

ธาตุนิธาน
ทำอย่างไรใครเคยรู้บ้าง
อ่านว่า ทาด-ตุ-นิ-ทาน
ประกอบด้วยคำว่า ธาตุ + นิธาน
(๑) “ธาตุ”
บาลีอ่านว่า ทา-ตุ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย อีกนัยหนึ่งว่ามาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ธ– เป็น อา
: ธา + ตุ = ธาตุ
: ธรฺ + ตุ = ธรตุ > ธตุ > ธาตุ
“ธาตุ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “อวัยวะที่ทรงร่างไว้” หมายถึง กระดูก, อัฐิ
(2) (1) “สิ่งที่คงสภาพของตนไว้” (2) “สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งมูลค่า” (3) “สิ่งที่ทรงประโยชน์ของตนไว้บ้าง ของผู้อื่นไว้บ้าง” หมายถึง ธาตุ, แร่ธาตุ
(3) (1) “อักษรที่ทรงไว้ซึ่งเนื้อความพิเศษ” (2) “อักษรอันเหล่าบัณฑิตทรงจำกันไว้” หมายถึง รากศัพท์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ธาตุ” ไว้ดังนี้ –
(1) a primary element, of which the usual set comprises the four : earth, water, fire, wind (ปฐมธาตุ, คือธาตุซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม)
(2) natural condition, property, disposition; factor, item, principle, form (ภาวะตามธรรมชาติ, คุณสมบัติ, อุปนิสัย, ปัจจัย, หัวข้อ, หลัก, รูป)
(3) elements in sense-consciousness: referring to the 6 ajjhattikāni & 6 bāhirāni āyatanāni (ธาตุเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวถึงอายตนะภายใน 6 และภายนอกอีก 6)
(4) a humour or affection of the body (อารมณ์ หรืออาการของกาย)
(5) the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธาตุ” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่คุมกันเป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย โดยทั่ว ๆ ไปเชื่อว่ามี ๔ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ก็อาจมีธาตุอื่น ๆ อีก เช่น อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุเหล็ก.
(2) กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่ว ๆ ไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้า เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคำนั้น ๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ, ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศธาตุ.
(3) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาซึ่งว่าด้วยธาตุ เช่น ธาตุกถา ธาตุปาฐ.
(4) (ภาษาถิ่น-อีสาน) เจดีย์ที่บรรจุกระดูกคนที่เผาแล้ว.
(5) สารเนื้อเดียวล้วนซึ่งประกอบด้วยบรรดาอะตอมที่มีโปรตอนจำนวนเดียวกันในนิวเคลียส.
(6) รากศัพท์ของคำบาลีสันสกฤตเป็นต้น เช่น ธาตุ มาจาก ธา ธาตุ สาวก มาจาก สุ ธาตุ กริยา มาจาก กฺฤ ธาตุ.
ในที่นี้ “ธาตุ” มีความหมายตามข้อ (5) ในภาษาบาลี และตามข้อ (2) ในภาษาไทย
(๒) “นิธาน”
บาลีอ่านว่า นิ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: นิ + ธา = นิธา + ยุ > อน = นิธาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาตั้งไว้” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “นิธาน” ว่า ขุมทรัพย์, หลักฐาน, ที่ตั้ง, การบรรจุ, การเก็บ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิธาน” ว่า laying down, depositing, keeping; receptacle; accumulation, [hidden] treasure (การวางลง, การฝากไว้, การเก็บไว้; ที่เก็บ; การสะสม, ทรัพย์สมบัติ [ที่ซ่อนไว้])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิธาน : (คำแบบ) (คำนาม) การฝังไว้, การบรรจุไว้; ที่ฝัง, ที่บรรจุ. (ป.).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
ธาตุ + นิธาน = ธาตุนิธาน (ทา-ตุ-นิ-ทา-นะ) แปลว่า “การฝังพระธาตุ” หรือ “การบรรจุพระธาตุ”
“ธาตุนิธาน” ในภาษาไทยใช้คงรูปตามบาลี แต่อ่านว่า ทาด-ตุ-นิ-ทาน
คำว่า “ธาตุนิธาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
“ธาตุนิธาน” การบรรจุพระธาตุ ทำอย่างไร ขอยกข้อความจากคัมภีร์ปฐมสมโพธิ สำนวนพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ (ปรับอักขรวิธีและวรรคตอนเพื่อให้อ่านง่าย) –
…………..
