บาลีวันละคำ

กาลิก (บาลีวันละคำ 4,649)

กาลิก

บางอย่างขึ้นอยู่กับเวลา

อ่านว่า กา-ลิก

กาลิก” อ่านแบบคำบาลีว่า กา-ลิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก กาล + อิก ปัจจัย

(๑) “กาล

บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล

: กลฺ + = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

(๒) “อิก” ปัจจัย

อิก” อ่านว่า อิ-กะ ในทางไวยากรณ์บาลีจัดเป็น “ปัจจัย” ตัวหนึ่ง (โปรดระลึกถึงคำที่รู้กันว่า “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ปัจจัย” ไว้ว่า –

(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.

(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).

(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).

“ปัจจัย” ในภาษาบาลีมีความหมายข้อ (3) 

อิก” เป็นปัจจัยใน “ตัทธิต” คือคำที่ใช้ปัจจัยอันมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งแทนศัพท์ประกอบเข้าข้างท้ายศัพท์ เมื่อเห็นรูปปัจจัยที่อยู่ท้ายศัพท์ก็แปลเป็นศัพท์นั้น ๆ ตามที่หมายรู้กัน เช่นในที่นี้ “อิก” มีความหมายเท่ากับคำว่า “นิยุตฺต” ซึ่งแปลว่า “ประกอบ” (appointed to) เมื่อเห็น “อิก” อยู่ท้ายศัพท์ก็แปลว่า “ประกอบด้วย-”

อนึ่ง พึงทราบว่า รูป “อิก” ปัจจัยที่อยู่ท้ายศัพท์นั้น บางกรณีเป็น “ณิก” (นิ-กะ) ปัจจัยก็ได้ เพราะ “ณิก” เป็น “ปัจจัยเนื่องด้วย ” เมื่อลงแล้วลบ จึงเป็น “อิก” (ณิก > อิก) เหมือน “อิก” ปัจจัย

กาล + อิก = กาลิก (กา-ลิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยกาล” (คือขึ้นอยู่กับเวลา) หมายถึง เป็นของเวลา, ประกอบด้วยกาล, ทันเวลา, ชั่วกาล (belonging to time, in time)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กาลิก” อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ 

๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ 

๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต 

๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้งห้า 

๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริง ยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน).

…………..

กาลิก” ในภาษาไทยอ่านว่า กา-ลิก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กาลิก” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

กาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ตามเวลาที่กําหนดให้ มี ๓ อย่าง คือ ๑. ยาวกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ข้าวปลาอาหาร ๒. ยามกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่นํ้าอัฐบาน ๓. สัตตาหกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕. (ป.).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอก “กาลิก” ไว้ 3 อย่าง คือ ยาวกาลิก, ยามกาลิก, สัตตาหกาลิก ไม่มี “ยาวชีวิก” 

แถม :

คำบาลีที่มีคำว่า “กาลิก” คำหนึ่งคือ “อกาลิก” ( > + กาลิก) แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ประกอบด้วยกาล” รูปคำที่เราน่าจะคุ้นก็คือ “อกาลิโก

อกาลิโก” เป็นคุณนามบทที่ 3 ของพระธรรม มีความหมายว่า พระธรรมให้ผลไม่จำกัดด้วยกาลเวลา

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 276-277 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่พระธรรมได้นามว่า “อกาลิโก” ไว้ดังนี้ –

…………..

อตฺตโน  ผลทานํ  สนฺธาย  นาสฺส  กาโลติ  อกาโล  ฯ

พระธรรมนั้น เมื่อว่าถึงการให้ผล หามีกาลไม่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อกาโล (อกาโล = “ไม่มีกาล” คือไม่ต้องรอเวลาให้ผล)

อกาโลเยว  อกาลิโก  ฯ

คำว่า “อกาโล” นั่นเองเปลี่ยนรูปเป็น “อกาลิโก” 

น  ปญฺจาหสตฺตาหาทิเภทํ  กาลํ  เขเปตฺวา  ผลํ  ททาติ  อตฺตโน  ปน  ปวตฺติสมนฺตรเมว  ผลํ  เทตีติ  วุตฺตํ  โหติ  ฯ

อธิบายว่า ธรรมนั้นไม่ต้องรอกาลเวลาให้ผล เช่นกำหนดว่า 5 วัน หรือ 7 วัน แต่ย่อมให้ผลติดต่อกันไปกับการปฏิบัติธรรมนั้นทีเดียว (เมื่อปฏิบัติธรรมจนถึงระดับที่จะบรรลุมรรคผล ก็บรรลุทันที ไม่ใช่ปฏิบัติเสร็จแล้ว ต้องรอไปอีก 5 วัน 7 วันจึงจะบรรลุ)

อถวา  อตฺตโน  ผลปฺปทาเน  ปกฏฺโฐ  กาโล  ปตฺโต  อสฺสาติ  กาลิโก  ฯ

นัยหนึ่ง ธรรมบางระดับ เมื่อจะให้ผล ต้องรอเวลา ธรรมระดับนั้นชื่อว่า กาลิกะ (เช่นทำกรรมในชาตินี้ แต่ให้ผลชาติหน้า)

โก  โส  ฯ

ถามว่า ธรรมระดับไหน

โลกิโย  กุสลธมฺโม  ฯ

ตอบว่า คือ กุศลธรรมระดับที่เป็นโลกิยะ

อยํ  ปน  สมนนฺตรผลตฺตา  น  กาลิโกติ  อกาลิโก  ฯ

ส่วนธรรมระดับโลกุตระนี้มิใช่กาลิกะ (กาลิกะ หมายความว่า ต้องรอเวลาให้ผล) เพราะมีผลต่อเนื่องทันที เหตุนั้นจึงชื่อว่า อกาลิกะ 

อิทํ  มคฺคเมว  สนฺธาย  วุตฺตํ  ฯ

คำว่า อกาลิโก นี้ ตรัสหมายถึงมรรคเท่านั้น 

(คือหมายถึง “มรรค” อันเป็นโลกุตรธรรมคู่กับ “ผล” ที่เราพูดว่า บรรลุมรรคผล กล่าวคือ เมื่อปฏิบัติธรรมจนบรรลุ “มรรค” แล้ว มรรคนั่นเองจะส่งต่อไปยัง “ผล” ทันที ไม่มีกาลเวลามาคั่น ไม่ใช่ว่าบรรลุมรรคแล้วรอไปอีกพักหนึ่งจึงบรรลุผล หากแต่บรรลุมรรคแล้วก็บรรลุผลติดต่อกันไปทันที “มรรค” จึงเป็น “อกาลิโก” คือไม่มีเวลาหรือช่องว่างที่จะต้องรอ “ผล” ดังนี้แหละท่านจึงว่า คำว่า “อกาลิโก” หมายถึงมรรคเท่านั้น)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อกาลิโก” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

อกาลิโก : (พระธรรม) ไม่ประกอบด้วยกาล, ให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยกาล ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ไม่เหมือนผลไม้ที่ให้ผลตามฤดู, อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นจริงอยู่อย่างไร ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป (ข้อ ๓ ในธรรมคุณ ๖)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเร่งธรรม

: แต่จงเร่งทำ

#บาลีวันละคำ (4,649)

5-3-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *