บาลีวันละคำ

ปิตฺตํ (บาลีวันละคำ 2,040)

ปิตฺตํ = ดี, น้ำดี

ลำดับ 20 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า ปิด-ตัง

ปิตฺตํ” รูปคำเดิมเป็น “ปิตฺต” (ปิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก อปิ (คำอุปสรรค = ปราศจาก, หลีก) + ธา (ธาตุ = ปกปิด) + ปัจจัย, ลบ หน้า –ปิ (อปิ > ปิ) และ อา ที่ ธา แล้วแปลง ธฺ เป็น ตฺ (ธา > ธฺ > ตฺ)

: อปิ + ธา = อปิธา + = อปิธาต > ปิธาต > ปิธต > ปิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ธาตุน้ำที่ปกปิดโรคไว้

ปิตฺต” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ดี, น้ำดี (the bile, gall); (ก) น้ำดีในฐานเป็นแหล่งของอารมณ์ร้าย, ความตื่นเต้นหรือความโกรธ (the bile also as seat of the bilious temperament, excitement or anger) (ข) ดี ในฐานเป็นอวัยวะและในฐานเป็นของเหลว (bile as organ & bile as fluid)

(2) ความพองหรือบวม, ความโป่งขึ้น (swelling, a gathering)

ปิตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปิตฺตํ

ปิตฺตํ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปิตตะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ปิตตะ : (คำนาม) นํ้าดี, นํ้าจากต่อมตับ. (ป. ปิตฺต).”

คำว่า “ดี” ตามความหมายนี้ พจนานุกรมฯ อธิบายไว้ดังนี้ –

ดี ๑ : (คำนาม) อวัยวะภายในของคนและสัตว์ที่บรรจุนํ้าข้นสีเขียว มีรสขม ซึ่งออกจากตับ สําหรับช่วยย่อยอาหาร, เรียกนํ้าข้นสีเขียว มีรสขม ออกจากตับ สําหรับช่วยย่อยอาหาร ว่า นํ้าดี.”

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “ปิตฺตํ” ไว้ดังนี้ –

ปิตฺตนฺติ  เทฺว  ปิตฺตานิ  พทฺธปิตฺตญฺจ  อพทฺธปิตฺตญฺจ.

คำว่า “ปิตฺตํ” น้ำดี ท่านว่า มี 2 ชนิด คือ “พัทธปิตตะ” ดีติดที่ (มีที่อยู่เฉพาะแห่ง) อย่างหนึ่ง “อพัทธปิตตะ” ดีไม่ติดที่ (อยู่ตามอวัยวะทั่วไป) อย่างหนึ่ง

ตตฺถ  พทฺธปิตฺตํ  วณฺณโต  พหลมธุกเตลวณฺณํ 

ดีติดที่ มีสีเขียวดังน้ำมันมะซางข้นๆ

อพทฺธปิตฺตํ มิลาตพกุลปุปฺผวณฺณํ.

ดีไม่ติดที่ มีสีเหลืองหม่นดังดอกพิกุลแห้ง

สณฺฐานโต  อุภยมฺปิ  โอกาสสณฺฐานํ.

ดีทั้ง 2 ชนิดนั้นมีรูปทรงสัณฐานตามรูปทรงอวัยวะที่มันเข้าไปอยู่

โอกาสโต  อพทฺธปิตฺตํ  ฐเปตฺวา  เกสโลมทนฺตนขานํ  มํสวินิมุตฺตฏฺฐานญฺเจว  ถทฺธสุกฺกจมฺมญฺจ  อุทกมิว  เตลพินฺทุ  อวเสสสรีรํ  พฺยาเปตฺวา  ฐิตํ 

ดีไม่ติดที่ เอิบอาบอยู่ทั่วร่างกาย ยกเว้นส่วนที่ไม่มีเนื้อหนัง คือ เส้นผม ขน ฟัน เล็บ และหนังที่ด้าน อาการที่ดีชนิดนี้อาบเข้าไปอยู่ก็คล้ายกับหยาดน้ำมันที่ตกลงไปบนน้ำอาบแผ่ไปทั่วผิวน้ำกระนั้น

ยมฺหิ  กุปิเต  สตฺตานํ  อกฺขีนิ  ปีตกานิ  โหนฺติ  ภมนฺติ  คตฺตํ  กมฺปติ  กณฺฑายติ.

ดีไม่ติดที่นั้นเมื่อกำเริบ (เป็นโรคดีซ่าน) ดวงตาของสัตว์ทั้งหลายจะเหลืองวิงเวียนไป ตัวก็จะอักเสบเป็นผื่นคัน

พทฺธปิตฺตํ  หทยปปฺผาสานํ  อนฺตเร  ยกนมํสํ  นิสฺสาย  ปติฏฺฐิเต  มหาโกสาตกีโกสกสทิเส  ปิตฺตโกสเก  ฐิตํ 

ดีติดที่ ขังอยู่ในถุงน้ำดีซึ่งคล้ายกับรังบวบใหญ่ อยู่ติดเนื้อตับระหว่างหัวใจกับปอด

ยมฺหิ  กุปิเต  สตฺตา  อุมฺมตฺตกา  โหนฺติ  วิปลฺลตฺถจิตฺตา  หิโรตฺตปฺปํ  ฉฑฺเฑตฺวา  อกาตพฺพํ  กโรนฺติ  อภาสิตพฺพํ  ภาสนฺติ  อจินฺติตพฺพํ  จินฺเตนฺติ.

ดีติดที่นั้นเมื่อกำเริบเป็นดีเดือด อาจทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง จิตจะฟั่นเฟือนไป ควบคุมตัวเองไม่ได้ ที่ไม่น่าทำก็ทำได้ ที่ไม่น่าพูดก็พูดได้ ที่ไม่น่าคิดก็คิดไปได้

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 43-44)

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “ปิตฺตํ” ไว้ดังนี้ –

๏ ปิตตังคือดี…….ดำอยู่มิดหมี……..ดุจดังถ่านไฟ

ครั้นสิ้นลมเข้า…..เปื่อยเน่าหายไป…อย่าได้สงสัย

ไม่เป็นแก่นสาร๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเราถ้าไม่มี “ดี” ก็เพียงแค่อาจไม่มีชีวิต

: แต่ถ้าไม่มี “ความดี” เพียงสักนิด แม้มีชีวิตก็ไม่ใช่คนดี

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,040)

12-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย