สรีรสังขาร (บาลีวันละคำ 1,093)
สรีรสังขาร
ภาษาสมัยใหม่
พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ในข่าวที่สื่อมวลชนรายงานมีคำว่า “สรีรสังขารของหลวงพ่อคูณ”
“สรีรสังขาร” (ควรสะกดอย่างนี้ ไม่ใช่ “สรีระสังขาร” เพราะบาลีสันสกฤตสมาสกันไม่ประวิสรรชนีย์กลางคำ) ประกอบด้วยคำว่า สรีร + สังขาร
(๑) “สรีร” (สะ-รี-ระ)
รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = เป็นไป, เบียดเบียน) + อีร ปัจจัย
: สรฺ + อีร = สรีร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ร่างที่เป็นไปตามปกติ” คือเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แตกสลายไปตามธรรมดา
(2) “ร่างที่เบียดเบียนลม” คือทำให้ลมผ่านไม่สะดวกเนื่องจากมาปะทะกับร่าง
“สรีร” ใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) ร่างกาย, โครงร่างของสิ่งใดๆ ที่เป็นวัตถุ (the body, the physical body)
(2) ร่างกายคนตาย, ซากศพ (a dead body, a corpse)
(3) กระดูก (the bones)
(4) ส่วนของร่างกายของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว (relics)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สรีร-, สรีระ : (คำนาม) ร่างกาย. (ป.; ส. ศรีร).”
(๒) “สังขาร”
บาลีเป็น “สงฺขาร” (สัง-ขา-ระ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง กรฺ เป็น ขรฺ, ยืดเสียง อะ ที่ ข-(ร) เป็น อา
: สํ > สงฺ + กรฺ = สงฺกร + ณ = สงฺกรณ > สงฺกร > สงฺขร > สงฺขาร แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะอันปัจจัยปรุงแต่ง”
สงฺขาร มีความหมาย 2 อย่าง คือ :
(1) สิ่งที่ถูกปรุงผสมขึ้นให้เห็นว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง แต่เมื่อแยกส่วนประกอบออกจากกันแล้ว “อะไรอย่างหนึ่ง” นั้นก็ไม่มี (compounded things; component things; conditioned things)
ความหมายนี้รวมไปถึง “ร่างกาย ตัวตน” (the physical body) ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ
(2) อาการที่จิตคิดปรุงแต่งไปต่างๆ หรือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ ให้เป็นไปต่างๆ (mental formations; volitional activities)
ความหมายนี้ก็คือ 1 ในองค์ประกอบ 5 อย่าง ที่รวมกันเข้าเป็นชีวิตคน ที่เรียกว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา “สังขาร” วิญญาณ
“สงฺขาร ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังขาร” (สัง-ขาน) และมักเข้าใจกันในความหมายว่า ร่างกาย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังขาร : (คำนาม) ร่างกาย, ตัวตน, สิ่งที่ประกอบและปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน, เช่น สังขารร่วงโรย สังขารไม่เที่ยง; ความคิด เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (ป.; ส. สํสฺการ). (คำกริยา) ตาย เช่น ถึงซึ่งสังขาร, ในบทกลอนใช้ว่า สังขาร์ ก็มี.”
สรีร + สงฺขาร = สรีรสงฺขาร > สรีรสังขาร (สะ-รี-ระ-สัง-ขาน)
ข้อควรเข้าใจ :
๑ ในบาลี “สรีร” หมายถึง ร่างกาย ส่วน “สงฺขาร” หมายถึง “สภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้น” ทั้งวัตถุและนามธรรม ไม่ได้หมายถึง “ร่างกาย” โดยตรง แต่อาจตีความให้หมายถึงร่ายกายได้
๒ ในภาษาไทย “สังขาร” มักเข้าใจกันว่า “ร่างกาย” ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ “สรีระ”
๓ ในบาลีมีคำว่า “สรีร” และมีคำว่า “สงฺขาร” แต่ยังไม่พบคำที่ใช้รวมกันเป็น “สรีรสงฺขาร”
๔ ในภาษาไทย ถ้าหมายถึง “ร่างกาย” พูดว่า “สรีระ” หรือ “สังขาร” คำใดคำหนึ่งก็ได้ความสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้คำควบกันเป็น “สรีรสังขาร”
๕ แม้ในภาษาไทยจะมีคำที่ใช้ซ้ำซ้อน เช่น ถนนหนทาง เสื่อสาดอาสนะ ข้าวปลาอาหาร ฯลฯ แต่ก็เป็นคำที่มักใช้ในแง่สำนวนภาษาหรือการเล่นคำสำนวน ไม่นิยมใช้ในการพูดหรือเขียนอย่างเป็นภาษาทางการเช่นในการรายงานข่าว
: มนุษย์เราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกร้อยเท่าพันเท่า
: ถ้าจิตใจกับร่างกายเน่าๆ ได้รับการเอาใจใส่เท่าเทียมกัน
—————–
(การบ้านส่งพระคุณท่าน พระมหารุ่ง ชูรัตน์ ปิยวาจก์กวี, บุญเสริม ชมชื่น และอีกหลายท่าน)
18-5-58