… และขุดในที่นั้นโดยลึกถึง ๘๐ ศอก พื้นภายในลาดด้วยแผ่นทองแดงเต็มที่ทั้งสิ้น แล้วให้กระทำเป็นเรือนแล้วไปด้วยทองแดงใหญ่ประมาณเท่าเรือนพระเจดีย์ฐาน แล้วให้กระทำซึ่งกล่องและพระสถูปแล้วด้วยวัตถุทั้งหลายต่าง ๆ มีแก่นจันท์เหลืองเป็นต้นสิ่งละ ๘ ๆ มีสัณฐานเป็นชั้น ๆ โดยลำดับ
จึงเชิญพระบรมธาตุทั้งหลายใส่ลงในกล่องจันทน์เหลืองซึ่งเป็นที่สุดนั้น แล้วใส่ลงในกล่องจันทน์เหลืองอันอื่นอีกเล่า
แล้วซ้อนใส่ลงในกล่องจันทน์อันอื่นใหญ่ ๆ กว่ากันขึ้นไปเป็นลำดับทั้ง ๘ ชั้น
แล้วใส่พระสถูปจันทน์เหลืองซ้อนสวมกันลงในลำดับ ๆ ทั้ง ๘ ชั้นพระสถูป
จึงเอาพระสถูปจันทน์เหลืองซึ่งซ้อนสวมกันทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่ลงในกล่องจันทน์แดงอันซ้อนกันอีก ๘ ชั้นนั้นเล่า
แล้วเอากล่องจันทน์แดงทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่พระสถูปจันทน์แดงอันสวมซ้อนกันอีก ๘ ชั้นเล่า
แล้วเอาพระสถูปจันทน์แดงทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่ลงในกล่องงาอีก ๘ ชั้นเล่า
แล้วเอากล่องงาทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่พระสถูปงาทั้ง ๘ ชั้น
แล้วเอาพระสถูปงาทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่ลงในสถูปแก้วต่าง ๆ อีก ๘ ชั้นเล่า
แล้วเอากล่องแก้วทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่ลงในพระสถูปแก้วต่าง ๆ อีก ๘ ชั้นเล่า
แล้วเอาพระสถูปแก้วทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่ลงในกล่องทองอีก ๘ ชั้น
แล้วเอากล่องทองทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่ลงในพระสถูปทองอีก ๘ ขั้น
แล้วเอาพระสถูปทองทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่ลงในกล่องเงินอีก ๘ ชั้น
แล้วเอากล่องเงินทั้ง ๘ ชั้นนั้นใส่ลงในพระสถูปเงินอีก ๘ ชั้นเล่า
เอาพระสถูปเงินใส่ลงในกล่องแก้วมณี
เอากล่องแก้วมณีใส่ในพระสถูปแก้วมณี
เอาพระสถูปแก้วมณีใส่ลงในกล่องแก้วแดง
เอากล่องแก้วแดงใส่ในพระสถูปแก้วแดง
เอาพระสถูปแก้วแดงใส่ในกล่องแก้วลาย
เอากล่องแก้วลายใส่ในพระสถูปแก้วลาย
เอาพระสถูปแก้วลายใส่ในกล่องแก้วผลึก
เอากล่องแก้วผลึกใส่ในพระสถูปแก้วผลึก ล้วนสิ่งละ ๘ ชั้น ๆ ทั้งสิ้นด้วยกัน และพระสถูปแก้วผลึกซึ่งเป็นชั้นนอกที่สุดนั้นใหญ่ประมาณเท่าพระเจดีย์อันมีในถูปาราม
แล้วให้กระทำคฤหฐานแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการสวมลงเบื้องบนพระสถูปแก้วผลึกชั้นนอกนั้น
แล้วให้กระทำเรือนแล้วไปด้วยทองสวมลงบนเรือนแก้ว ๗ ประการ
กระทำเรือนแล้วไปด้วยเงินสวมลงบนเรือนทอง
แล้วเรื่อรายลงซึ่งทรายแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ
แล้วโปรยปรายลงซึ่งพรรณแห่งบุปผาชาติทั้งหลายต่าง ๆ อันเกิดในบกในน้ำทั้งสิ้นในที่ทั้งปวงโตยรอบ
แล้วให้กระทำรูปพระบรมโพธิสัตว์ทั้ง ๕๕๐ พระชาติ และรูปพระอสีติมหาเถระทั้ง ๘๐ พระองค์ รูปสมเด็จกรุงสุทโธทนะมหาราช และพระสิริมหามายาเทวี และรูปสหชาติทั้ง ๗ อันเกิดพร้อมพระมหาสัตว์ แต่ล้วนแล้วด้วยทองทั้งสิ้น
แล้วตั้งไว้ด้วยหม้อเงินหม้อทองอันเต็มไปด้วยน้ำสิ่งละห้าร้อยหม้อ
และปักไว้ซึ่งธงทองห้าร้อยคัน
และประทีปทองและประทีปเงินสิ่งละห้าร้อยประทีปเต็มด้วยน้ำมันหอม เอาผ้าทุกูลพัสตร์อันเป็นไส้ตามเพลิงบูชาพระบรมธาตุ …
ที่มา: ปฐมสมโพธิกถา มารพันธปริวัตต์ ปริจเฉทที่ 28 หน้า 423-424
…………..
โปรดสังเกตว่า วิธีบรรจุพระธาตุคือ ขุดพื้นลงไปบรรจุไว้ข้างล่างแล้วก่อสถูปเจดีย์ไว้ข้างบน ไม่ใช่ก่อสถูปเจดีย์แล้วเอาพระธาตุขึ้นไปบรรจุไว้ที่ส่วนบนของสถูปเจดีย์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่มีพระธาตุจะบรรจุก็ไม่เป็นไร
: บรรจุพระธรรมไว้ในหัวใจก็ประเสริฐพอ
#บาลีวันละคำ (4,647)
3-3-68
…………………………….
…………………………….